Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
13 พ.ค. เวลา 02:03 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
ประวัติสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำแคว ตอนที่ 1 สะพานไม้ที่ถูกลืมเลือนและกำลังหายไป
เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปี การก่อสร้างสะพานข้ามแม้น้ำแคว ผมจึงขออนุญาตนำบทความเก่าที่เคยเขียนมาโพสอีกครั้ง
ในปัจจุบันเรายังคงสามารถเห็นสะพานเหล็กได้อย่างชัดเจน แต่ตัวสะพานไม้นั้นได้หายไป เหลือเพียงร่องรอยตอเสาสะพานที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์
ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ทหารญี่ปุ่นพยายามรุกเข้าไปในดินแดนพม่า เพื่อพลักดันรุกไล่ทหารอังกฤษให้ออกจากพม่า
ในการทำสงครามนั้นนอกเหนือจากทหารที่มีวินัย อาวุธที่ดีแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ การส่งกำลังบำรุง
ด้วยเส้นทางเดินเรือขนส่งยุทธปัจจัยไปยังพม่า นั้นไกลและอันตรายผ่านน่านน้ำในช่องแคบมะละกาและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเสี่ยงกับการถูกโจมตีจากเรือดำน้ำของอังกฤษ
เพื่อลดความเสี่ยงของการขนส่งยุทธปัจจัยทางทะเล
ทหารญี่ปุ่นจึงมีแผนที่จะสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยเช้ากับเส้นทางรถไฟของพม่า สายเย-เมาะละแหม่ง
โดยวางแผนที่จะสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกผ่านเข้ามา จ.กาญจบุรี แล้วมุ่งหน้าเลาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควน้อยไปจนถึงด้านพระเจดีย์สามองค์
โดยเส้นทางดังกล่าวทางรถไฟจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง
แรกเริ่มญี่ปุ่นทำการสำรวจแถวปากแพรก (ตัวเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบันที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3)
ภาพคณะทหารญี่ปุ่นลงพื้นที่สำรวจบริเวณท่ามะขาม ก่อนมีการกำหนดจุดสร้างสะพาน
บริเวณแม่น้ำนั้นมีความกว้างมาก เนื่องจากแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง และดินที่บริเวณริมตลิ่งนั้นอ่อนนุ่ม ไม่เหมาะแก่การสร้างสะพานทางรถไฟ ญี่ปุ่นจึงเลือกเอาพื้นที่ ท่ามะขาม หรือ บริเวณที่สะพานทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแควใหญ่ในปัจจุบันเป็นจุดสร้างสะพาน (ท่ามะขามเรียกเพี้ยนมาจากท่าม้าข้าม
ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำแควใหญ่ตื้นเขิน ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านสามารถนำม้ามาเดินข้ามแม่น้ำในบริเวณนี้ได้จึงถูกเรียกว่าท่าม้าข้าม ยุช่วงสงครามโลกเชลยศึกตะวันตกเรียก Tamakan)
สะพานเหล็กที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันที่เราเห็นนั้นไม่ใช่สะพานแรก
ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานเหล็ก มีการสร้างสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควที่ทำจากไม้ ในบริเวณไม่ไกลกัน
ซึ่งตำแหน่งของสะพานไม้ทางรถไฟเดิมนั้น จะอยู่ลงไปทางปลายน้ำห่างจากสะพานปัจจุบันประมาณ 100 เมตร (น้ำไหลไปทางไหน มองตามไปครับประมาณ 100 เมตร) ตรงนั้นจะเคยมีสะพานไม้อยู่
1
ในพื้นที่ปัจจุบันตรงจุดที่เคยเป็นคอสะพาน อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ข้อมูลต่อไปนี้จะนำข้อมูลจาก
1.ร้อยตรี Masaru Tsuruta นายทหารจากกองร้อยที่ 6 กองพันที่ 3 กรมทหารรถไฟที่ 9 ของกองทัพญี่ปุ่น
2. Yoshihiko Futamatsu วิศวกรญี่ปุ่นที่ถูกคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ออกแบบสำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะ
3.พันเอก Philip Toosey นายทหารอังกฤษที่ตกเป็นเชลยศึก อาศัยที่ค่ายที่ท่ามะขาม และทำงานในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
มารวบรวมและอธิบายขั้นตอนการก่อสร้างสะพานทางรถไฟไม้แห่งนี้
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนว่าเอกสารหรือแผนที่ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ตะวันตก ตลอดจนเอกสารไทยที่มีการตีพิมพ์ในช่วงสงครามหลายฉบับ มีการเรียกแม่น้ำแควใหญ่ว่า แม่น้ำกลอง (ญี่ปุ่นเรียก Mekuron)ทั้งหมด
บันทึกของร้อยตรี Masaru ได้กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนตุลาคม 1942 เขาเห็นเชลยศึกเดินเท้ามาถึงค่ายที่ท่ามะขาม ในระหว่างที่เดินนั้นมีทหารผิวปากในทำนองของเพลง Colonel Bogey march ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทหารญี่ปุ่นชุดนี้ได้พบกับเชลยศึก มีการพูดกันในหมู่ทหารญี่ปุ่นเกี่ยวกับเชลยศึกหลายประเด็น
เนื่องจากการสร้างสะพานปูนและโครงสร้างเหล็กนั้นใช้เวลานาน จึงสร้างสะพานไม้ซึ่งสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วกว่า เพื่อไว้ใช้งานในการขนส่งของข้ามแม่น้ำแควใหญ่
สะพานไม้
โดยสะพานไม้ที่จะสร้างนั้นต้องใช้เสาไม้กว่า 390 ต้นตอกลงไปในพื้นดินใต้แม่น้ำ โดยหมวดของ Masaru ทำหน้าที่ตอกเสาไม้จากฝั่งทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำแควใหญ่(ปัจจุบันคือตลาดค่ายเชลยศึก) ส่วนหมวดที่สามรับหน้าที่ตอกเสาสะพานไม้จากฝั่งตะวันออก (หอศิลป์)
ทหารญี่ปุ่นทั้งสองหมวดนี้พยายามแข่งขันกันว่าใครจะสามารถตอกเสาไม้สะพานได้ถึงกลางแม่น้ำก่อน หมวดนั้นก็จะชนะ
เนื่องจากในกองร้อยนี้มีเครื่องปั้นจั่นเพียง 1 เครื่อง ทำให้การตอกเสาไม้ลงไปในน้ำจะมีหนึ่งหมวดที่มีเครื่องจักรทุ่นแรง ส่วนอีกหมวดต้องใช้แรงงานคน
ภาพการนำเรือปั้นจั่นที่ใช้ตอกเสาสะพาน ภาพตัวอย่างของการฝึกของทหารรถไฟของญี่ปุ่น (ไม่ใช่ภาพในช่วงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว)
ภาพตัวอย่างที่ 2 เรือปั้นจั่นใช้แรงงานคนในการดึงเชือกยกตุ้มเหล็ก
หมวดของ Masaru ต้องใช้แรงงานคน วิธีการคือนำเรือสองลำผูกติดกันโดยมีการตั้งนั่งร้านตรงกลางให้สูงขึ้นไป ติดตั้งรอกและตุ้มน้ำหนัก โดยใช้แรงงานเชลยศึกประมาณ 30 คนดึงเชือกให้ตุ้มน้ำหนักลอยและปล่อยในเวลาเดียวกันให้ตุ้มน้ำหนักกระแทกที่หัวเสาไม้ และตัวเสาไม้ก็จะจมลึกลงไปในดินเรื่อยๆ
ทหารญี่ปุ่นมีการสอนวิธีการทำงานให้กับเชลยศึก โดยทหารญี่ปุ่นจะเป็นคนนับ 1 2 3 4 "Itch, knee, sun, yoh"
ในจังหวะ 1 2 3 จะต้องดึงเชือกขึ้น ส่วน จังหวะที่ 4 ก็ปล่อยเชือกเพื่อให้ตุ้มน้ำหนักตกลงมา
ซึ่งเชลยศึกเองก็เหมือนคนที่ฝึกงานใหม่ จึงยังไม่คล่องเท่าใดนัก ผลคือวันแรกทีมของ Masaru สามารถตอกเสาสะพานได้เพียง 2 ต้น
1
ภาพวาดของ จาก Stephen Alexander
ทหารญี่ปุ่นหมวดที่ 3 ที่รับหน้าที่ตอกเสาสะพานฝั่งทิศตะวันออก มีเครื่องปั้นจั่นทุ่นแรง ในวันแรกมีเพียงการติดตั้งเครื่องมือเท่านั้น แต่หลังจากมีการเดินเครื่องเต็มที่ การตอกเสาไม้ก็เป็นไปได้ด้วยดี
ทหารทั้งสองหมวดต่างแข่งขันกันระหว่างแรงงานเชลยศึกและแรงเครื่องยนต์
ในภายหลังหมวดของ Masaru ได้อนุญาตให้ใช้เพลง Volga boat song
, Isle of Capri และเพลงอื่นๆในการกำหนดจังหวะการดึงและปล่อยตุ้มน้ำหนัก ทำให้การทำงานนั้นรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
งานลุล่วงไปได้ด้วยดี เมื่อสะพานใกล้แล้วเสร็จ หมวดที่ 4 ก็ได้ทำการนำเอาไม้มาพาดด้านบนทำเป็นตัวสะพานและ หมวดที่ 1 ก็มีหน้าที่วางรางรถไฟ และทำทางรถไฟที่จะมาถึงตัวสะพาน
เมื่อการตอกเสาสะพานได้ประมาณ 80% เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ทหารญี่ปุ่นต้องช่วยกันสอดส่องและพยายามไม่ให้พวกกอไม้ กอไผ่ รากไม้ติดกับเสาสะพานที่ตอกไว้ ไม่เช่นนั้นเสาสะพานอาจจะต้านไม่อยู่และพังได้
ต้นเดือนพฤศจิกายน 1942 เนื่องจากการทำงานใกล้เสร็จ สองทีมงานที่ตอกเสาสะพานต้องทำงานของตนเองและหากเรือของทั้งสองหมวดมาอยู่ใกล้กันอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
ภาพระหว่างการก่อสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำแคว
หมวดของ Masaru จึงถูกส่งไปสร้างสะพานไม้ขนาดเล็กแถวท่าม่วงแทน โดยให้หมวดที่ 3 ดำเนินการตอกเสาสะพานไม้ที่แม่น้ำแควใหญ่ต่อจนแล้วเสร็จ
สะพานไม้เสร็จประมาณช่วงเดือน ธันวาคม ปี 1942 และเปิดใช้งานจริงในช่วง มกราคม 1943 ญี่ปุ่นใช้สะพานไม้ทางรถไฟชั่วคราวนี้เพื่อขนส่งทหารที่จะไปรบที่พมม่ารวมไปถึงอุปกรณ์ของลำเลียงข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปก่อน
สะพานไม้ข้ามแม่น้ำแคว
ส่วนสะพานเหล็กที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น ดูแลการก่อสร้างโดยทหารจากกองร้อยที่ 5 กองพันที่ 3 กรมทหารรถไฟที่ 9 ในข้อมูลของญี่ปุ่นและตะวันตกต่างบอกตรงกันว่า สะพานไม้และสะพานเหล็กเริ่มสร้างในช่วงเดียวกัน เนื่องจากสะพานเหล็กต้องใช้เทคนิคในการก่อสร้างที่มากกว่า จึงต้องใข้เวลามาก แต่ถึงอย่างไร สะพานเหล็กแล้วเสร็จ 15 พฤษภาคม 1943
(แต่ในข้อมูลของฝ่ายไทยระบุว่า หลังจากที่สร้างสะพานไม้ชั่วคราวเสร็จ ก็มีการสร้างสะพานเหล็กหลังจากนั้นทันที โดยสะพานเหล็กเริ่มสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 1943 แล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 1943 ประมาณ 7 เดือน ซึ่งข้อมูลเรื่องเวลานั้นค่อนข้างต่างกัน)
รถไฟขนยุทธปัจจัยของกองทัพญี่ปุ่นข้ามแม่น้ำแคว จากฝั่งเมืองกาญไปทางเขาปูน
สะพานไม้ถูกรื้อถอนไปได้สักระยะหนึ่งเนื่องจากกีดขวางการเดินเรือของคนไทยในท้องถิ่น แต่ในช่วงปลายปี 1944 กองทัพอากาศสัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดโจมตีเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำก็ตกเป็นเป้าหมาย
สะพานไม้จึงถูกสร้างอีกครั้ง ฝ่ายญี่ปุ่นหวังว่าจะใช้สะพานไม้เป็นสะพานสำรองหากสะพานเหล็กถูกทิ้งระเบิดโจมตี
แต่ในความเป็นจริงแล้วสะพานไม้ก็ตกเป็นเป้าหมายและถูกโจมตีไปพร้อมๆกัน
นอกจากการโจมตีทางอากาศแล้ว ยังมีบันทึกจากปากคำเชลยศึกจำนวนมาก รวมถึงบันทึกของ พันเอก Toosey กล่าวว่าเชลยศึกได้แอบเอารังมดขาว White ants เอาไปไว้ตามจุดต่างๆของสะพานไม้ และมดขาวที่พูดถึงน่าจะเป็นปลวกครับ
ประวัติศาสตร์
การศึกษา
ท่องเที่ยว
2 บันทึก
6
4
2
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย