11 พ.ค. เวลา 19:09 • ไอที & แก็ดเจ็ต

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น"เร็ว" และ อย่างน้อย2เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันวิกฤติ COVID ก็เข้ามาเร่งให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
เรื่องที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราเห็นภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนภาคเศรษฐกิจในหลายส่วน ทำให้เราต้องหันมาคิดอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจและประเทศ เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้
เนื่องจากในวันนี้เป็นงาน FinTech ผมจึงจะขอเน้นในเรื่องแรกคือเรื่อง technology กับ digital และขอนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ ซึ่งจะขอแบ่งมุมมองเป็น 3 ส่วน ด้วยกัน
 
ส่วนที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เราจะเห็นในภาคการเงินไทย
 
ส่วนที่ 2 คือ การดำเนินงานของ ธปท. ในการสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาพร้อมกับ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว ทั้งในแง่การปรับตัวของ ธปท. เอง และในแง่แนวทางของ ธปท. ที่จะวางภูมิทัศน์หรือ landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป
ส่วนที่ 3 คือ ภาพอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ
ทางการเงินได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ในส่วนแรก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของภาคการเงินไทย ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน
 
เรื่องแรก คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงิน อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ด้านบริการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐาน PromptPay ทำให้ประชาชนสามารถ ทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงิน หรือชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว
คล่องตัว ทุกที่ ทุกเวลา โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay มากกว่า 60 ล้านหมายเลข และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันกว่า 85,000 ล้านบาท หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Blockchain มาใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันให้กับองค์กรต่าง ๆ ช่วยลดเวลา ในการออกหนังสือค้ำประกันจากเดิม 3-5 วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 10 นาที ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจและภาครัฐได้มาก
เรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มขึ้นของบทบาทของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น non-bank เดี่ยวหรือ non-bank ร่วมมือกับธนาคาร ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญ
ในการเข้ามาเติมเต็มให้กับกลุ่มประชาชนหรือ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะ เรื่องของสินเชื่อ ตัวอย่างเช่น การทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดข้อมูลทางเลือก หรือที่เรียกกันว่า alternative data ที่ช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำ
ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการขอสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในเรื่องนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับดี โดยปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ช่วยให้ประชาชนกว่า 2 แสนราย เข้าถึงสินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่พยายามเข้ามาปิดช่องว่างในการให้บริการทางการเงินหรือสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับกลุ่ม เช่น กลุ่ม FinTech startups ที่เข้ามาให้บริการในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการให้บริการโดยกลุ่มธนาคาร
อย่างผู้ให้บริการ peer-to-peer lending platform ที่เชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง หรือ BigTech platforms ที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้บริการซื้อขายสินค้า ส่งของ ลงทุน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงิน และล่าสุด มีการให้บริการในลักษณะเป็น Decentralized Finance หรือ DeFi ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกอย่างด้วย smart contracts ซึ่งเป็นการตัดบทบาทของตัวกลางออกไป แม้ปัจจุบันจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้
สำหรับส่วนที่ 2 จากแนวโน้มที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากผู้ประกอบการต้องปรับตัว ธปท. เองก็จำเป็นต้องปรับ และดำเนินการเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
อย่างเต็มที่ โดยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแล และรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่จะคำนึงถึงต้นทุนจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
ของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายขนาดและประเภทมากขึ้น โดยในเรื่องเสถียรภาพนั้น จะให้น้ำหนักของเรื่อง resiliency มากขึ้น คือ ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงและแรงกดดันต่าง ๆ รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงกระทบ เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ท่านผู้มีเกียรติครับ นอกจากการปรับตัวของ ธปท. ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงแล้ว ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open
โฆษณา