15 พ.ค. เวลา 01:00 • ข่าว

โต้พี้ "กัญชา" ไม่เมา พบสาร THC สูงขึ้น 5 เท่า

รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโทษของ "กัญชา" ผ่านเวทีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยกระท่อมและกัญชา ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการไลฟ์ในเฟซบุ๊กของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ว่า
ปัจจุบัน "กัญชา" ไม่ได้ถูกควบคุมเป็นยาเสพติด แต่การจะนำมาจำหน่ายผ่านรูปแบบอาหาร เครื่องอื่ม ก็ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับ อย. ซึ่งกัญชามีสาร THC และ CBD  โดยสาร THC จะมีฤทธิ์เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน ใช้แก้อาเจียน ฯลฯ แต่ทำให้เสพติดได้
สาร CBD ต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน ใช้ลดปวดได้บ้าง ทำให้สงบลดอาการวุ่นวาย ไม่มีฤทธิ์เสพติด แต่การใช้เป็นยาต้องพิจารณาสัดส่วนและความเหมาะสม เพราะ CBD มีฤทธิ์กระตุ้นอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากนำไปใช้ในกลุ่มคนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมี ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกลุ่มโรค
กัญชาที่นำไปใช้ในส่วน CBD มากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มที่ต้องการใช้นันทนาการจะเน้น THC เมื่อปลูกเพื่อให้ได้สาร THC มาก ก็จะทำให้ได้สาร CBD จะน้อยลง
ที่น่าสังเกตคือ มีผู้ที่มักพยายามบอกว่า การสูบกัญชาไม่ได้เมาขนาดนั้น ก็ต้องย้อนถามว่า สูบปีอะไร และเด็กรุ่นนี้สูบปีอะไร เพราะความเข้มข้นแตกต่างกัน
ข้อมูลในปี 1995 ความเข้มข้นของ THC อยู่ที่ 4% เฉลี่ยในตลาดสหรัฐ ปี 2014 ขึ้นมา 12% หรือ 3 เท่า และปี 2020 อยู่ถึง 20% ขึ้นมาถึง 5 เท่า
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เด็กสูบกัญชาพบว่า หัวเราะ ลงไปดิ้นกับพื้น ควบคุมตัวเองไม่ได้ เนื่องจากความเข้มข้นของ THC เพิ่มขึ้น 5 เท่า ทำให้หลอน เมา และเสพติดมากขึ้น อย่างในข่าวที่มีการลงไปตรวจสอบตามร้านขายกัญชาจะเห็นภาพความเข้มข้นสูงถึง 18-22% ซึ่งสูงมาก
อาการพิษจากกัญชานั้น รศ.นพ.สหภูมิระบุว่า
อาการที่พบแรก คือ ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แต่หากใช้นันทนาการ จะมีปัญหาทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ประสาทหลอน สับสน กระวนกระวาย  อย่างมีข่าวคนที่พี้กัญชา แล้วประสาทหลอน ทำร้ายตนเองและคนอื่น
นอกจากนี้ ยังมีอาการมึนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อเกร็ง ชัก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง เพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ
รวมถึงยังมีอีกกลุ่มที่เรียกว่า Cannabinoid hyperemesis syndrome เป็นกลุ่มที่ใช้ปริมาณมากเรื้อรังทำให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หลอดอาหารฉีกขาด ขาดน้ำและเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการเหล่านี้จะเป็นยาว 2-3 สัปดาห์ และเมื่อกินอะไรไม่ได้เลยไม่ต้องรอถึงสัปดาห์ก็เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากเริ่มมีอาการต้องรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ว่า ใช้กัญชาด้วย สิ่งสำคัญต้องหยุดใช้กัญชาก่อน ซึ่งเจอภาวะนี้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
ผลกระทบจากการใช้กัญชาไม่เหมาะสมระยะยาว พบว่า โรคทางจิต เพิ่มขึ้น 3.9 เท่า การลงมือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า การติดกัญชา 10% ถ้าเป็นวัยเรียนพบถึง 17%  ในบางประเทศกำหนดไม่ให้ใช้กัญชาอายุ 18 ปี บางประเทศกำหนดถึง 25 ปี เพราะเห็นว่า มีส่วนกระทบต่อการเรียนรู้ ความจำ เรื่องของสมอง เพราะเมื่อสแกนสมองพบว่า ผู้เสพกัญชายังสมองฝ่อ
เมื่อมีการติดตามคนที่หยุดใช้ พบว่าเริ่มดีขึ้น แต่การคิดอย่างมีเหตุผลยังไม่กลับคืน ดังนั้น เรื่องนี้สำคัญ หากความคิดที่มีเหตุมีผลใช้ไม่ได้ เด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ เรายังพบปัญหาถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 5 เท่า การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดดำ ทำให้ขาบวม ขาอักเสบ บางส่วนเกิดลิ่มเลือดอุดกันในปอด และระยะยาวยังพบว่า เกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้ด้วย
"หากประเทศไทยจะใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องทำรูปแบบเป็นขนมให้เข้าใจผิด อย่างที่ผ่านมายังมีกัญชาผสมในบราวนีเพื่อไปหลอกคนก็มี” รศ.นพ.สหภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ได้รับพิษกัญชาที่ปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยาฯ พบว่า ในปี 2561 กัญชายังเป็นยาเสพติด มีคนมาปรึกษา 64 คน
ปี 2562 มาปรึกษา 475 คน ซึ่งในช่วงปี 2562 เมื่อประกาศกัญชาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น กลับพบว่ามีการใช้น้ำมันกัญชาใต้ดิน 81.3% สูบกัญชา 9.5%  โดยใช้เดี่ยวๆ ขณะที่ใช้ร่วมกับสารอื่นมีเพียง 9.4%  ส่วนใหญ่คนใช้ไม่ตรงตามข้อบ่งชี้ และบางส่วนเสียโอกาสการรักษาตามปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งหนีไม่รักษาแพทย์แผนปัจจุบัน จนกระทั่งโรคลุกลาม
ขณะที่ครึ่งปีหลัง 2562 มีคลินิกกัญชา มีการให้ข้อมูลก็ลดลง แต่ไม่กลับเข้าภาวะเดิม ยิ่งในปี 2563 มีผู้เข้ามาปรึกษา 253 คน ลดลงจริง แต่ก็ไม่เหมือนเดิมเช่นกัน อีกทั้ง ในปี 2564 เข้ามาปรึกษาเพิ่มถึง 348 คน   และในปี 2565 เพิ่มกว่า 500 คน
ในปี 2565 พบว่า 29.2% ใช้ร่วมกับสารอื่นหรือใช้แบบคอมโบ และสูบกัญชาอย่างเดียว 46.8% ใส่อาหารและขนม 29.5% ใส่เครื่องดื่มอีก 10.6% ส่วนน้ำมันกัญชาใช้ 10.8%
เห็นได้ว่า น้ำมันกัญชาที่ทางการกำหนดใช้ทางการแพทย์กลับไม่ได้ใช้เยอะ กลายเป็นใช้อย่างอื่นมากขึ้น ตอนนี้การใช้กัญชาเพิ่มเกือบ 10 เท่าแล้ว ดังนั้น การจะใช้กัญชาทางการแพทย์ ขอให้ปรึกษาคลินิกกัญชาเท่านั้นจะปลอดภัยที่สุด
โฆษณา