13 พ.ค. เวลา 01:00 • การศึกษา

ทำไมเราต้องเปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคม หลังวันพืชมงคล

ครั้งหนึ่ง อาจารย์สอนวิชาปรัชญาการเมืองท่านหนึ่งเคยตั้งคำถามกับเหล่านักศึกษาในชั้นเรียนว่า
ทำไมเราต้องเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม?
และจากความทรงจำแบบลางๆ ส่วนใหญ่โรงเรียนจะเริ่มเปิดเทอมประมาณหลังวันที่ 10 แต่ไม่เกินวันที่ 20 ของเดือนพฤษภาคม หลังจากวันพืชมงคลไม่เกิน 7 วัน ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า
ทำไมต้องเปิดเทอมหลังวันพืชมงคล?
แต่เมื่อศึกษาถึงวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต และเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเปรียบเสมือนการฉลองขึ้นสู่ศักราชใหม่ จากนั้น จะเข้าสู่ช่วงเตรียมพื้นที่เพื่อเริ่มทำนา ต้องรอวันและเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ชาวนาหลายคนจึงถือฤกษ์วันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันเริ่มเพาะปลูก เมื่อเพาะปลูกเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนศาสนสถานได้
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ภาพจาก https://www.moac.go.th/royal_ploughing-history
ช่วงเวลาที่เริ่มศึกษาเล่าเรียน ตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย และตรงกับช่วงเข้าพรรษา ทำให้ทั้งฆราวาสและพระภิกษุสามเณรได้ใช้เวลาศึกษาศิลปวิทยาการและพระธรรมคำสอนจนถึงออกพรรษา ซึ่งจะพ้นฤดูฝน จึงมีการปิดเทอมในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อให้บุตรหลานได้ร่วมประเพณีทอดกฐิน แข่งเรือยาว และลอยกระทง ร่วมกับทางครอบครัวและชุมชน
พิธีทอดกฐิน ภาพจาก http://www.dhammathai.org/day/kathin.php
ก่อนจะกลับมาเข้าเรียนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวในนาพร้อมจะเก็บเกี่ยว เด็กนักเรียนจะปิดเทอมแล้วจะได้ช่วยเหลือครอบครัวเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อแปรรูปเป็นรายได้ไว้ใช้จ่ายค่าเทอมในปีการศึกษาถัดไป
แม้เทคโนโลยีการปลูกข้าวจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถปลูกได้มากกว่าปีละครั้ง แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการเปิดเทอมให้สอดคล้องกับภูมิภาคอาเซียน แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สุดท้ายก็เริ่มปีการศึกษาไทยที่เดือนพฤษภาคมอยู่ดี
ภาพประกอบ: โรงเรียนรังษีวิทยา (rsv.ac.th/2019/กำหนดการเปิดปิดการเรีย/)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา