14 พ.ค. 2024 เวลา 03:05 • ประวัติศาสตร์

พัฒนาการของ Estonia สู่การเป็นประเทศดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก

เมื่อกี้ผมแวะไปคุยกับเพื่อนรุ่นน้องเรื่องพัฒนาการของประเทศเอสโตรเนียมาครับ เลยคิดถึงบทความที่ผมเขียนไว้เมื่อ 7 ปีก่อน
18 ตุลาคม 2017
(สรุปและแปลความจากบทความเรื่อง Welcome to tomorrow land ของนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ May 1, 2017)
1991 Soviet Union แตก เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลบอลติก ตรงข้ามกับฟินแลนด์ แยกออกมาและเริ่มต้นจากการประเทศที่ยากจนมาก นักเรียนได้รับเงินช่วยเหลือเพียงคนละ 10 ยูโร หรือประมาณ 10.60 ดอลล่าร์ ในตอนนั้น อย่าว่าแต่การเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือซักเครื่องหนึ่ง การเป็นเจ้าของโทรศัพท์ตั้งโต๊ะแบบมีสายก็ยากแล้ว
เอสโตเนีย หลังแยกตัวออกจากโซเวียต นำโดย Mart Laar นายกรัฐมนตรีคนแรก (อายุตอนนั้น 32) ตัดสินใจไม่พัฒนาประเทศโดยวางพื้นฐานอยู่บนอนาล็อกเหมือนที่หลายประเทศยังเป็นอยู่ในขณะนั้น โดยอาศัยการเริ่มต้นจากศูนย์ เอสโตเนียตัดสินใจกระโดดไปวางพื้นฐานของประเทศให้อยู่บนระบบออนไลน์เลย โดยสมบูรณ์ (ในขณะนั้น ประเทศอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย กำลังหาทางที่จะเปลี่ยนประเทศไปสู่การพัฒนาภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นดิจิตอล)
โดยการนำของนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อย ไม่เคยมีประสบการณ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ และไม่เคยมีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คิดแต่เพียงว่า ประเทศควรเริ่มต้นที่เทคโนโลยีที่เป็นอนาคต (ณ ขณะนั้น) ไม่ใช่เริ่มจากการใช้เทคโนโลยีเก่าที่กำลังจะล้าสมัย เพราะประเทศมีเงินจำกัด ถ้าไปใช้ของที่กำลังจะล้าสมัย ก็ต้องเสียเงินเปลี่ยนอีก
เมื่อคิดได้แบบนี้ การปฏิวัติประเทศจึงเริ่มจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมและเปิดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ในทันที และด้วยแนวคิดที่ว่าประเทศจะต้องเริ่มเดินด้วยเทคโนโลยีที่เป็นอนาคต เอสโตเนียจึงปฏิเสธการเสนอบริจาคระบบเครือข่ายโทรศัพท์แบบอนาล็อกที่เริ่มไม่ใช้แล้วในประเทศตัวเองของฟินแลนด์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนมากประเทศนี้
จากนั้น เอสโตเนียก็เริ่มวางระบบข้อมูลพื้นฐานของประชาชนโดยกำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็นเลข 11 หลักที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลดิจิตอลที่ใช้ระบุตัวตนของแต่ละคน ซึ่งตัวเลข 11 หลักนี้จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทุกกิจกรรมที่เขาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐ ตลอดทั้งชีวิต
และเพื่อสร้างความพร้อมให้ประชาชนของประเทศสามารถเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต ระบบการศึกษาของเอสโตเนียกำหนดให้เด็กเริ่มเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการเข้ารหัส (coding) ตั้งแต่ชั้นประถม หลายคน เริ่มจากชั้นอนุบาล
ด้วยการบ่มเพาะคนแบบนี้ โปรแกรมสื่อสารออนไลน์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่าง Skype และบริษัทจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับ cyber-security ที่เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วย hackers จึงถือกำเนิดขึ้นที่นี่
ปี 2000 เอสโตเนีย กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดว่าการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชน (ใช้คำว่า human right) ของประชาชนชาวเอสโตเนีย สำคัญเทียบเท่าได้กับสิทธิในการได้รับอาหารอย่างเพียงพอและการได้รับที่อยู่เพื่ออาศัย
ในปีเดียวกันนี้ รัฐสภาเอสโตเนีย ผ่านกฏหมายให้ลายเซ็นต์ดิจิตอลมีน้ำหนักเท่ากับลายเซ็นต์จากปากกา และด้วยกฏหมายฉบับนี้เพียงฉบับเดียว ก็ทำให้เอสโตเนียกลายเป็นสังคมไร้กระดาษไปในเวลาไม่นาน เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ปากกาในการเซ็นต์ชื่อ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องยื่นภาษีด้วยกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารด้วยกระดาษ ไม่จำเป็นต้องทำสัญญากู้ซื้อบ้านด้วยกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเขียนใบสั่งยาด้วยกระดาษ จะยังมียกเว้นก็เพียงแต่ใบทะเบียนสมรสกับใบหย่าเท่านั้น
Taavi Roivas อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 37 ปี ที่ดำรงตำแหน่งในช่วง 2014 – 2016 กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาลงชื่อด้วยการใช้ปากกาเพียงครั้งเดียว คือการเซ็นต์ชื่อในสมุดเยี่ยม เขาบอกว่า ในทางทฤษฎี รัฐบาลสามารถส่งทหารไปรบได้ด้วยคำสั่งออนไลน์
การตั้งบริษัทใช้กระบวนการเพียง 20 นาที ทั้งหมดทำบนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปเจอเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องไปเจอเจ้าหน้าที่สรรพากร ไม่จำเป็นต้องไปเจอเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ทั้งหมดอยู่บนออนไลน์
ไม่ต้องพูดถึงการเสียภาษีที่ทั้งหมดทำบนออนไลน์มานานแล้วเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกลิงค์เข้าหากันบนออนไลน์
แม้แต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ทำบนออนไลน์ เอสโตเนียเป็นประเทศแรกของโลกที่ลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ เคยมีนักวิจัยของ M.I.T. วิพากษ์ว่าง่ายต่อการถูกเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความต้องการของคนที่แฮกเข้าไปในระบบได้ แต่รัฐบาลเอสโตเนียแสดงความมั่นใจว่าระบบการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ของประเทศปลอดภัยกว่าการใช้กระดาษ
ด้วยความก้าวหน้าจากการวางรากฐานประเทศให้อยู่บนฐานดิจิตอลนี้ ทำให้ปัจจุบัน เอสโตเนีย ได้ทำสัญญากับฟินแลนด์ในการแลกเปลี่ยนการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง โดย รพ ในฟินแลนด์ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของคนไข้ชาวเอสโตเนียที่ไปรักษาที่ฟินแลนด์ และเป็นเช่นเดียวกันในทางกลับกัน
ความเป็นประเทศดิจิตอลทำให้เอสโตเนียตระหนักถึงพลังของพลวัตร (dynamic) ที่ประเทศจะต้องถูกขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เอสโตเนียจึงให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่มากกว่าการยึดกรอบตามแนวทางเดินของคนรุ่นเก่า
การให้โอกาสคนรุ่นใหม่ที่ยังเป็นหนุ่มสาวจึงเกิดขึ้นในทุกระดับชั้นแม้แต่ตำแหน่งระดับสูงอย่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีก็เปิดโอกาสให้คนอายุเพียง 30 กว่าเข้ามาเป็นได้ หรือแม้แต่กฎหมายสำคัญอย่างลายเซ็นต์ดิจิตอลยังถูกร่างโดยผู้หญิงอายุ 20 ที่ยังไม่จบแม้กระทั่งระดับปริญญาตรี แต่กฎหมายฉบับนั้นกลับส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างมหาศาล และนำหน้าอีกหลายประเทศไปแล้วหลายปี
ผลจากการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศให้มีชีวิตอยู่และทำงานบนฐานเศรษฐกิจดิจิตอล ทำให้เอสโตเนียมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายบริการทางสมองของคนหนุ่มสาวให้กับประเทศอื่นๆ ในโลกเป็นจำนวนมหาศาล และได้ใช้เงินจำนวนนั้นหมุนกลับเข้าไปสร้าง tech-startups ใหม่ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และไม่สิ้นสุด
ในปี 2011 Microsoft ซื้อ Skype ที่ทำขึ้นจากกลุ่มคนไม่กี่คนในเอสโตเนีย ในมูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 300,000 ล้านบาท เท่ากับเรือดำน้ำที่ไทยจะซื้อจากจีนประมาณ 25 ลำ หรือเท่ากับข้าวสารขาวที่ไทยส่งออกประมาณ 30 ล้านตัน - ได้จากข้าวเปลือก 45 ล้านตัน - ซึ่งชาวนา 1 ล้านคนในภาคกลาง ต้องช่วยกันทำถึง 5 ปี เป็นราคาของสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้อย่าง Skype เมื่อเทียบกับสิ่งที่จับต้องได้อย่างเรือดำน้ำและข้าว)
ด้วยเงินจำนวนมหาศาลนี้ กลุ่ม Skypers ที่ร่ำรวยก็หอบเงินแยกย้ายไปเปิดธรุกิจใหม่กันเป็นจำนวนมาก บ้างเอาไปตั้งบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ส่งอาหารส่งขายทั่วยุโรป บ้างเอาไปตั้งกองทุน venture capital เพื่อลงทุนใน startups อื่นที่น่าสนใจ บ้างเอาไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยใน cyber หรือแม้แต่เอาไปตั้งบริษัทรับทำธุรกรรมทางการเงิน เกิด multiplier effect จำนวนมหาศาล
แต่ทางเดินไม่ได้ปูด้วยพรมเสมอไป ในปี 2007 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อรัฐบาลเอสโตเนียตัดสินใจย้ายอนุสาวรีย์ทหารรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สองออกจากกลางกรุง Tallinn เมืองหลวงของเอสโตเนียไปไว้ใกล้กับสุสานสงคราม ทำให้กลุ่มที่ยังจงรักภักดีกับรัสเซียไม่พอใจและก่อจราจลขึ้นทั่วเมืองหลวง การจราจลขยายวงไปเป็นการเผาทำลาย ประเทศทั้งประเทศตกอยู่ในสภาวะ off-line ทันที เป็นการโจมตีระบบ (denial-of-service) ที่กระจายและใหญ่สุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเอสโตเนีย
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เอสโตเนียทั้งประเทศตระหนักได้ว่า ประเทศของพวกเขาแขวนอยู่บนออนไลน์ โดยสมบูรณ์
หลังจากกู้ข้อมูลมาได้แล้ว เอสโตเนียตระหนักได้ทันทีว่า การสำรองข้อมูลไว้นอกประเทศสำคัญแค่ไหน เอสโตเนียจึงเจรจากับรัฐบาลลักเซมเบอร์กเพื่อขอตั้งศูนย์ข้อมูลสำรองที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลสำรองของเอสโตเนียไว้ทั้งประเทศในแผ่นดินลักเซมเบอร์ก โดยบริเวณที่เป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลนี้จะมีอำนาจอธิปไตยเทียบเท่ากับสถานทูตของประเทศเอสโตเนียเลย ถือเป็น e-diplomacy แห่งแรกของโลก
และหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ทั้งประเทศต้องตกอยู่ในสภาวะ off-line ทั้งประเทศอีก ทันทีที่ทุกอย่างกลับมาพร้อม ประเทศทั้งประเทศจะสามารถถูกรีบูทจากศูนย์ข้อมูลในลักเซมเบอร์กให้กลับมาอยุ่ในสถานะเดิมได้เพียงในเวลาไม่กี่นาที ด้วยวิธีการนี้ การถูกโจมตีจากภายนอกระบบจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอีกต่อไป
แต่ความกังวลเรื่องเสถียรภาพของระบบและข้อมูลยังเหลืออีก 1 เรื่อง สิ่งนั้นคือ การโจมตีจากภายในระบบ โดย hackers
ในที่สุด เอสโตเนียก็หาทางออกได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า blockchain เทคโนโลยีที่เป็น foundation ให้กับสกุลเงินดิจิตอลในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีนี้จะไม่มีใครสามารถเข้าไปลบหรือไปเขียนข้อมูลใหม่ทับขอมูลเดิมได้ เมื่อบวกกับการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเอสโตเนียต้องใช้การยันยันตัวตนถึงสองขั้นตอน ความปลอดภัยของระบบจึงถูกยกขึ้นสู่ระดับสูงมากทันที
และผลจากการพัฒนาเทคโนโลยี blockchain เพื่อความปลอดภัยของประเทศ บริษัทของเอสโตเนียเช่น Guardtime ซึ่งมีพนักงานเพียงแค่ประมาณ 150 คนได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ blockchain ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีลูกค้ารายใหญ่เช่น กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ
ในขณะที่บริษัทเช่น Funderbeam ได้ใช้เทคโนโลยีที่ถูกเรียกว่า colored-coin technology ที่พัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี blockchain อีกทีหนึ่งในการติดตามธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน ด้วยเทคโนโลยีนี้ ความจำเป็นในการมีบริษัทโบรกเกอร์และ clearing agents ในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็หายไป
นอกจากนี้ เทคโนโลยี blockchain ยังถูกนำไปใช้ในด้านอื่นๆ อีกกว้างขวาง Toomas Hendrik Ilves อดีตประธานาธิบดีเอสโตเนีย เชื้อสาย เอสโตเนีย – อเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วง 2006 – 2016 ถึงกับกล่าวว่า อีกหลายปีกว่าที่สหรัฐอเมริกาจะสร้างสถาปัตยกรรม blockchain ของระบบได้เทียบเท่ากับของเอสโตเนียในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณภาพของประชากรชาวเอสโตเนียจะถูกพัฒนาขึ้นมาจนเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก แต่ในที่สุด เอสโตเนียก็ได้ก้าวมาถึงข้อจำกัดที่สำคัญที่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตได้เร็วกว่านี้ สิ่งนั้นคือ จำนวนประชากร
ในขณะที่ผู้หญิงเอสโตเนียให้กำเนิดลูกน้อย และเอสโตเนียก็ไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่จะอพยพหรือย้ายเข้ามาอยู่เหมือนประเทศในยุโรปอื่น ทำให้การเพิ่มประชากรในประเทศเป็นไปได้ยากมาก เมื่อเจอปัญหานี้ Taavi Kotka วิศวกรและผู้ประกอบการวัย 38 ปี (เมื่อปี 2017) ได้ผลุดไอเดียที่ยากที่จะมีใครคิดว่าจะมีไอเดียแบบนี้เกิดขึ้นมาได้เมื่อครั้งเค้าดำรงตำแหน่ง chief information officer ของรัฐบาลในปี 2013 (อายุ 34 ปี ในตอนนั้น)
ไอเดียดังกล่าวคือ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ในโลกนี้สมัครเข้ามาเป็น e-resident หรือประชาชนอิเลคทรอนิคส์ของเอสโตเนีย โดยไม่ต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเอสโตเนีย โครงการนี้เริ่มต้นรับประชากรอิเลคทรอนิคส์คนแรกในปี 2014
เช่นเดียวกับประชาชนชาวเอสโตเนียที่อยู่ในดินแดนเอสโตเนียโดยทั่วไป e-resident ทั้งหลายจะได้ digital ID card โดยเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาล 145 euro (ประมาณ 154 USD) และมีสิทธิจดทะเบียนบริษัทในเอสโตเนีย ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิในการเข้าสู่ EU เช่นเดียวกันกับประชาชนและบริษัทเอสโตเนียปกติในทันที จะต่างกันตรงที่ว่า e-resident ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้ทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐบาล แต่พวกเขาก็ไม่ต้องจ่ายภาษี เป็นการแลกกัน
แต่ถึงแม้จะไม่ต้องจ่ายภาษีก็มีการประมาณกันว่า ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนโดย e-resident เหล่านี้จะต้องจ่ายเงินเข้าเอสโตเนียเป็นค่าทำบัญชีและการบริหารสำนักงานในเอสโตเนียประมาณเดือนละ 55 euro หรือปีละ 660 euro ต่อปี มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้มี e-resident 10 ล้านราย และให้แต่ละรายจ่ายเงินเข้าเอสโตเนียเดือนละ 100 euro
ถ้าเป้าหมายนี้เป็นจริง รัฐบาลเอสโตเนียอาจไม่ต้องเรียกเก็บภาษีจากประชาชน 1.3 ล้านคนของตนเองอีกต่อไป (โดยไม่ต้องอาศัยการขุดเอาทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ในประเทศของตัวเองออกไปขายแลกเงินเลยแม้แต่นิดเดียว)
นอกจากรายได้ที่จะได้จาก e-resident แล้ว ผลจากการวางระบบของภาครัฐไว้บนเทคโนโลยี blockchain ที่ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ในทางทฤษฎี รัฐบาลเอสโตเนียสามารถสร้างธุรกิจขนาดมหึมาขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า precision medicine ได้ โดย precision medicine คือการเจาะข้อมูลเข้าไปให้ลึกถึงระดับ genome ของประชากรแต่ละคนให้ครบ 1.3 ล้านคน
เมื่อสามารถวินิจฉัยโรคได้ลึกถึงระดับยีนในเซลล์ของคนไข้แต่ละคน การออกแบบยาให้เหมาะกับเฉพาะบุคคลนั้น (precision) ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้และขยายวงออกไปให้บริการกับส่วนอื่นของโลก ธุรกิจนี้ก็จะเป็นแหล่งรายได้ขนาดมหึมาอีกแหล่งหนึ่งของรัฐบาลเอสโตเนีย
หากสำเร็จ รัฐบาลเอสโตเนีย ที่ปัจจุบันได้หลุดพ้นจากให้บริการภาครัฐในรูปแบบการบริหารราชการที่เต็มไปด้วยขั้นตอนและพิธีรีตองจนกลายเป็นระบบที่ถ่วงความก้าวหน้าของประเทศอย่างเช่นที่หลายประเทศยังเป็นอยู่แล้ว ก็จะยังกลายเป็นหน่วยหารายได้เข้าประเทศไปในทันที
ในประเทศอื่น คนเกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และระบบที่ซับซ้อน เทอะทะ อืดอาด ที่รัฐได้วางไว้จนยากที่จะมีใครมาทลายลงได้ แต่ในเอสโตเนีย คนที่เกิดมาหลังยุคโซเวียด เกิดมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่รัฐบาลและคนที่เกิดมาก่อน ได้ช่วยกันสร้างไว้เพื่ออนาคตอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ทิ้งร่องรอยของเก่าไว้ให้ต้องเหนื่อยแรงมาทำลาย พวกเค้าเริ่มต้นจากสิ่งใหม่เลย
กรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตรเนีย
โฆษณา