13 พ.ค. เวลา 09:56 • ข่าว

เปิดทางธุรกิจหารือ "กัญชา" เคาะแนวทางปลูก ผลิต จำหน่าย ส่งออก

จากกรณีนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้นำ "กัญชา" กลับไปเป็นยาเสพติด ขณะที่เครือข่ายอนาคตกัญชาประเทศไทยออกมาแสดงความไม่เห้นด้วยว่า ไม่ควรกลับเป็นยาเสพติด แต่ควรออก พ.ร.บ.มาควบคุมแทน
โดยจะมีการชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุขวันที่ 16 พ.ค.นี้ เพื่อขอให้กระทรวงฯ ทำข้อมูลเปรียบเทียบผลดีผลเสียระหว่างกัญชา บุหรี่ และเหล้า หากไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจะมีการปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องอยากให้เอาข้อมูลของเหล้า บุหรี่ มาเปรียบเทียบกัญชานั้น สสส.ก็รณรงค์เรื่องของเลิกเหล้า บุหรี่ และหวยอย่างเต็มที่ แต่กัญชายังไม่มีเพราะกัญชามาใหม่ เราก็ต้องคิดว่า เราไม่อยากให้ตัวเลขพุ่งขึ้น
จากข้อมูลพบว่า กรณีเด็กและเยาวชน 17-18 ปี เสพเพิ่มขึ้น 10 เท่า ข้อมูลสหรัฐอเมริกา พบว่าทำให้ไอคิวลดลง 8-9 จุด ถ้าเราไม่สร้างภูมิคุ้มกันเรื่องสิ่งเสพติดให้แข็งแรงแล้วหยุดไม่อยู่ก็จะเป็นสิ่งที่เสียหาย บางส่วนบางวัยกัญชาอาจมีประโยชน์ เราสามารถแบ่งขีดเส้นได้ตามแนวนโยบายรัฐบาล
"เราจะใช้เป็น Soft Drug หรือยาเสพติดแบบอ่อน เราสามารถทำได้ ผู้คนที่ทำธุรกิจตรงนี้มาคุยกันได้ เรายินดี เพราะการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2565 เรามีเป้าหมายว่าต้องปรับให้เป็นปัจจุบัน โดยมีการกำหนดพืชหลายชนิดที่เป็น Soft Drug เช่น เห็ดขี้ควาย พืชฝิ่น และสารสกัดกัญชาที่มี THC มากกว่า 0.2% ที่เป็นเรื่องความเข้มข้นก็วัดยาก ก็ต้องปรับตามแนวทาง" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องมารักษาผลประโยชน์ตัวเอง ต้องมามาคุยกัน โดยจะทำกฎกระทรวงเรื่องการอนุญาตต่างๆ เช่น ปลูก ผลิต นำเข้าส่งออกจำหน่าย มีไว้ในครอบครอง แปรรูป อะไรที่เรารับได้ก็จะเขียนไว้ในนั้น และสุดท้ายเรื่องประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 58 ที่มีให้ไว้เพื่อเสพตามคำสั่งของแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์โบราณ แพทย์พื้นบ้าน หรือเสพเพื่อวิจัย เราจะเขียนประกาศไว้ให้ แต่จะเขียนอย่างไรต้องมาคุยกัน
ถามว่ากฎกระทรวงที่จะออกหมายถึงกัญชากัญชงโดยเฉพาะเลยหรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ทำอันแรกคือประกาศ เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดตนทำไว้สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขียนยาเสพติดประเภท ที่ 1 2 3 4 คืออะไร และยาเสพติดประเภท 5 เช่น ฝิ่น และอื่นๆ ให้รัฐมนตรี สธ.ไปกำหนด วรรคนี้ก็ไปกำหนด ซึ่งวันข้างหน้าสังคมเห็นดีเห็นงามว่าไม่ควรเป็นยาเสพติด
รัฐบาลในอนาคตข้างหน้าก็อาจปรับเปลี่ยนได้ ไม่ยาก ถ้าทำเป็นกฎหมายแล้ว คิดว่ากว่าจะแก้กฎหมายใช้เวลาเป็นปี ถ้าทำเป็นประกาศ ออกกฎกระทรวง ในเรื่องของการปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก จะใช้เวลายาวนานกว่าประกาศ และสุดท้ายเรื่องของแพทย์สั่งทำนั่นนี่ได้
ถามว่า Soft Drug หมายถึงยาเสพติดประเภท 5 ใช่หรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นประเภท 5 ประเภท 6 อยากให้ประชาชนเข้าใจทั้งหมดชัดเจน ไม่ใช่เราห้ามเสียทั้งหมด แต่เราจะทำในส่วนที่ป้องกันความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้น เด็กและเยาวชนในส่วนต่างๆ เป็นแนวทางที่รัฐบาลกำหนดแล้ว
ถามว่าภาคธุรกิจอยากให้ยาเสพติดประเภท 5 แยกประเภทกัญชาและกัญชงจะเป็นไปได้หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ให้คนที่รู้ดีมาหากัน มาคุยกัน ประกาศถึงแม้จะออกได้เร็ว แต่เรื่องของกฎกระทรวงต้องใช้เวลานาน เพราะต้องเข้า ครม. แต่ประกาศไม่ต้องเข้า ครม. กัญชายังไม่มีไทม์ไลน์ แต่คิดว่าไม่ช้า เพราะประกาศออกได้เร็ว คือ การประกาศอาจจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหนอะไรอย่างไรก็อาจจะใส่ไว้ให้
ถามว่ามีข้อเสนอว่าแทนที่จะให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่กำหนดเป็นสารเสพติดแบบเหล้า บุหรี่ได้หรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า คือคนพูดพูดง่าย แต่คนฟังยากปฏิบัติยาก อย่างตนพูดก็คล้ายกัน เอาว่าสิ่งที่ใหญ่สุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้วก็สร้างเครื่องมือทำงานภาครัฐ คือ กฎหมายให้ประชาชนดำเนินการ  หลังจากนั้นแต่ละมาตราต้องมาประกาศเป็นกฎกระทรวง จากนั้นก็ออกประกาศ หลังประกาศเสร็จก็ออกระเบียบ มันไม่เร็ว แต่ต้องเดินให้ครบถ้วน แต่จะคิดว่าอีก 2 เดือนค่อยทำก็จะไม่ทันกับสิ้นปีที่นายกฯ ให้ไทม์ไลน์ไว้
ถามย้ำว่าอย่างไรกัญชาก็ต้องอยู่ในลิสต์ยาเสพติดประเภท 5 ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าตั้งใจฟังก็คืออันนั้น จะได้ไม่ต้องถามย้ำ
ถามกรณีกลุ่มม็อบที่บอกจะปักหลักชุมนุมต่อเนื่องจนกว่าจะได้คำตอบ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไรก็อยู่เป็นเพื่อนกัน ตนจะไปคุยด้วยบ่อยๆ
ถามว่ากลุ่มอนาคตกัญชาฯ มีข้อเสนอว่าไม่อยากให้กลับเป็นยาเสพติด แต่อยากให้ออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อควบคุมแทน  นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องไปคุยกัน ตนก็บอกว่าเป็นยาเสพติด แต่ว่าไม่ได้ว่าห้ามนู่นนี่นั่น แต่เรามาเขียนว่าจะเปิดอะไรให้ ขออนุญาตอย่างไร ป้องกันอะไรไว้บ้าง เป็นต้น
สำหรับเรื่องประกาศยาบ้า มีไทม์ไลน์แล้วว่าจะประชุมคณะกรรมการร่วมของกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 16 พ.ค.นี้ เมื่อประชุมเสร็จก็จะขึ้นเว็บไซต์วันที่ 17 พ.ค. เพื่อรับฟังความคิดเห็น 15 วัน ก็เป็นกระบวนการต่อที่จะเข้าที่ประชุมระดับต่างๆ เช่น เสนอ ครม. แล้วไปผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีการแก้ หรือไม่แก้อีก ก็ต้องใช้เวลา
โฆษณา