ปุถุชนทั่วไป โพธิสัตวบุคคล และอริยบุคคล คืออะไร? แตกต่างกันไหม? เป็นพร้อมๆกันหมดนี่ได้หรือเปล่า?EP1.

ปุถุชนเป็นคำเรียกมนุษย์ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ยังมีความชอบ ไม่ชอบ มีรักมีโลภมีโกรธมีหลงเหมือนดั่งเราๆท่านๆและตัวผู้เขียนเอง เพราะปุถุชนจะสำคัญว่าตนเองมีอยู่ มีอัตตาอยู่ เป็นตัวเป็นตนที่สำคัญตัวได้ ปุถุชนจะมีอยู่ทั่วไปในโลก พบเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง อำนาจกิเลสก็หนักเบาแตกต่างกันไป ซึ่งปุถุชนจะแบ่งออกกว้างจัดๆได้เป็นสามประเภทหลัก คือ...(ขออนุญาตเขียนตัวเลขเป็นการสะกดคำแทน เผื่อท่านใดใช้เอไออ่าน มันจะได้อ่านให้ท่านฟังได้ถูกต้องนะครับ)
หนึ่ง ปุถุชนที่ใฝ่ชั่วได้ พวกนี้มักคิดเอาเปรียบผู้อื่นอยู่เสมอ และพร้อมกระทำความชั่ว ขอให้ตัวเองได้ผลประโยชน์หรือความสะใจ แม้จะรู้ว่าบาปมีจริงหรือไม่รู้ก็ตาม สอง ปุถุชนที่ใฝ่ชั่วได้บ้างใฝ่ดีได้บ้างตามแต่ขณะสถานการณ์หรือเงื่อนไขและการตอบสนองต่อเงื่อนไขนั้นๆในจริตของตนจะนำไป
และ สาม ปุถุชนที่ใฝ่ดีได้ พวกนี้มักคิดและกระทำการให้ประโยชน์ต่อบุคคลรอบข้างอยู่เสมอ พร้อมกระทำความดี ขอให้ตัวเองได้ความสุขใจ ปีติใจ แม้จะรู้ว่าบุญมีจริงหรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่ง "พระโพธิสัตว์ที่เป็นมนุษย์" สามารถเป็นหนึ่งในประเภทย่อยของปุถุชนทั้งสามประเภทได้
ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่สิบเอ็ด จักกวัตติสูตร} พระสุตตันตปิฎก เล่มที่สาม ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค และคัมภีร์อรรถกถา (สโมทานกถาและเถรคาถา บท ปรมัตถทีปนี ที่เขียนโดยพระธรรมบาล) ระบุไว้ตรงกันว่า พระโพธิสัตว์แปลว่า สัตว์ผู้วนเวียนอยู่เพื่อการตรัสรู้ ซึ่งคำว่าพระโพธิสัตว์ ใช้กับผู้ที่มีหมุดหมายทางจิตวิญญาณเป็นการตรัสรู้เท่านั้น ในคติพุทธต้นฉบับ พระโพธิสัตว์สามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่พระโพธิสัตว์บางคนก็บรรลุธรรมเสียก่อน เลยกลายเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็มี
กล่าวในคำจำกัดความของปุถุชนก็คือ พระโพธิสัตว์ที่เป็นมนุษย์ อยู่ในSubSecของปุถุชนนั่นเอง เพราะพระโพธิสัตว์ยังมีกิเลสอยู่ เหมือนปุถุชน แต่กิเลสของพระโพธิสัตว์เป็นกิเลสจากความปรารถนาในพุทธภูมิ คือ ความอยากเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือ ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่ากับว่าฉันทะยังอยู่(ยังมีความอยากอยู่) แม้จะเป็นความอยากในด้านดี ก็ถือว่าเป็นความอยากทั้งสิ้น ดังนั้น พระโพธิสัตว์ที่เป็นมนุษย์ จึงยังอยู่ในหมวดหมู่ปุถุชนประเภทหนึ่ง
นอกจากนี้พระโพธิสัตว์อาจมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องไปตกอยู่ในทุคติ วินิบาต นรก ได้ตามเหตุปัจจัย เช่น ชาติหนึ่ง ทำความดีช่วยเหลือสรรพสัตว์มาตลอดตามสโมธาน8และบารมี6 รวมทั้งปณิธาน4 แต่มีเหตุให้ล้มละลายไม่มีเงินดูแลแม่ที่ป่วยหนักมากจนเป็นภาระกดดันให้ยอมทำบาปในอาชีพพนันออนไลน์หลอกคนมาลงทุนเป็นล้าน หรือ เคยช่วยเหลือสรรพสัตว์ไว้มากในชาติหนึ่ง แต่ก่อนตายดันถูกเกณฑ์ไปรบ แล้วฆ่าศัตรูตายไปเป็นจำนวนมาก พอเกิดชาติใหม่ก็ได้ไปเกิดในตระกูลต่ำ เป็นอันธพาล แล้วตีรันฟันแทงฆ่าคนตายเป็นว่าเล่น พอตายไปก็ลงนรก
จะเห็นได้ว่าพระโพธิสัตว์ยังมีความยึดถือในหัวจิตหัวใจตัวตนอัตตาของตัวเองอยู่ ทำให้สามารถโดนกิเลส-ฉันทะมาหลอกล่อให้หลงกระทำความผิดบาปได้เสมอ นอกจากนี้พระโพธิสัตว์อาจจะต้องไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์ในตระกูลอันแตกต่าง ขึ้นอยู่กับผลกรรมจากการพลั้งก่อบาปที่พระโพธิสัตว์บางคนได้กระทำไว้ในแต่ละชาติ
ส่วนพระโพธิสัตว์ที่มีสถานะเป็นเทพเจ้าหรือเทวดา ก็มีอยู่หลายพระองค์ ส่วนมากแล้วพระโพธิสัตว์ที่เป็นเทพเทวาจะถูกนับถือกันมากในนิกายมหายาน ซึ่งในมหายานจะเน้นว่าพระโพธิสัตว์คือผู้ที่ตั้งปณิธานสี่และบารมีหก โดยที่ไม่ต้องมีบารมีสิบก็ย่อมบรรลุพุทธภูมิได้ เป็นอุบายแห่งพระธรรมที่จะดึงเวไนยสัตว์มหาชนให้หันมาสนใจในพระรัตนตรัยนั่นเอง ตรงกับคำว่าจริตใคร จริตมัน
ลักษณะเด่นของพระโพธิสัตว์ที่เป็นเทพ คือมักจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นพระโพธิสัตว์ แตกต่างจากพระโพธิสัตว์ที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือมนุษย์ ที่บ้างรู้ บ้างไม่รู้ เมื่อพระโพธิสัตว์ที่เป็นเทพรู้ตัวว่าเป็นโพธิสัตว์ ปรารถนาอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเพื่อที่จะได้เป็นพระสัมมาพุทธเจ้าหรือพระปัจจเจกพุทธเจ้าในอนาคต ก็จะมีความวิริยะพยายามและมีมหาเมตตากรุณาที่จะพาส่ำสัตว์ทั้งโลกให้ขึ้นยานลำมหึมาไปสู่นิพพานด้วยกันให้ได้ ดังนั้น พระโพธิสัตว์ที่เป็นเทพจึงไม่สนใจอุเบกขาบารมี หรือการวางเฉย
ข้อดีของการตั้งปณิธานขั้นสุดยอดที่จะพาส่ำสัตว์ให้ข้ามสะพานโอฆะสังสารวัฏจนพ้นทุกข์ ก็คือจะเข้าถึงความมหาเมตา อภิกุศลใหญ่มโหฬาริก แต่ข้อเสียคือถ้าตั้งจิตไม่แน่ว ก็อาจจะเผลอพลั้งทำให้ตัวเองเวียนว่ายตายเกิดไม่จบไม่สิ้นนับมหาอนันตาสงไขย เพราะการจะช่วยสัตว์ทุกตนให้พ้นทุกข์ไปสู่พระนฤพานนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากสัตว์ในเหล่าโลกมีจำนวนมากเป็นอนันต์ และโลกธาตุก็มีเป็นอนันต์ การจะช่วยสรรพสัตว์ให้หมดทุกผู้ตนจึงเป็นไปด้วยความยาก ต้องใช้เวลามากนับอสงไขย
แต่การมีมหาเมตตาจนเกินประมาณแล้ววางอุเบกขาให้เป็น จะทำให้โพธิสัตว์สามารถเปลี่ยนจากโพธิสัตว์เป็นพระอริยบุคคล(โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีและอรหันต์แบบพระพุทธเจ้าและแบบไม่ใช่พระพุทธเจ้า)ได้ โดยที่ความเมตตาจนเกินประมาณนั้นก็ยังอยู่ แถมยังปรับเปลี่ยนเป็นการเผยแผ่ปัญญาธรรมให้มหาชนในโลกหล้าแทน เป็นหลักการแบบพุทธดั้งเดิมคือช่วยสรรพสัตว์ที่ช่วยได้ ถ้าสรรพสัตว์ใดช่วยไม่ได้ ให้วางอุเบกขาเสีย หากสรรพสัตว์นั้นสนใจยอมให้ช่วย หรืออยู่ในสภาวะที่เข้าช่วยเหลือได้แล้วเท่านั้น พระอริยบุคคลจึงจะยอมช่วยตามเหตุปัจจัย
อีกอย่างหนึ่ง สภาวะอริยบุคคล หรือ ผู้บรรลุธรรมแล้ว ไม่สามารถระงับยับยั้งถอนคืนได้เพราะเป็นธรรมชาติ เปรียบดั่งยอดฟักทองที่ทอดออกมาแล้วหดยอดกลับไม่ได้ฉันใดก็ฉันนั้น
ในตอนหน้า ผู้เขียนจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพระอริยบุคคล ว่าคืออะไร มีกี่ประเภท ต้องทำอย่างไรจึงจะได้เป็นพระอริยบุคคล รวมทั้งอธิบายเกร็ดเสริมเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ให้กับทุกท่านได้เป็นวิทยาทานครับผม
โฆษณา