11 พ.ค. เวลา 12:40 • ข่าวรอบโลก

“กะเหรี่ยง” ไม่ใช่ “พม่า”

รอยแยกบนแผ่นดิน ภายใต้ผลประโยชน์ซับ (ทับ) ซ้อน
“ชาวกะเหรี่ยง” มีความภูมิใจว่าชนชาติของตนเป็นมากกว่าชนกลุ่มน้อย ด้วยมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับความเป็นประเทศ มีประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง และที่สำคัญกะเหรี่ยงมีดินแดนที่ตั้งถิ่นฐานสำหรับประชากร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 8-10 ล้านคน
.
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ชนชาวกะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันกับชาวมองโกเลีย หรือที่ชนชาติไทยเรียกว่า “ยาง”ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มแรกตั้งถิ่นฐานใน Htee-Hset Met Ywa (ดินแดนแห่งผืนทรายที่ไหล) ซึ่งเป็นดินแดนที่มีพรมแดนติดกับแหล่งกำเนิดของแม่น้ำแยงซีเกียง ในทะเลทรายโกบี จากนั้น ได้อพยพลงทางใต้แล้วตั้งรกรากในดินแดนซึ่งปัจจุบันเรียกว่าพม่า เมื่อประมาณ 739 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกะเหรี่ยงตั้งชื่อดินแดนนี้ว่า กอลาห์ (Kaw-Lah) แปลว่า ดินแดนสีเขียว
1
นักเรียนชาวกะเหรี่ยงจากค่ายผู้ลี้ภัยหนูโพแสดงการเต้นรำดอนแบบดั้งเดิมในวันปฏิวัติกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 (ภาพ: Burma Link)
หลังจากชาวกะเหรี่ยงได้ลงแรงสร้างดินแดนแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์แล้ว จึงเปลี่ยนชื่อแผ่นดินเป็น “กอทูเล” (Kawthoolei) ดินแดนที่ปราศจากความชั่วร้าย ความอดอยาก ความทุกข์ยาก และความขัดแย้ง
.
นอกจากนี้ ยังมีบันทึกของมิชชั่นนารีชาวตะวันตกที่เชื่อว่า บ้านเมืองเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ทางตะวันตกของจีน ในเขตกวางสีก่อนที่พวกเขาจะอพยพสู่ดินแดนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน
สาวกะเหรี่ยงกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยงมีภาษาและตัวอักษรของตนเองตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2373 และมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและประเพณีผ่านตัวอักษรกะเหรี่ยงสะกอ (Sqaw Karen) และตัวเขียนกะเหรี่ยงโปวอ (Pwo Karen)
.
ในปี พ.ศ. 2424 ห้าปีก่อนที่อังกฤษจะควบคุมพม่าโดยสมบูรณ์ ชาวกะเหรี่ยงได้ก่อตั้งสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ชื่อ “Daw K’Lu” จุดมุ่งหมายหลักคือการส่งเสริมและรวมอัตลักษณ์ ความเป็นผู้นำ รวมถึงการศึกษาของชาวกะเหรี่ยง
.
ภายใต้การนำของ KNA กะเหรี่ยงติดอาวุธเข้าภักดีต่อรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในขณะนั้น และร่วมต่อสู้เคียงข้างในสงครามอังกฤษ-พม่า ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2466 อังกฤษสนับสนุนให้กะเหรี่ยง (Karen) ได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติเพื่อสร้างรัฐกะเหรี่ยงที่ปกครองตนเองภายใต้การปกครองของอังกฤษ และในปีพ.ศ. 2471 สมาชิก KNA ชื่อ Saw Tha Aye Gyi ได้แต่งเพลงชาติกะเหรี่ยง และธงชาติกะเหรี่ยงก็ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480
.
กะเหรี่ยงได้ใช้อำนาจทางการเมืองซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ อภิปรายยับยั้งการให้เอกราชแก่พม่า โดยให้เหตุผลว่า พม่าไม่พร้อมสำหรับเอกราชในฐานะระบบการปกครองที่เหมาะสมซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด และร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษแยกรัฐกะเหรี่ยงหรือที่เรียกว่า “รัฐกะเหรี่ยง (กอทูเล)”ภายใต้สหภาพพม่า
.
27 มกราคม พ.ศ. 2490 นายพลอองซานไปเข้าพบนายกรัฐมนตรีเคลมองต์ แอตลี แห่งอังกฤษ และลงนามในข้อตกลง Aung San-Atlee ว่าพม่าจะเป็นอิสระจากอังกฤษภายในหนึ่งปี แต่ข้อตกลงดังกล่าวกลับไม่ได้สร้างความหวังให้กับชาวกะเหรี่ยง
.
ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 องค์กรกะเหรี่ยงชั้นนำ 4 องค์กร ได้แก่ สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงพุทธ (BKNA) องค์กรกลางกะเหรี่ยง (KCO) และองค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง (KYO) ได้แปรสภาพเป็น “สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง” (KNU)
นายพลอองซาน ระหว่างการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร
นายพลอองซาน ได้จัดการประชุมปางโหลง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เป็นข้อตกลงที่ลงนามในฐานะสหพันธรัฐสหภาพประชาธิปไตย แม้ว่า KNU ที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะปฏิเสธเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ แต่ก็ยอมรับข้อตกลงนี้ซึ่งเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับแรกสำหรับประเทศที่กำลังได้รับเอกราช โดยตระหนักถึงความเท่าเทียม และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความฝันที่จะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวด้วยจิตวิญญาณของข้อตกลงปางโหลงได้มลายลงด้วยการลอบสังหารนายพลอองซาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490
.
เมื่อได้รับเอกราชในเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลพม่าก็ได้ละทิ้งชาติพันธุ์อื่นๆ ไว้ข้างหลังโดยสิ้นเชิง ระบอบการปกครองของทหารที่สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2505 ยังคงกดขี่ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าจนทุกวันนี้
.
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU) ภายใต้การนำของ ซอ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) วีรบุรุษชาตินิยมคนสำคัญของกะเหรี่ยง ได้ประกาศให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นเอกราชจากการปกครองของสหภาพพม่าในปี พ.ศ. 2492
.
และได้ก่อเกิดกองกำลังพล 3 หน่วยได้แก่ กองทัพปลดปล่อยประชาชนเกาทูเล (Kawthoolei People’s Liberation Army : KPLA), กองโจรประชาชนเกาทูเล (Kawthoolei People’s Guerrilla Force : KPGF), และองค์กรปกป้องชาติกะเหรี่ยง KNDO
.
นโยบายของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง คือประชาธิปไตยแห่งชาติ สนับสนุนการลงทุนของเอกชนและการลงทุนจากต่างประเทศ ประชาชนทุกคนในรัฐกะเหรี่ยง (กอทูเล) จะได้รับสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของทุกศาสนา รัฐกะเหรี่ยง จะรักษาสันติภาพด้วยความสัมพันธ์อันดีกับรัฐอื่นๆ ทั้งหมดบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน รัฐกะเหรี่ยง จะไม่อนุญาตให้ปลูกหรือสังเคราะห์ฝิ่น หรือการขายและการขนส่งยาเสพติดผิดกฎหมายผ่านอาณาเขตของตน
.
และต่อมาในปี พ.ศ.2498 ก็ได้เกิดแนวคิดที่จะก่อตั้ง “สภาปฏิวัติกะเหรี่ยง” (Karen Revolution Council : KRC) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสหภาพสหพันธรัฐที่แท้จริง ซึ่งประกอบด้วยรัฐทุกสัญชาติบนพื้นฐานของความเสมอภาค และเพื่อความอยู่รอดจากการถูกกดขี่ การปราบปราม การแสวงหาผลประโยชน์ และการครอบงำชาวกะเหรี่ยงโดยผู้ปกครองพม่า
กองทหาร KNLA / กองทัพอิรวดี
รัฐกะเหรี่ยง (กอทูเล) ภายใต้ร่มธงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงยังคงรักษาโครงสร้างและวัตถุประสงค์มาตั้งแต่ก่อตั้ง โดย KNU ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานของรัฐสำหรับชาวกะเหรี่ยง ให้บริการทางสังคมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รวมถึงชาวกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่น บริการเหล่านี้ได้แก่ การสร้างระบบการศึกษา การให้บริการทางการแพทย์ การควบคุมการค้าและการพาณิชย์ และการรักษาความปลอดภัยผ่านกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นกองทัพของ KNU
“มหารัฐกอทูเล" ไม่ใช่เป็นรัฐของคนกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่เป็นพหุรัฐที่หลายๆรัฐมาอยู่รวมกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “รัฐกะยิน” (Kayin State) ในภาษาพม่าชื่อ “กอทูเล” มีความหมายว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ หรือพื้นที่ที่ปลอดจากความชั่วร้าย กล่าวได้รวมๆ ว่า “กอทูเล” คือรัฐในจินตนาการและความฝันของผู้นำกะเหรี่ยง ที่ต้องการสร้างรัฐแยกตัวออกจากสหภาพพม่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.2491 โดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่มีเป้าหมายทวงคืนแผ่นดิน “มหารัฐกอทูเล”
.
ในขณะที่พม่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และสถานการณ์โดยรวมของประเทศก็ย่ำแย่ลงเนื่องจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นโอกาสให้ KNU ประกาศกอบกู้ “มหารัฐกลอทูเล” ภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมาร์ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นประธานในพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพที่กรุงเนปีดอ ประเทศเมียนมาร์ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 REUTERS
แม้จะมีความพยายามสร้างเอกภาพใน “รัฐกะเหรี่ยง” แต่ปัจจัยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อุดมการณ์ และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การประสานผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนในรัฐกะเหรี่ยงยังคงเป็นปัญหา โดยระบบการบริหารภายใต้ความขัดแย้งในชุมชนกะเหรี่ยงนั้น มีขบวนการทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยง คือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มีอำนาจสูงสุด ประกอบด้วย องค์กรป้องกันประเทศกะเหรี่ยง (KNDO) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)
สมาชิกผู้นำ KNU เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 75 ปีการปฏิวัติกะเหรี่ยงที่ฐานทัพห่างไกลชายแดนไทย-เมียนมาร์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567
กองทัพกอทูเล
กองทัพกอทูเล (Kawtholei Armed Forces : KAF) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2499 สภาคองเกรสภายใต้คณะกรรมการปกครอง (Kawtholei Governing Body : KGB) กองทัพกอทูเล ในอนาคตจะต้องรวมกองกำลังติดอาวุธของ Kawtholei ทั้งหมดไว้ภายใต้การบังคับบัญชาเดียว มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันวิชาชีพสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยกองกำลังภาคพื้นดิน กองทัพอากาศ กองทัพเรือ หน่วยข่าวกรอง และกองกำลังป้องกันอื่น ๆ
ในเดือนสิงหาคม 2565 นายพล เนอดา โบ เมียะ (Nerdah Bo Mya) อดีตผู้นำองค์การพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organization : KNDO) ซึ่งเป็นบุตรชายนายพลโบ เมียะ (Bo Mya) ถูกกล่าวหาว่าสังหารหน่วยสืบราชการลับของกองทัพพม่าไป 25 คน ได้ถูกขับออกจาก KNU ความขัดแย้งในกลุ่มกะเหรี่ยงทำให้ นายพล เนอดา ไปตั้งกองกำลังของตนเองในนาม “กองทัพกอทูเล” (Kawthoolei Army : KTLA)
นายพล เนอดา โบ เมียะ ในพิธีครบรอบ 75 ปีของ KNDO ในดินแดนกองพลที่ 6 ของ KNU/KNLA
คณะกรรมการกลางของ KNU อธิบายว่า นายพล เนอดา ละเมิดกฎระเบียบของ KNU หลายข้อในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้า KNDO ซึ่งเริ่มในปี 2556 รวมถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำสั่งของทหารและการระดมทุนที่ "ผิดกฎหมาย" และKNU หรือ KNLA จะไม่รับรองกองทัพกอทูเล ของนายพล เนอดา
.
เมื่อกองทัพกอทูเล (KTLA) ก่อตั้งขึ้น ความตึงเครียดระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นหลังจากกองกำลัง KNDO บางส่วนในพื้นที่ของกองพลที่ 4 KNU ได้แปรพักตร์ไปยัง KTLA ความขัดแย้งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัญหาเอกภาพของรัฐกะเหรี่ยงที่กำลังลดลง แม้ว่า KTLA จะมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับระบอบรัฐประหารก็ตาม
กองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงประชาธิปไตยที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร ความเชื่อมโยงระหว่างทหารกับพระภิกษุ
กองกำลังที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army : DKBA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 จากกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลกลาง และไม่พอใจสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งครอบงำโดยคริสเตียน ได้แยกตัวออกพร้อมกับการสนับสนุนของพระภิกษุหัวรุนแรง ได้จัดตั้งกองทัพพุทธกะเหรี่ยงประชาธิปไตยและเป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่า
.
ในปี พ.ศ. 2553 DKBA ได้แปรสภาพเป็นองค์กรภายใต้กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force : BGF) และถูกรวมเข้ากับกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการ ปฏิบัติการร่วมกับกองทัพพม่าสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ โดยได้รับผลประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของ BGF เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลทหารไม่เพียงแต่อนุญาตให้ DKBA รักษาการควบคุมอาณาเขตของตน แต่ได้ให้โอกาสในการทำเงินที่ผิดกฎหมายกับ DKBA ด้วย ทำให้กลุ่ม DKBA ขยายกิจกรรมทางธุรกิจและเติบโตขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา
กำลังพล BGF รัฐกะเหรี่ยง ที่มาภาพ : Karen Information Center
ต่อมากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้ประกาศแยกทางกับกองทัพพม่าและเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นกองกำลังติดอาวุธอิสระ ทั้งที่ BGF กับกองทัพพม่า เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกันมานานถึง 30 ปี
.
ปัจจุบัน กำลังพลของ BGF มีอยู่ประมาณ 7,000 นาย แบ่งเป็น 13 กองพัน แต่ละกองพันมีกำลังทหารประมาณ 550 คน แบ่งพื้นที่การดูแลออกเป็น 4 เขตทหาร ได้แก่
เขตทหารที่ 1 มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองหล่ายปวย ตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง
เขตทหารที่ 2 มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองผาปูน ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ติดกับรัฐกะยา
เขตทหารที่ 3 มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองเมียวดี
เขตทหารที่ 4 มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองจาอินเซะจี ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง ติดกับรัฐมอญ
พ.อ.ซอชิดตู่ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น เคเอ็นเอ (KNA)
เขตทหารของ BGF ที่ใกล้ชิดคนไทยมาก คือเขตทหารที่ 3 ซึ่งเป็นเขตที่มีกำลังพลมากที่สุด มี พ.อ.ซอชิดตู่ (Saw Chit Thu) หรือที่คนไทยมักคุ้นในชื่อ “หม่องชิดตู่” เป็นผู้บัญชาการ รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด แม่ระมาด และอีกบางอำเภอของจังหวัดตาก ฟากตะวันตกของประเทศไทย
.
หลังกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (Karen Border Guard Force - Karen BGF) แปรพักตร์จากรัฐบาลเมียนมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ผู้บัญชาการของเขตทหาร BGF ทั้งสี่ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นเอ (Karen National Army - KNA) โดยไม่อาศัยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลทหารของเมียนมา (SAC) อีกต่อไป
.
และเหตุผลที่ BGF ฮึกเหิม ถึงขั้นกล้าต่อรองกับรัฐบาลทหารพม่านั้น สำนักข่าวหลายสำนักก็ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว หากมีโอกาสจะรวบรวมนำมาลงบทความให้อีกครั้งนะคะ...มาช้าแต่มาแน่ค่ะ และขอขอบคุณทุกท่านที่ยังติดตามกันอยู่นะคะ🙏
โฆษณา