10 พ.ค. เวลา 09:43 • นิยาย เรื่องสั้น

“เมื่อเจ้าของค่ายลูกหมีขาวเมืองตรัง ควบม้าหนีทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก” ที่คนช่างเล่าเขียน

"เมื่อเจ้าของค่ายมวยลูกหมีขาว เมืองตรัง ควบม้าหนีทหารญี่ปุ่นสมัย สงครามโลก...ที่คนช่างเล่าเขียนเรื่องพ่อของฉัน
ในโลกนี้ จะมีใครสักคนไหมที่เขียนเรื่องพ่อของเราให้เราและทุกคนได้อ่าน ถ้ามี คนๆ นั้นจะต้องปรารถนาดีกับเรา ฉันคิดว่ามีคนหนึ่งที่ทำเช่นนั้น แม้ว่าปัจจุบันเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยมะเร็งร้ายได้คร่าชีวิตเขาไปเมื่อหลายปีก่อน คนนั้น ก็คือ “บล็อกเกอร์คนช่างเล่า” ชื่อจริงว่า นายนุกูล ปานชี อดีตนายไปรษณีย์ที่เกษียณแล้วขณะเป็นบล็อกเกอร์
เคยทำงานอยู่ที่ที่ทำการไปรษณีย์ ทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช และเกษียณในตำแหน่ง “หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์เสนานิคม” เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
ฉันจำได้ว่า คนช่างเล่าเคยเขียนถึงอาคารไปรษณีย์กลางและบอกความฝันของเขาคือ อยากให้ทำอาคารไปรษณีย์กลางเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งต่อมาหากคนช่างเล่ายังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะดีใจมากที่ปัจจุบัน อาคารไปรษณีย์กลางที่เขารักได้รับการอนุรักษ์และกลายเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการของไปรษณีย์ไทยแล้ว
ฉันรู้จักคนช่างเล่าจากการที่เราเป็นบล็อกเกอร์โอเคเนชั่น เมื่อฉันเขียนโพสต์เรื่องอะไรไป ก็จะมีคนช่างเล่าเข้ามาอ่านและคอมเมนต์ก่อนเพื่อนทุกครั้ง จากการอ่านเรื่องและคอมเมนต์ของเขาทำให้ฉันรู้จักคนช่างเล่าว่าเป็นคนใต้ คือเป็นชาวนครศรีธรรมราช และในงานเลี้ยงปีใหม่ปีหนึ่งของชาวบล็อกเกอร์โอเคเนชั่น ฉันก็ได้มีโอกาสได้รู้จักตัวจริงเสียงจริงของคนช่างเล่า เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดีงามและอัธยาศัยดีต่อทุกคน
เสื้อเหลือง คือ คนช่างเล่า (นายนุกูล ปานชี)
หน้งสือแจกในวันครบ ๑๐๐ วัน ชื่อ "ปู่เยื้อน ชีวิตนี้มีแต่ให้"
ในปี ๒๕๕๑ เมื่อพ่อของฉัน (นายเยื้อน ชุมศรี) เสียชีวิต ฉันได้จัดทำหนังสือเพื่อแจกในโอกาสครบร้อยวันของการจากไปของพ่อเยื้อน ชุมศรี หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ปู่เยื้อน ชีวิตนี้มีแต่ให้” และฉันได้มอบหนังสือให้คนช่างเล่าหนึ่งเล่มด้วย ในหนังสือเล่มนี้ ฉันได้รวบรวมเรื่องราวและภาพต่าง ๆ ของพ่อเยื้อน เมื่อคนช่างเล่าได้อ่านแล้ว ก็เขียนบล็อกเกี่ยวกับพ่อของฉันจากเรื่องราวที่ได้อ่านในหนังสือ และตั้งชื่อเรื่องว่า
“เมื่อเจ้าของค่ายลูกหมีขาวเมืองตรังควบม้าหนีทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก”
คนช่างเล่าเขียนได้อย่างสนุกตามสไตล์การเขียนของคนช่างเล่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อเยื้อนในสมัยเรียนหนังสือ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฉันอ่านเรื่องนี้ที่คนช่างเล่าเขียนถึงพ่อเยื้อนทีไร ทำให้คิดถึงพ่อและอมยิ้มเสมอ เมื่อส่งให้น้อง ๆ อ่าน ทุกคนก็ชอบเพราะเป็นเรื่องที่ทำให้คิดถึงพ่อ และเมื่อใครอ่านก็จะได้รู้จักพ่อเยื้อนด้วย
เรื่องที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ฉันนำเรื่องที่คนช่างเล่าเขียนเอาไว้ในบล็อกโอเคเนชั่นกลับมาเขียนใหม่อีกครั้ง โดยจะคงสำนวนต้นฉบับเดิมเอาไว้เหมือนที่คนช่างเล่าเขียนไว้...ดังนี้...
นำภาพ ครูฝึกให้พุฒ ล้อเหล็ก คนแรกมาให้ชม คุณเยื้อน ชุมศรี ขณะที่มีค่ายมวยอยู่นั้น รับราชการ อยู่ที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดอำเภอเมืองตรัง
เห็นภาพหล่อๆแบบนี้เป็นภาพหนุ่มเจ้าของค่ายมวย ลูกหมีขาวเมืองตรัง ที่พุฒ ล้อเหล็ก เคยเป็นศิษย์ และคนอื่นๆ เคยสร้างชื่อเสียงมาแล้ว ครับอย่าเข้าใจผิดว่าเจ้าของอ่างอาบน้ำทองคำนะครับ ท่านนี้เป็นอดีตปลัดเมืองตรัง ผมชอบรูปหน้าตาละม้ายคล้ายๆ น้าชูวิทย์ เจ้าพ่ออ่างอาบน้ำจัง ฮา ๆ ๆ
พุฒ ล้อเหล็ก เกิดที่ตำบลบางด้วน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๙๕ พุฒ ล้อเหล็ก หัดมวยครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๕ ปี ที่ค่ายมวยปู่เยื้อนนี้แหละครับ พุฒตอนนี้น่าจะอายุ ๕๘ ปีแล้ว (อายุขณะที่คนช่างเล่าเขียนเรื่องนี้ใน ๒๕๕๓) พุฒอยู่ไหน ทราบด้วยว่าครูมวยคนแรก ท่านจากไปสู่ที่สุขคติแล้ว (ปัจจุบัน ปี ๒๕๖๗ พุฒ ล้อเหล็กเสียชีวิตมาราวสามปีแล้ว)
บ้านห้องแถวไม้ เลขที่ ๙๙
บ้านเลขที่ ๙๙ หลังนี้ ที่เจ้าหญิง หรือ Chaoying ยืนชี้บอกหวยงวด ๑๖ ธ.ค. ๕๓ (ปีที่คนช่างเล่าเขียนเรื่องนี้) อาจจะออก ถ้าไม่ออกอย่าด่าก็แล้วกัน ขอ ฮา ๆ ๆ อีกครั้งเลขเบิ้ล ๆ แบบนี้อย่ามองข้าม หาซื้อไว้บ้างก็ดี อาจจะโชคดีรวยปลายปี ขอฮาๆ อีกรอบ ไม่รู้จะเขียนเรื่องคลายเครียดอะไร นำคนหน้าเหมือนคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ คนดังมาเขียน
ขณะที่มีลูกสาวสองคนนายเยื้อนฯ ยังต่อยมวย และเลี้ยงม้า ที่บริเวณบ้านหลังนี้
อดีตปลัดอำเภอเมืองตรัง อดีตนักเรียน ขี่ม้าหนีทหารญี่ปุ่น นำภาพขนาดใหญ่มาให้ชมครับ
นำภาพเท่ หล่อ ๆ ของหนุ่มเมืองตรัง ท่านชื่อ ปู่เยื้อน ชุมศรี มาให้ดูอีกภาพ ภาพในอดีตเป็นภาพที่มองกี่ครั้งก็คลาสสิคนะครับ
ภาพนี้ถ่ายที่ระเบียงหน้าที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ที่พ่อเยื้อนทำงาน
ภาพถ่ายขาวดำสมัยก่อนดูแล้วคลาสสิคมาก
ค่ายมวยลูกหมีขาวของปลัดอำเภอเยื้อนฯ เมืองตรัง ที่เป็นสถานที่สร้างชื่อให้นักมวยหลายๆ คน เรื่องราวการต่อสู้ชีวิต เพื่อหาเงินมาเสริมสร้างรายได้ให้ครอบครัวโดยไม่ต้องคดโกงกิน ปลัดเยื้อน ชุมศรี ทำมาก่อน ผมชื่นชมข้าราชการยุคก่อน ๆ ที่เกรงกลัวต่อบาป
พื้นที่ดินว่างๆ ข้างบ้านที่เช่า ตรงนี้ เคยเป็นสนามฝึกซ้อมมวยค่ายหมีขาวของนายเยื้อน ฯ
พื้นที่ว่างบริเวณนี้กว้างและยาว ส่วนหน้าทำเป็นที่ซ้อมมวยให้ลูกศิษย์
ภาพอดีตปลัดอำเภอ เมืองศรีตรัง บ้านนายหัวชวน หลีกภัย ปู่เยื้อนและย่ายิ้นคู่ชีวิตของท่านที่คอยหุงหาอาหารให้ศิษย์ในค่ายมวยรับประทาน เป็นนักบุญ นักสังคมสงเคราะห์ ป. ๔
แม้วันพ่อผ่านพ้นไปแล้ว แต่ในใจเรา คำว่าพ่ออยู่กับตัวเราเสมอ วันไหนที่พ่อออกไปนอกบ้าน ไปทำงาน ไปค้างคืนที่อื่น ค่ำคืนนั้นที่บ้านเราเหมือนขาดความเชื่อมั่น ขาดคนปกป้องภัยผู้ร้าย พ่อจึงเปรียบเสมือนกำแพงป้องกันภัยให้ลูก ๆ พ่อเราถึงจะยากดีมีจน หน้าที่การงานไม่สูงส่ง เงินที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเพื่อลูกนั้นยิ่งใหญ่สำหรับลูก ๆ ความภาคภูมิใจของลูกหลานที่ได้รับทราบเรื่องราวของพ่อ
ผมอ่านหนังสือ ๑๐๐ วันแห่งการจากไปของโป (ปู่) เยื้อน ชุมศรี ชีวิตนี้มีแต่ให้ คุณพ่อน้องบล็อกเกอร์ท่านหนึ่ง แล้วอยากเขียนถึงพ่อหลังวันพ่อ อีกครั้ง
แต่คุณพ่อของแผ่นดินของเราที่ถูกคนไม่รู้จักหวัน (หวัน คือ ที่สูง หรือ สวรรค์) หรือคนจัญหวันกระทำคุณพ่อของเรา ท่านให้สิ่งดี ๆ เรามา พ่อเราท่านมุ่งมั่งหวังดีต่อลูก ๆ เสมอ ข่าวคราวพวกไข่ทิ้ง พวกบกพร่องทางอารมณ์นั้น ที่ไปกองลูก ๆ ไว้ที่วัดไผ่เงิน ฟังแล้วมันวิกฤตทางสังคมมาก ความเสื่อมทรามของสังคม
ผมเป็นคนชอบสืบค้นประวัติศาสตร์ ประวัติเรื่องราวต่างๆ จะแฝงอยู่กับตัวบุคคลเสมอ ๆ เรื่องคำบอกเล่า ถ้าไม่จดบันทึกไว้จะหายไป คุณเปรียม วรตันติ เพื่อนร่วมรุ่นปู่ พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๘๙ บันทึกเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม “พ่อผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องราวในอดีตทหารญี่ปุ่นบุกหัวเมืองปักษ์ใต้” เมื่อผมอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์ในหนังสือครบรอบ ๑๐๐ วันแห่งการจากไปของปู่หรือคนปักษ์ใต้เรียกว่า “โป”แล้ว อยากนำมาเล่าในเอ็นทรีนี้
เพื่อใครมาอ่านจะได้ทราบเรื่องสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้เมื่อคราวปู่เยื้อน ชุมศรี เรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ที่จังหวัดตรัง หัวเมืองฝั่งทะเลอันดามัน
เพื่อนร่วมรุ่นกับปู่เยื้อน “เปรียม วรตันติ” เขียนไว้ว่า ทหารญี่ปุ่น ตัวเตี้ย ๆ แต่งกายทหารสวมหมวกเหล็ก ถือปืนยาว หัวหน้ามีดาวเหลือง ๆ บนบ่า พกปืนสั้น เป็นคนตัวเตี้ย จึงถูกคนไทยเวลานั้นเรียก “ไอ้เตี้ย” มายืนเป็นแถว ๆ สองริมทางรถไฟ ขนข้าวของกันเพื่อยึดพื้นที่
ครูให้ยุวชนทหาร คอยสังเกตความเคลื่อนไหว แล้วไปบอกเล่าให้ครูฟัง เล่าถึงตรงนี้ ผมวิเคราะห์ว่า นักเรียนตัวน้อย ๆ เป็นจารชนได้ ทหารญี่ปุ่นบุกไทยเวลานั้นเพื่อเป็นทางผ่าน เป็นมิตรกับชาวบ้าน ทหารฝึกให้คนไทยขี่ม้า เวลานั้นม้าบ้านเราตัวเล็ก ๆ เรียก ม้าแกลบ มีในเมืองไทยตามบ้านนอกที่ชาวบ้านขี่กัน ม้าเทศตัวโต ๆ จึงเป็นของแปลกสำหรับคนไทย ม้าของไทยเป็นม้าแกลบที่ชาวบ้านใช้ขี่เดินทาง แต่ม้าทหารญี่ปุ่นเป็นม้าตัวใหญ่ ๆ หรือ ม้าเทศที่ทหารนำเข้ามาใช้ลาดตระเวน น่าสงสัยว่าญี่ปุ่นยกพลม้ามาได้อย่างไร
มิตรภาพของทหารญี่ปุ่นกับครอบครัวน้องบล็อกเกอร์ Chaoying นั้น เป็นมิตรกันมายาวนาน ยาวจนลูกสาวปู่บินไปเยี่ยมทหารที่แดนอาทิตย์อุทัย ผมยุให้เธอเขียนเรื่องเอ็นทรีใหม่ ๆ จนป่านนี้ยังไม่เขียนเลย แล้วมาแก้ตัวว่ารูปภาพหายไปกับไอ้ไวรัสเสียแล้ว
เรื่องราวทหารญี่ปุ่นกับครอบครัวของเธอ ลุงทหารญี่ปุ่นเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีอยู่ว่า
ปู่เยื้อนเลี้ยงม้า ขี่ม้าไปโรงเรียน ลองย้อนดูอดีตคงเท่ไม่เบานะปู่เยื้อน ถ้ารักสาว จีบสาว นั่งขี่จักรยานเป็นสาวบ้านแต้ มันไม่แปลก ผมยังนึกไม่ออกว่า ปู่เยื้อนฯ จะจีบสาวพาซ้อนท้ายบนหลังม้าแกลบได้อย่างไร ม้าที่ปู่ขี่ก็ดันเป็นม้าแกลบตัวเมียเสียอีก สัญชาตญาณของสัตว์ที่คนเคยเลี้ยงม้า คนเลี้ยงจะเข้าใจ เด็ก ๆ รุ่นนั้นกลัวม้าเทศตัวใหญ่ของทหารญี่ปุ่นกัน แต่ด้วยสัญชาตญาณที่เป็นคนเคยเลี้ยงม้า ปู่เยื้อนฯ จึงไม่กลัวม้า ปู่เยื้อนฯ เคยเล่าให้ลูก ๆ ฟัง เป็นเกร็ดความรู้สนุกๆ ว่า...
ปู่ขี่ม้าสะพายเป้ใส่หนังสือเดินทางไปโรงเรียนทุก ๆ วัน วันหนึ่งปู่เดินทางไปพบทหารญี่ปุ่นขี่ม้าลาดตระเวนตรวจตราอะไรอยู่ ทหารแสดงท่าทางให้นักเรียนเยื้อนหยุด แต่นักเรียนคนนั้นอาจจะไม่เข้าใจภาษา จึงควบม้าไปตามปกติ เพราะเสน่ห์ม้าแกลบตัวเมียของปู่สงกลิ่นเสน่หารุนแรง เจ้าม้าเทศทหารวิ่งตามด้วยความสนใจ นักเรียนเยื้อนฯ บังคับให้ม้าสับบาท (ควบช้าๆ) และเร็วขึ้น ๆ หนังสือในเป้กระจุยกระจายไปตลอดทาง
นักเรียนกลัวทหารญี่ปุ่นไล่ทำร้าย วิ่งไปนานเข้าเมื่อไล่ทัน เจ้าม้าญี่ปุ่นดันไปจูบก้นม้าปู่เยื้อนฯ จูบถี่ ๆ แล้วเหินจมูกขึ้นฟ้า ทหารญี่ปุ่นกับนักเรียนเยื้อนฯ ได้หัวเราะฮาๆ กันสนุก เหตุที่ม้าญี่ปุ่นควบเร่งฝีเท้าตามนั้น เพราะเสน่ห์ก้นม้าแกลบนั่นเอง
เกร็ดเล่าสนุก ๆ ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกแง่มุมหนึ่ง ผมขออนุญาตนำมาเล่า...การศึกษานักเรียนหลักสูตรการสอนในอดีตนั้น ระบบการศึกษาแตกต่างกันกับวันนี้ ทุกๆ คนจะต้องสอบผ่านเลื่อนชั้นหรือจบการศึกษาได้ จะต้องสอบผ่านได้อย่างต่ำ ต้อง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่นักเรียนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น สอบได้แค่ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสอบผ่าน เพราะกระทรวงศึกษาถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤต เมื่อจบการศึกษาก็แยกย้ายกันไป
อาจารย์เปรียม วรตันติ อดีตผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช เขียนเล่าไว้ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องเล่าที่มีสาระบ้าง จึงนำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง เรื่องเก่า ๆ เล่าใหม่ แต่งเติมบ้าง เขียนพาดพิงผิดพลาดประการใด กระผมคนช่างจ้อ (สำนวนคุณนายหวี) ช่างเล่ากราบขออภัย และรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เนื้อาหที่มีส่วนส่งเสริมให้ความรู้ดี ๆ กระผมขออุทิศให้พ่อโปหรือปู่เยื้อนฯ ให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุขคติ สถิตอยู่ในสัมปรายภพเทอญ.
เด็กหญิงตัวน้อย ๆ ลูกสาวเจ้าของค่ายมวยลูกหมีขาว คือ BG. Chaoying  บล็อกเกอร์เมืองตรัง
หนังสืออ้างอิงรำลึกร้อยวัน ปู่เยื้อน ชุมศรี ขอบคุณน้องตุ๊ก เจ้าของนามปากกา Chaoying เป็นผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้
เมื่อฝรั่งชาวอเมริกันไปเยี่ยมบ้าน เลยชักภาพไว้เป็นที่ระลึก ปู่เยื้อน ชุมศรี มาดฝรั่ง
Mr. Donald Camenisch ชาวอเมริกัน
ทุกครั้งที่คิดถึงพ่อ ฉันจะอ่านเรื่องของพ่อที่คนช่างเล่าเขียนไว้อย่างมีความสุข หากคนช่างเล่ารับรู้ได้ด้วยญาณวิถีอันใด ฉันอยากจะขอบพระคุณพี่นุ (นายนุกูล ปานชี) หรือคนช่างเล่า ที่ได้กรุณาเขียนเรื่องของพ่อไว้ในวันนั้น และอยากให้รู้ว่าเรื่องที่คนช่างเล่าเขียนมีคุณค่าทางจิตใจต่อฉันและน้อง ๆ ซึ่งน้องบอกว่าได้ก็อปปี้เก็บเอาไว้อ่านเมื่่อคิดถึงพ่อเช่นกัน
โดยเจ้าหญิง
โฆษณา