14 พ.ค. เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์

ประวัติสะพานข้ามแม่น้ำแคว ตอนที่ 2 สะพานโครงสร้างเหล็ก ที่เห็นในปัจจุบันนั้นสร้างมาอย่างไร

การสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควตอนที่ 2 สะพานเหล็กขั้นตอนการก่อสร้างและประวัติเป็นมาอย่างไร
สะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควใหญ่ที่มีโครงสร้างเหล็กและเสาสะพานตอม่อปูนนั้นมีประวัติการสร้างที่น่าสนใจ
แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าสะพานเหล็กและสะพานไม้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันก่อนครับ
สะพานเหล็ก
ข้อดี
1.แข็งแรง คงทน
2.รับน้ำหนักได้มาก
3.การบำรุงรักษาน้อยกว่าสะพานไม้
ข้อเสีย
1.ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน
2.ต้องมีเครื่องมือและกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ
3.หากพังเสียหาย(จากการทิ้งระเบิดหรืออื่นๆ) ต้องใช้ระยะเวลานานในการซ่อมแซม
ส่วนสะพานทางรถไฟที่ทำจากไม้
ข้อดี
1.สร้างได้รวดเร็ว
2.ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูง วัสดุอุปกรณ์หาง่าย
3.เมื่อถูกทิ้งระเบิดทำลายสามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ในเวลาไม่นาน (เคยพบข้อมูลว่าในช่วงท้ายสงคราม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ทำการตอกยึดสะพานไม้เข้าด้วยกัน แต่ไม่ได้แน่นหนามากนัก ทำเพียงพอสำหรับน้ำหนักรถไฟวิ่งผ่านเท่านั้น ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อป้องกันความเสียหายของตัววัสดุที่สร้างสะพานจากการทิ้งระเบิด
กล่าวคือ หากมีการทิ้งระเบิดใส่สะพานไม้ แรงระเบิดจะทำลายตัวสะพาน ทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นไม้ที่ประกอบกันอยู่หลุดออกจากกันเท่านั้นแต่ไม่ทำลายชิ้นส่วนวัสดุต่างๆ
ทหารญี่ปุ่นจะให้แรงงานตามเก็บชิ้นส่วนไม้ที่กระเด็นออกไปด้วยแรงระเบิด กลับมาประกอบกันใหม่ จึงทำให้ไม่ต้องหาวัสดุมาสร้างใหม่และประหยัดเวลา เคยพบข้อมูลว่าไม่เกิน 5 วันก็ซ่อมเสร็จครับสำหรับสะพานไม้)
ส่วนข้อเสียคือ
1.เสียหายง่ายกว่าสะพานปูน น้ำป่าสามารถพัดสะพานพังเสียหายได้
2.ต้องการการดูแลอยู่บ่อยๆ
เหตุผลที่ทำไมสะพานข้ามแม่น้ำแควจึงต้องสร้างสะพานไม้และสะพานเหล็ก ทำไมไม่มีสะพานไม้หรือสะพานปูนไปอย่างใดอย่างหนึ่ง?
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนมีฝนตกชุกในช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม
ในพื้นที่กาญจนบุรีจะมีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากอยู่เป็นประจำ กล่าวกันว่า ในชั่วข้ามคืนน้ำในแม่น้ำสามารถมีระดับสูงขึ้นมาได้เกือบ 10 เมตร
และน้ำมีการไหลแรงและเชี่ยวกราก พัดเอาท่อนซุง ตอไม้ รากไม้ ตามมาด้วย
สะพานไม้ที่สร้างอยู่บริเวณท่ามะขาม หรือสะพานข้ามแม่น้ำแควนั้นจึงไม่ปลอดภัยนัก หากเจอกับมวลน้ำป่าในลักษณะนี้
เพราะอย่างที่กล่าวไป น้ำป่าจะพัดเอา ตอไม้ รากไม้ กอไผ่ ท่อนซุง กอหญ้า และอื่นๆมาติดกับเสาสะพานทางรถไฟที่เป็นไม้
หากไม่มีการกำจัดเศษต่างๆที่ลอยมาติดกองกันที่สะพาน ก็จะทำให้ตัวสะพานกลายเป็นเขื่อนขนาดย่อมๆ และตัวเสาสะพานต้องรับแรงปะทะจากกระแสน้ำมากขึ้น และในท้ายสุดสะพานนั้นพังลง
วิธีที่แก้ไขคือ การสร้างสะพานเสาปูนและโครงสร้างสะพานด้านบนเป็นเหล็ก
แน่นอนสะพานโครงสร้างปูนและเหล็กมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเมื่อเทียบกับสะพานไม้
สะพานเหล็กจึงค่อนข้างปลอดภัยและเมื่อเจอกับภัยน้ำป่า
แต่ปัญหาคือการสร้างสะพานโครงสร้างปูนและเหล็กมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลานาน
การสงครามนั้นรอช้าไม่ได้ เมื่อสะพานเหล็กใช้เวลาสร้างนาน จึงมีการสร้างสะพานไม้เพื่อลำเลียงสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปให้ได้ก่อน เพื่อความรวดเร็วและสะดวก
นี้คือเหตุผลว่าทำไมต้องสร้างสะพานไม้ และก็มีการสร้างสะพานเหล็กอีกสะพาน
จากที่กล่าวมาสะพานเหล็กและเสาปูนต้องมีเทคนิคกรรมวิธีในการก่อสร้าง ตลอดจนเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน และระยะเวลาในการก่อสร้างที่มากกว่า
โครงสร้างสะพานเหล็กนั้นถูกนำมาจากเกาะชวา ล่าสุดผมพบหลักฐานการบันทึก ที่เป็นภาพวาดของสะพานข้ามแม่น้ำแคว โดย Willem Frederik Brinks เชลยศึกชาวเนเธอแลนด์ ที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายนี้
ภาพวาดสะพานข้ามแม่น้ำแควของ Willem Frederik
เขาวาดภาพสะพานข้ามแม่น้ำแคว และเขียนข้อความด้านล่างว่า Spoorbrug van Madioen bij Tarmakan (22) W F Brinks. 25/6/43
แปลได้ว่า สะพานจากเมือง Madioen ที่ท่ามะขาม (22) ลงชื่อ Willem Frederik Brinks ลงวันที่ 25 มิ.ย.1943
ด้านหลังของภาพวาด มีคำกล่าวอ้างว่ามีข้อความเขียนว่า Door de Jappen weggevoerde reservebrug uit Madioen (Java). Door P.O.W.'s gelegd over de rivier bij Tamarkam - 1943. Later gebombardeerd -1944/5".
สะพานสำรองที่เมือง Madioen ที่เกาะชวา ถูกฝ่ายญี่ปุ่นยึดมา และถูกนำมาสร้างสะพานที่ท่ามะขามโดยแรงงานเชลยศึกในปี 1943 และภายหลังถูกทิ้งระเบิดในปี 1944
หากยึดตามข้อมูลนี้เข้าใจได้ว่า มีการนำสะพานสำรองที่เมือง Madiun หรือ Madioen ที่หมู่เกาะชวามาใช้เป็นโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
โดยมีการแยกชิ้นส่วนเหล่านี้แล้วขนมาทางเรือ เข้าสู่ปากแม่น้ำแม่กลองแล้ววิ่งทวนน้ำจนไปถึงท่ามะขาม (เมื่อหาข้อมูลที่เมือง Maduin ในอดีตเคยมีโครงสร้างสะพานโค้งแบบเดียวกับสะพานที่ท่ามะขาม อยู่หลายสะพาน และมีบางสะพานที่มีการรื้อโครงสร้างสะพานออกไปแล้วคาดว่าจะถูกรื้อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกส่งมาที่ไทย และอย่างที่ข้อมูลของเชลยศึกได้กล่าวไว้ว่ามีการนำเอาสะพานสำรองที่ยังไม่ได้ติดตั้งบางส่วนมาใช้ในการก่อสร้สงสะพานที่ท่ามะขาม)
ภาพการก่อสร้างสะพาน
ทหารญี่ปุ่นจากกองร้อยที่ 5 กองพันที่ 3 กรมทหารรถไฟที่ 9  ร่วมกับหน่วยทหารญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสะพาน เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ โดยแรงงานเชลยศึกก็ถูกนำมาใช้แรงงานก่อสร้าง
ค่ายเชลยศึกที่เชลยศึกใช้อาศัยตลอดช่วงก่อสร้าง ก็อยู่ไม่ไกลจากสะพานครับ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่บ้านคนและที่ดินที่มีการจับจองเป็นมีเจ้าของไปหมดแล้ว
ค่ายเชลยศึกอยู่ไม่ไกลจากสะพาน
นักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ฝ่ายญี่ปุ่นตั้งค่ายเชลยศึกใกล้สถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นสะพานรถไฟ ตลอดจนชุมทางรถไฟต่างๆ ก็เพื่อที่จะกดดันไม่ให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ
กลับมาที่การก่อสร้างสะพานเหล็ก
หากยึดเอาตามหลักฐานฝ่ายตะวันตกและญี่ปุ่นจะพูดตรงกันว่าสะพานเหล็กมีการก่อสร้างในช่วงเวลาเดียวกับสะพานไม้ แต่แล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 1943
ส่วนของไทยบันทึกว่า สะพานไม้สร้างเสร็จแล้วญี่ปุ่นจึงสร้างสะพานเหล็กต่อและแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 1943
ส่วนตัวผมเองค่อนข้างเชื่อทางฝั่งตะวันตกและฝ่ายญี่ปุ่นครับ
การที่จะสร้างสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำ ญี่ปุ่นได้เริ่มจากการสำรวจและตรวจสอบคุณภาพของดินในชั้นความลึกต่างๆก่อน โดยมีการเจาะหลุมเอาดินตัวอย่างมาตรวจสอบ
หลังจากนั้นคือการสร้างฐานรากของสะพาน
ในการก่อสร้างฐานรากหรือตอม่อสะพานนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า Well foundation
โดยสร้างทำนบกั้นน้ำชั่วคราวล้อมในบริเวณที่จะสร้างตอม่อแต่ละต้น
ทำแบบไม้สำหรับเสาเข็มคอนกรีตแบบ Well foundation ซึ่งมีลักษณะเป็นปลอกท่อกลมขนาดใหญ่
หลังจากนั้นเทคอนกรีตลงไปตามแม่แบบไม้ที่ทำไว้จนปูนแข็งตัว ตัวเสาเข็มจะมีลักษณะเป็นปลอกท่อวงกลมขนาดใหญ่
ปลอกท่อเสาเข็มจะวางในตำแหน่งที่ต้องการเป็นแนวตั้ง ดินโคลนที่อยู่ใต้ตำแหน่งท่อนี้จะถูกขุดลอกออก
ในช่วงแรกของการก่อสร้างทหารญี่ปุ่นได้ให้เชลยศึกสวมใส่หมวกดำน้ำ
หมวกดำน้ำนี้จะทำจากโลหะหนาและหนัก มีช่องกระจกหนาสำหรับมองลอดผ่าน มีการต่อสายอากาศลงไปยังหมวก ซึ่งจะมีการอัดอากาศเข้าไปจากปั๊มลมที่อยู่ด้านบน
เชลยศึกชุดหนึ่งมีหน้าที่คอยดำน้ำเพื่อขุดเอาเศษโคลนและดินที่อยู่ในใต้เสาเข็มแบบท่อขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่น่ากลัวและอันตราย
เชลยศึกที่ทำงานนี้ก็เกิดความกดดัน กลัวและเครียดตลอดเวลาในสภาพทำงานใต้น้ำและความมืด ตลอดจนการต้องตั้งตัวและหมวกให้ตรงอยู่ตลอดเวลา เพราะหากหมวกดำน้ำเอียง น้ำก็จะไหลเข้ามาในหมวกและพวกเขาอาจจะสำลักน้ำได้
การทำงานอันตรายถึงขนาดที่ทหารญี่ปุ่นต้องต้องเพิ่มการปันส่วนอาหารให้กับเชลยศึกกลุ่มนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
เมื่อขุดเอาดินหรือโคลนใต้ปลอกท่อเสาเข็มออกไป ตัวน้ำหนักของท่อเองก็จะค่อยๆ กดตัวปลอกท่อเสาเข็มลงไปเรื่อยๆ
เมื่อปลอกท่อเสาเข็มช่วงล่างจมลึกลงไป ปลายท่อด้านบนที่ยังโผล่อยู่ ก็จะมีการตีแบบไม้ผูกเหล็กและเทคอนกรีตต่อความสูงของท่อขึ้นไปอีก
เพื่อให้เสาเข็มแบบปลอกท่อมีความยาวเพิ่มขึ้น
กระบวนการนี้จะถูกทำซ้ำวนกันไปจนได้ความลึกที่ต้องการ
Yoshihiko Futamatsu วิศวกรในกองทัพญี่ปุ่น ต้องการให้ตัวปลอกท่อเสาเข็มจมลงไปลึก 8 เมตร
แต่ด้วยการใช้แรงงานเชลยศึกนั้นค่อนข้างช้า Futamatsu จำเป็นต้องหาเครื่องมือทุ่นแรง
ในท้ายสุด Futamatsu พบว่ามีเรือขุดลำหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพ ฝ่ายญี่ปุ่นเองจึงติดต่อกับทางการไทยเพื่อขอใช้เรือขุดลำนี้
เรือถูกนำมายังจุดก่อสร้างสะพานและถูกใช้งานในการตักเอาตะกอนดิน ทำให้งานรวดเร็วขึ้น
เมื่อตัวเสาเข็มแบบปลอกท่อมีความลึกได้ระดับที่ต้องการ ก็จะหยุดการขุด
ปลอกท่อเสาเข็มปลายท่อด้านล่างสุดจะต้องถูกเทปิดด้วยคอนกรีต
หลังจากคอนกรีตเซทตัวแห้งแล้ว ก็จะมีการขนเอาทรายและกรวดเทลงไปในปลอกท่อเสาเข็มจนเต็ม ให้ตัวเสามีน้ำหนัก
ส่วนชั้นบนสุดก็จะเทคอนกรีตปิดด้านบนอีกที ทำให้ฐานรากของสะพานเป็นท่อปูนขนาดใหญ่ที่ภายในมีทรายและกรวดอยู่ ถือเป็นการจบกระบวนการ การสร้างรากฐานเสาเข็มของตัวสะพาน
ภาพวาดแบบการก่อสร้างตอม่อสะพาน
หลังจากนั้นก็เป็นงานการสร้างเสาสะพาน มีการตั้งนั่งร้านไม้ไผ่ มีการทำแบบหล่อคอนกรีตตัวเสาสะพานซึ่งต้องตั้งอยู่บนฐานราก Foundation ตัวที่สร้างไว้ก่อนหน้า
มีการนำเอาหินเอาทรายและปูนมาผสมกัน โดยใช้โม่ปูน ในช่วงการสร้างตอม่อสะพาน
ฝ่ายญี่ปุ่นมีความต้องการปูนซีเมนต์จำนวนมาก ของที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ร้องขอผ่านกรมประสานงานพันธมิตร มายังฝ่ายไทยให้ช่วยจัดหาปูนซีเมนต์ให้กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะขอซื้อเพื่อไปใช้ในการสร้างสะพาน
แต่โรงงานปูนซีเมนต์ของไทยเองขาดแคลนยิปซั่มที่จะผลิตปูนซีเมนต์
ฝ่ายไทยจึงทำต้องขอให้ทางหน่วยบิน(ไม่ได้ระบุว่าเป็นกองทัพอากาศ เพียงระบุว่าหน่วยบินของไทย)ส่งปูนซีเมนต์ที่เก็บไว้มาให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อสร้างสะพานท่ามะขามก่อน
เสาสะพานสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือนมกราคม 1943
หลังจากนั้นก็นำเอาโครงสร้างสะพานเหล็กที่ขนมาจากเมือง Madiun เกาะชวา มาประกอบโดยใช้รอกโซ่และอุปกรณ์อื่น ๆ มาช่วยทุ่นแรงในการก่อสร้าง
ช่วงสะพานแต่ละช่วงนั้นยาวประมาณ 20.8 เมตร โดยมีทั้งหมด 11 ช่วงสะพาน
ในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนที่อยู่เลยเสาตอม่อสะพานรถไฟช่วงที่ 11 ไป จะสร้างสะพานไม้ต่อเนื่องไปอีกสักร้อยกว่าเมตรจนถึงพื้นที่ราบได้ระนาบทางรถไฟก็จะสร้างบนพื้นดินต่อไป ด้วยระยะทางรวมประมาณ 300 เมต
สะพานเหล็กแล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม 1943
หลังจากที่ฝ่ายญี่ปุ่นใช้งานทั้งสองสะพานได้แล้วสักระยะ ทางประชาชนคนพื้นที่ได้รับความยากลำบากในการสัญจรทางน้ำ เนื่องจากสะพานไม้ชั่วคราวนั้นกีดขวางการเดินเรือของชาวบ้าน ทางการไทยจึงขอเจรจากับญี่ปุ่น ให้รื้อสะพานไม้ชั่วคราวออก ทางญี่ปุ่นก็รื้อตามที่ขอในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1944
สะพานข้ามแม่น้ำแคว ในชื่อรหัสที่นักบินสหรัฐและอังกฤษเรียก คือสะพานหมายเลข 277 (ปี 1944 ลำดับและรหัสของสะพานทางรถไฟถูกจัดใหม่ สะพานเหล็กที่ข้ามแม่น้ำแควมีรหัสว่า Q654 ส่วนสะพานไม้มีรหัสว่า Q654A)
สะพานเหล่านี้ก็จะตกเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไป
โฆษณา