Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ID CU DEGREE SHOW
•
ติดตาม
12 พ.ค. เวลา 10:00 • การศึกษา
ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวิตในการเป็นเด็กออกแบบเจอกับอะไรบ้าง ?
แต่ละสายอาชีพต่างต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ยากง่ายต่างกันไป เช่นเดียวกับงานสายออกแบบที่นิสิตไอดีอย่างเราต้องเจอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากจะต้องทุ่มเทความรักให้กับการออกแบบแล้ว ยังต้องใช้แรงกาย แรงสมอง และแรงใจในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องเจอในการเรียนด้วย และแน่นอนว่า ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่นิสิตไอดีอย่างเราได้พบขณะเรียนออกแบบนั้น ก็เป็นผลดีที่จะทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น! ในวันนี้ เราจึงอยากมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เด็กออกแบบต้องเผชิญให้ทุกคนได้รับทราบกัน
ทำงานให้ทันส่งในคาบเรียน
ใครเป็นเด็กออกแบบ ก็คงชินกับการทำงานที่อาจารย์สั่งในคาบเรียนให้ทันส่งท้ายคาบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมากกับการจัดการเวลาที่มีจำกัด เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความที่งานออกแบบใช้เวลาในการคิดเยอะ กว่าจะคิดออกก็เหลือเวลาน้อยนิด จนต้องมาเร่งให้เสร็จตอนท้าย และยังต้องคุมสติจากอาการสติแตกเพราะกลัวส่งไม่ทัน ซึ่งบางทีก็ไม่พอใจในผลงานเพราะรู้สึกว่ายังทำไม่เต็มที่ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง เรียกได้ว่าเป็นการฝึกเอาตัวรอดและความเร็วในการทำงานขั้นสุดยอด (แต่ก็หวาดเสียวไปหน่อยนะ)
ทำโปรเจกต์จนไม่ได้นอน
การทำงานหามรุ่งหามค่ำ การอดนอน และใต้ตาดำกว่าแพนด้าแทบจะเป็นเอกลักษณ์ของเด็กออกแบบ ด้วยความที่หนึ่งโปรเจกต์ต้องคิดอะไรหลายอย่าง สำรวจกลุ่มเป้าหมาย การร่างและออกแบบ ผลิตชิ้นงาน ทำสไลด์และตัดต่อนำเสนอ วางแผนธุรกิจและอื่น ๆ อีกเยอะ หรือเหตุการณ์คิดงานไม่ออก ทำให้เสียเวลาในการทำสิ่งอื่น ๆ ไป หลายครั้งเราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากครอบครัว รูมเมท หรือเพื่อนต่างคณะ ให้มาช่วยกันปั่นโปรเจกต์ให้เสร็จ หรือนั่งทำงานกลุ่มกับเพื่อนทั้งคืนเพื่อปลุกใจให้ผ่านพ้นค่ำคืนอันแสนเดือดนี้ไปด้วยกัน!
แก้โปรเจกต์วนไป
อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “บนโลกนี้ไม่มีงานออกแบบที่ดีที่สุด มีแต่งานออกแบบที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น” นี่คือความจริงที่นำสู่การแก้แบบไม่จบไม่สิ้น เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่อยากเจอแต่เจอตลอด! กว่าจะจบโปรเจกต์ กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน ผ่านการแก้แบบมาแล้วไม่รู้กี่รอบ เด็กออกแบบอย่างเราต้องเตรียมใจที่จะโดนแก้แบบทุกครั้งที่มีการตรวจ เพราะถึงเราจะเริ่มทำงานเร็วแค่ไหนก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่างานนั้นจะผ่าน แต่ถ้าไม่โดนแก้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ๆ ของวันนั้นเลย (ถึงจะโดนแก้ แต่ก็รักอาจารย์นะ!)
เสียเงินไปกับการซื้อของทำงาน เป็นที่รู้กันการเรียนออกแบบต้องใช้อุปกรณ์ที่เฉพาะทาง คอมพิวเตอร์ก็ต้องสเปคแรง ซอฟต์แวร์ก็มีเยอะมาก ทั้งโปรแกรมตระกูล Adobe โปรแกรมขึ้นแบบสามมิติเอย โปรแกรมทำ UXUI แต่ไม่ใช่แค่นั้น เรียกได้ว่าเรายังมีรายจ่ายไม่รู้จบ! ทั้งค่าอุปกรณ์ออกแบบ อุปกรณ์ทำโมเดล ทำโปรโตไทป์ ถ้าดันทำเสียก็ต้องซื้อใหม่อีก เสียเงินจนสนิทกับร้านค้าเลย กว่าจะเรียนจบ หมดไปกี่บาท อย่ารู้เลยจะดีกว่าเพื่อความสุขของตัวเอง
คนขอให้ช่วยออกแบบฟรี
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เป็นเด็กออกแบบต้องเคยเจอคนรู้จักพูดว่า "ช่วยออกแบบ…ให้หน่อย” และใช่ นี่คืองานฟรี! ที่ผลตอบแทนเป็นคำขอบคุณ โดยคนชอบคิดว่าการออกแบบคือการ “วาด ๆ เอาเดี๋ยวก็เสร็จ” ไม่มีต้นทุนอะไร ซึ่งกว่าจะได้งานแต่ละชิ้นเราต้องใช้ทั้งสมอง ค่าอุปกรณ์ ค่าซอฟต์แวร์ เสียเวลาที่จะไปทำงานอื่น ดังนั้นรู้จักปฏิเสธหรืออย่าลืมพูดคุยข้อตกลงให้ชัดเจนก่อนจะได้ไม่เหนื่อยฟรีนะ
หมดไฟ
“ช่วงนี้รู้สึกหมดไฟ…” ภาวะที่พบบ่อยในหมู่นักออกแบบ อาจเกิดจากการทำงานที่หนักจนเกินไป เครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ถูกกดดันจากการทำงานในเวลาที่จำกัด ในหลาย ๆ ครั้ง ที่รู้สึกว่าขาดความคิดสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจจนคิดงานไม่ออก ยังมีบางครั้งที่เหมือนไม่มีคนเห็นคุณค่าในงานของเรา จนรู้สึกท้อ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ แต่ถ้าเรารู้ทันความรู้สึกของตนเอง ก็จะรับมือได้อย่างแน่นอน ลองหาวิธีคลายเครียดอื่น ๆ ได้ เช่น ไปเดินเล่น ดูหนัง ฟังเพลง นั่งสมาธิ หรือพูดคุยกับคนอื่น ๆ
และสำหรับใครที่หมดไฟ มาร่วมเติมพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ไปกับพวกเราได้ที่งาน ID DEGREE SHOW 2024: SEK-SARNG (เสกสร้าง) หรืองานแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ของนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานออกแบบจัดแสดงมากกว่า 40 ผลงาน ภายในงานยังไม่ได้มีแค่การจัดแสดงผลงานเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจอย่าง Designers Talk, ไพ่ออราเคิล, และอื่น ๆ อีกมากมาย
มาพบกันได้ที่อาคาร Siamscape ในวันที่ 22-26 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. เป็นต้นไป
การออกแบบ
blockdit
เรื่องเล่า
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย