11 พ.ค. เวลา 02:16 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

ทางรถไฟที่ถูกสร้างแยกไปในป่าเขา ทางเหล่านั้นถูกสร้างสำหรับใช้ซ่อนสมบัติทหารญี่ปุ่น จริงหรือไม่?

ทางรถไฟที่แยกไปในป่าภูเขาถูกสร้างไว้ซ่อนสมบัติทหารญี่ปุ่นจริงหรือไม่
ความเข้าใจผิดอีกเรื่อง ที่คนหลายคนมักเข้าใจผิด โดยเฉพาะคนในอยู่อาศัยในในพื้นที่ที่รถไฟพาดผ่าน
นั่นก็คือเรื่องทางรถไฟที่แยกออกจากทางหลักแล้วหายเข้าไปในป่า มันจะต้องเป็นทางรถไฟที่ทหารญี่ปุ่นเอาขบวนรถไฟขนทรัพย์สมบัติแล้วเอาเข้าไปซ่อน ไม่ว่าจะในอุโมงค์ ใต้ดิน หรืออะไรก็แล้วแต่ตามความเชื่อของแต่ละคน
จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะพบว่าหากจุดใดที่พบทางรถไฟหลักและมีทางแยกออกไปแล้วหายเข้าไปในป่าหรือภูเขา
ชาวบ้านก็จะมีความเชื่อที่ว่าทหารญี่ปุ่นต้องการนำเอาสมบัติไปซ่อนไว้ในป่าหรือภูเขาเหล่านั้นอย่างแน่นอน
เอาตรงๆผมเองไม่เชื่อเรื่องสมบัติ แต่ก็ไม่อยากไปดับฝันและความเชื่อของใครหลายคน
แต่เรื่องที่จะนำมาบอกเล่านี้ผมมองว่ามีประโยชน์ เสริมความรู้ที่ถูกต้องของเรื่องราวทางรถไฟที่หายเข้าไปในภูเขาหรือป่า
ปรกติทางรถไฟที่ใช้ในช่วงสงครามจะเป็นรางเดียวครับ หากถึงจุดที่ต้องมีรางหลีกหรือสถานีเล็กๆ ก็จะจัดให้มีรางหลีก เอาไว้ให้ขบวนรถไฟจอดหลบหลีกทางกัน
แต่หากเป็นสถานีใหญ่ก็จะมีรางจำนวนมากมาย หลากหลายหน้าที่
เช่น
1.รางสำหรับใช้กลับหัวรถจักร หรือสามเหลี่ยมกลับหัวรถจักร
2.รางแยกไปยังโรงซ่อม
3.รางแยกออกไปรับน้ำ
4.รางแยกออกไปเพื่อขนหินโรยทางรถไฟ
5. รางแยกสำหรับหลบภัยทางอากาศ คือสิ่งที่เราจะมาคุยกันในวันนี้คือ
ปรกติแล้วในยามศึกสงครามนอกจากตัวสถานี สะพานทางรถไฟ หรือแม้กระทั้งตัวรางรถไฟเองมีความสำคัญ
แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั้นก็คือ หัวรถจักรไอน้ำก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดูแลรักษา
มาตรการการป้องกันภัยทางอากาศบนทางรถไฟก็มีหลายมาตรการ
เช่น
1.การจัดให้มีฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานในพื้นที่ที่สำคัญ อย่าง ท่ามะขาม หนองปลาดุก มีภาพถ่ายทางอากาศที่ระบุตำแหน่งของฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
2.การเอาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และปืนกลสำหรับต่อสู้อากาศยานขึ้นไปบนขบวนรถไฟด้วย เพื่อใช้ยิงต่อสู้กับเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร
3.การทำบังเกอร์หรือทำการพรางจุดจอดหัวรถจักร
โดยบางแห่งมีการสร้างคันดินสูงขึ้นสองข้างระหว่างทางรถไฟ
หากเกิดการโจมตีทางอากาศ ทหารญี่ปุ่นจะนำเอาหัวรถจักรเขาไปจอดตรงบริเวณที่ทำคันดินป้องกันครับ
บางแห่งก็เป็นเพียงทำโครงไม้ขึ้นทำตะข่ายพราง เอาไว้อำพรางจากเครื่องบินตรวจการของฝ่ายสัมพันธมิตร การพรางก็ถือเป็นมาตรการในการรักษาป้องกันหัวรถจักรจากการโจมตีทางอากาศ
และมาตรการสุดท้ายที่เป็นหัวเรื่องของเราในวันนี้คือการสร้างทางรถไฟแยกออกจากทางหลักออกไปไกลๆ สำหรับเอาขบวนรถไฟทั้งขบวนหรือหัวรถจักรไอน้ำเข้าไปจอดหลบซ่อนจากการตรวจการ หรือการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร
ในการสร้างทางรถไฟปรกติจะต้องทำการตัดต้นไม้และเคลียร์พื้นที่รอบข้างฝั่งละ 20 เมตร
แต่ถ้าเป็นเส้นทางที่ใช้หลบซ่อนจากภัยทางอากาศแล้ว จะไม่มีการตัดต้นไม้หรือเคลียร์พื้นที่รอบข้าง
มีเพียงการสร้างทางรถไฟไปท่ามกลางต้นไม้ที่ปกคลุมเหนือขึ้นไป
เส้นทางรถไฟที่ใช้หลบภัยทางอากาศมักจะสร้างวิ่งหลบเข้าไปในป่า บางที่ขุดเป็นช่องตัดให้หัวรถจักรอยู่ต่ำกว่าพื้นดินปรกติ หรือสร้างให้รถไฟสามารถวิ่งเข้าไปหลบตามข้างหรือในซอกเขาได้
มีบันทึกของอดีตทหารผ่านศึกของญี่ปุ่นได้พูดเกี่ยวกับการหลบภัยทางอากาศว่า ในช่วงท้ายสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรบินทิ้งระเบิดทางรถไฟสะพาน ตลอดจนพยายามทิ้งระเบิดและกราดยิงปืนกลใส่หัวรถจักรไอน้ำและขบวนรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นบนเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า
จนทำให้รถไฟต้องวิ่งในช่วงเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะจอดหลบอยู่ตาม ทางแยกสำหรับหลบภัยทางอากาศ
เมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เครื่องบินตรวจการณ์และเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถตรวจการณ์ได้ ก็เป็นเวลาของการเดินทางของรถไฟ
เรื่องราวทางรถไฟที่หายไปในป่าหรือซอกเขา ในมุมมองความคิดของคนในยุคหลังที่ไม่เข้าใจแนวคิดของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงคราม
คนบางคนก็คิดไปเองว่าทางรถไฟที่แยกจากทางหลักแล้วมุ่งหน้าเข้าป่าหรือเข้าไปซอกเขาแล้วอยู่ดีๆทางรถไฟก็สุดและหายไปดื้อๆนั้น
ทางรถไฟพวกนี้ต้องมีไว้เพื่อนำสมบัติไปซ่อนไว้ในถ้ำเอยอะไรเอย
ใครจะเชื่อว่าเขาเอาสมบัติไปซ่อน ก็นานาจิตตังนะครับ ผมเพียงอยากมาบอกท่านทั้งหลายว่า
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่า ทางรถไฟที่แยกออกไปตามป่าเขาซึ่งห่างจากทางรถไฟหลักนั้น มีวัตถุประสงค์ใช้สำหรับหลบภัยทางอากาศครับ
เฉกเช่นในภาพที่เห็นคือภาพของหัวรถจักร C5625 และคันหลังคือ C5617 จอดอยู่บนทางแยกสำหรับหลบภัยทางอากาศ ในบริเวณสถานีตำรองผาโท้ (ปัจจุบันจมในเขื่อนไปแล้วครับ)
ในภาพจะเห็นได้ว่ามีการขุดช่องตัดลึกลงไปในดินประมาณ 2-3 เมตร และวางรางรถไฟ ประกอบกับพื้นที่รอบข้างไม่มีการตัดต้นไม้ออกเลย
ทำให้เมื่อหัวรถจักรเข้าไปจอดในรางหลีกสำหรับหลบภัยทางอากาศแล้ว ตัวหัวรถจักรไอน้ำจะอยู่ต่ำกว่าแนวยอดไม้ ทำให้เครื่องบินตรวจการของฝ่ายสัมพันธมิตร ตรวจการได้ยาก
ภาพนี้เป็นภาพจากคุณ Renichi Sugano อดีตทหารรถไฟของกรมทหารรถไฟที่ 9
โฆษณา