Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
•
ติดตาม
14 พ.ค. เวลา 03:11 • สุขภาพ
เรื่อง โรคเริม (Herpes simplex)
บทความโดย รศ. ดร. พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ ศ. พญ. วรัญญา บุญชัย รศ. ดร. นพ. สุขุม เจียมตน ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคเริมคืออะไร ?
คือโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มีชื่อว่า Herpes simplex virus การได้รับเชื้อไวรัสครั้งแรก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดเป็นโรคเริมครั้งแรกหลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะเข้าสะสมในปมเส้นประสาท และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เชื้อจะเคลื่อนจากปมประสาทมาตามเส้นประสาทจนถึงปลายประสาทและเกิดโรคซ้ำที่ผิวหนังหรือเยื่อบุ การเกิดโรคพบได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ที่ริมฝีปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ
อาการของโรคเริมเป็นอย่างไร ?
โรคเริมที่เป็นครั้งแรก จะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ ส่วนมากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ถ้ามี อาการจะรุนแรง พบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำ แตกเป็นแผลตื้นๆ มักมีอาการเจ็บ ปวดแสบร้อน แผลจะค่อยๆแห้งตกสะเก็ดและหายในระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ อาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้
เริมสามารถเป็นซ้ำได้ โดยอาการจะน้อยกว่า ตุ่มน้ำจะมีขนาดเล็กกว่า จำนวนตุ่มน้ำน้อยกว่าการเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการนำ เช่น อาการคัน แสบร้อนบริเวณที่จะเป็น ต่อมาจะมีกลุ่มของตุ่มน้ำเกิดขึ้น ในตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม การเป็นซ้ำมักไม่มีอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ร่วมด้วย
ปัจจัยใดสามารถกระตุ้นทำให้เริมเกิดเป็นซ้ำ
- ความเครียด
- แสงแดดที่มาก
- รอยถลอกขีดข่วน
- การเจ็บป่วยจากโรคอื่น
- การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์
- การผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท
การรักษาและการปฏิบัติตัวผู้ป่วยโรคเริม
- โรคส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะเริมที่กลับเป็นซ้ำ การรับประทานยาต้านไวรัสเร็วภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการนำ จะสามารถลดระยะเวลาการเกิดโรค ลดการแพร่เชื้อ และลดระยะเวลาเจ็บปวดได้
- เนื่องจากยามีผลข้างเคียงต่อไต รวมถึงต้องมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการเพื่อพิจารณาเรื่องยาต้านไวรัส
- ยาต้านไวรัส ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในปมประสาทได้
- การทายาต้านไวรัสมีประโยชน์น้อยโดยเฉพาะรอยโรคที่อวัยวะเพศ
- ในการติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย ถ้ามีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลบรรเทาไข้
- การดูแลแผลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนและป้องกันการเกิดแผลเป็นหลังการเกิดโรค
- ถ้ามีแผลในปาก แนะนำรักษาความสะอาดช่องปาก ใช้น้ำเกลือกลั้วปากบ่อยๆ
- ใช้ผ้ากิอซชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุกประคบทำความสะอาดแผลที่ผิวหนัง
- ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองและแผลเป็น
-ในช่วงที่เป็นโรค ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
การป้องกันเริมกลับเป็นซ้ำ
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เริมเกิดเป็นซ้ำ
- ถ้าเริมเป็นซ้ำบ่อยมากกว่า 6 ครั้งต่อปีหรือเริมที่เป็นซ้ำอาการรุนแรง หรือ การเป็นซ้ำมีผลลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันเพื่อลดจำนวนครั้งของการเป็นเริมซ้ำ
การป้องกันการแพร่เชื้อของโรคเริม
- ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้ผู้อื่นคือ ตั้งแต่ เริ่มมีอาการนำจนกระทั่งแผลหายตกสะเก็ด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่อวัยวะเพศ สามารถแพร่เชื้อให้คู่นอนได้ จึงควรงดเพศสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มมี
- เนื่องจากโรคเริมสามารถแพร่เชื้อสู่คู่นอนได้แม้ผู้ป่วยไม่มีอาการจึงแนะนำให้ใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- การรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันสามารถลดการแพร่เชื้อได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยา
โรคผิวหนัง
ศิริราช
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย