16 พ.ค. เวลา 01:44 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

ในหนึ่งปีที่กาญจนบุรีมีวันรำลึกที่สำคัญเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อะไรบ้าง?

ถึงสงครามจะเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดสำหรับใครหลายคน
แต่สำหรับลูกหลานของเชลยศึกหรือแม้กระทั่งคนรุ่นหลังเอง ก็ควรจะรับรู้และจดจำว่าการเสียสละและความโหดร้ายของสงครามในอดีต จะได้ช่วยกันไม่ให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาอีก
จังหวัดกาญจนบุรีนั้นมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นได้เลือกที่จะสร้างเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์ ในการส่งกำลังบำรุงไปยังพม่า เพื่อรบกับทหารอังกฤษที่อินเดีย
เกิดเรื่องราวโศกนาฏกรรมมากมายระหว่างสงครามอย่างที่ท่านทั้งหลายคงจะพอทราบกันแล้ว
วันนี้ผมจะรวบรวมและไล่เรียงพิธีกรรมและการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จากทั้งฝ่ายเชลยศึก ฝ่ายญี่ปุ่น และกรรมกรเอเชียให้ทุกท่านได้รู้จักกัน
โดยจะไล่เรียงตามวันหรือช่วงเวลาที่จัดงานนะครับจากต้นปีสู่ปลายปี
งานที่หนึ่ง
การรำลึกถึงแรงงานที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า จัดโดยสมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่อนุสรณ์สถานไทยานุสรณ์
ไทยานุสรณ์
ไทยานุสรณ์คือ อนุสรณ์สถานที่ พลตรี อิชิดะ เอกูมะ ผู้อำนวยการงานก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 (ดูแลงานก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า) มีดำริให้สร้างขึ้น
โดยมุ่งหวังว่า เมื่อใดที่ผู้โดยสารรถไฟนั่งรถไฟผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ พวกเขาจะได้เห็นอนุสรณ์และรำลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตในช่วงสงคราม
ตามความเชื่อของฝ่ายญี่ปุ่น อนุสรณ์สถานไทยานุสรณ์นั้นเป็นที่สิงสถิตย์วิญญาณของเหล่าแรงงานทั้งกรรมกรเอเชียและเชลยศึกสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตไปในช่วงสงคราม
และในความเชื่อของฝ่ายญี่ปุ่นนั้นยังเชื่อว่าไม่มีวิญญาณของทหารญี่ปุ่นสิงสถิตย์อยู่ ณ อนุสรณ์สถานไทยานุสรณ์
เนื่องจากวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามจะต้องกลับไปสิงสถิตย์ที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
จึงถือได้ว่าอนุสรณ์สถานไทยานุสรณ์สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงแรงงานกรรมกรเอเชียและเชลยศึก และถือว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นอนุสรณ์สถานแบบถาวรแห่งแรกๆที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
การจัดพิธีรำลึกไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอนในแต่ละปี แต่ส่วนใหญ่จะจัดในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน และจะเชิญเพียงคนในสมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยเข้าร่วมเท่านั้น
ภาพการทำบุญที่อนุสรณ์สถานไทนยาสนุสรณ์
ซึ่งผมเองก็อยากไปร่วมนะครับ เคยโทรไปที่สมาคมแต่ได้คำตอบว่าผมไม่สามารถไปร่วมได้ เพราะคนที่จะไปร่วมได้ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยเท่านั้น
ถ้าเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ ผมอยากจะไปร่วมสักครั้งนะครับ ถ้าจะกรุณาให้ผมเข้าร่วมงานได้จักเป็นพระคุณอย่างสูง
งานที่ 2 วัน Anzac ของ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
พิธีวัน Anzac
ANZAC ย่อมาจาก Australian and New Zealand Army Corps. หรือกองทหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส
25 เมษายน 1915
กองกำลังAnzacและพันธมิตรชาติอื่น ได้ยกพลขึ้นบกและต่อสู้กับออตโตมัน หรือ(ตุรกี) ในสมรภูมิ Gallipoli สงครามโลกครั้งที่ 1
การรบในครั้งนั้นฝ่ายพันธมิตรและกองทหาร Anzac พ่ายแพ้และเสียชีวิตจำนวนมาก
ในประวัติศาสตร์สงครามของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไม่เคยพบว่ามีการสูญเสียชีวิตของทหารมากมายขนาดนี้
รัฐบาลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงให้วันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวัน Anzac เพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่ 1 และใช้รำลึกสำหรับทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2
และที่เสียชีวิตจากความขัดแย้งอื่นๆในภายหลังก็ใช้วันนี้เช่นกัน
โดยจะมีพิธีรำลึกที่สุสานทหารสัมพันธมิตร กาญจนบุรี และ ที่ช่องเขาขาดเพราะเป็นจุดที่เชลยศึกออสเตรเลียต้องทำงานอย่างหนักในการขุดช่องเขาหาดงิ้ว หรือช่องเขาขาด
งานที่สาม
งานรำลึกของชาวเนเธอร์แลนด์ หรือ
Nationale Herdenking 15 augustus แปลไทยได้ว่า วันรำลึกแห่งชาติ 15 สิงหาคม หรือวันรำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
วันที่รำลึก 15 สิงหาคม ของชาวดัตช์
ชาวเนเธอร์แลนด์ได้เลือกวันนี้เป็นวันรำลึกสำหรับชาวดัตช์อินเดียตะวันออก (อินโดนิเซียในอดีตเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) ที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากดินแดนชวาในอดีตเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ทำให้มีชาวเนเธอร์แลนด์(ผิวขาว) เดินทางมาพักอาศัยที่เกาะชวาเป็นจำนวนมาก มีการตั้งถิ่นฐานถาวรก็มาก
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ปิดล้อมทำลายเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเข้ายึดครองชวา
เชลยศึกชาวเนเธอร์แลนด์(ผิวขาว)จำนวนมากถูกส่งมาใช้แรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟ และชาวชวาซึ่งเป็นคนเชื้อสายเอเชียก็ถูกส่งมาให้เป็นแรงงาน บางส่วนที่มีความรู้เรื่องขับรถไฟหรืองานด้านรถไฟ ก็ถูกส่งมาให้มาทำงานด้านการเดินรถไฟ
มีเชลยศึกเนเธอร์แลนด์และชาวชวาจำนวนมากที่เสียชีวิตไปและได้รับผลกระทบ
วันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปีจึงเป็นวันรำลึกของชาวเนเธอร์แลนด์ และเป็นวันที่พระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมจำนน
มีการจัดพิธีที่สุสานทหารสัมพันธมิตร กาญจนบุรี
ปล.ชาวเนเธอร์แลนด์ สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า ชาวดัตช์ครับ
งานที่สี่
Remembrance day วันรำลึก 11 เดือน 11 ของเครือจักรภพอังกฤษ
ซึ่งถือเอาวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน เวลา 11.00 น. ปี 1918 นี้ใช้เป็นวันรำลึก
โดยวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. เป็นวันรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตไปในความขัดแย้งต่างๆทั่วโลกนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา
ที่กาญจนบุรีก็มีการจัดงานรำลึกที่สุสานทหารสัมพันธมิตรครับ
และในประเทศไทยยังมีอีกที่หนึ่ง ซึ่งมีการจัดงาน Remembrance day  เช่นกัน นั่นก็คือที่จังหวัดอุบลราชธานีครับ
กล่าวโดยย่นย่อคือ เชลยศึกสัมพันธมิตร หลังจากสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าเสร็จ
ช่วงปลายสงครามเชลยศึกประมาณ 3000 นาย ถูกส่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างสนามบินหนองไผ่
เชลยศึกได้รับความทุกข์ยากลำบาก คนอุบลราชธานีสงสารแอบเอาอาหารให้บ่อยครั้ง
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เชลยศึกทั้งหมดถูกปลดปล่อยกลับประเทศ
แต่ก็มีเชลยศึกชาวเนเธอร์แลนด์ที่ยังไม่สามารถกลับไปยังชวาได้
เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่สงบในดินแดนอินโดนิเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เชลยศึกของเนเธอร์แลนด์ชุดที่พำนักที่จังหวัดอุบลจึงได้สร้างอนุสรณ์สถานหนึ่งขึ้น
เป็นรูปทรงแท่งปูนก่อด้วยอิฐ ชื่อว่า Monument of Merit หรืออนุสาวรีย์แห่งความดี
อนุสาวรีย์แห่งความดี ภาพจาก Guide Ubon.
เพื่อเป็นสถานที่รำลึกถึงความดีที่ชาวอุบลที่ได้ช่วยเหลือเหล่าเชลยศึกในช่วงสงครามและหลังสงคราม
ในวันที่ 11 เดือน 11 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีการจัดงาน Remembrance day  ณ ทุ่งศรีเมือง บริเวณที่ตั้งของ อนุสาวรีย์แห่งความดี เช่นกันครับ
ส่วนงานที่ 5 และ 6 ผมคาดและหวังว่าในอนาคตจะมีการจัดงานรำลึกเช่นกัน
งานที่ห้า
วันรำลึกกรรมกรเอเชียชาวทมิฬและชาวมาเลย์
เนื่องจากพึ่งมีการตั้งอนุสรณ์สถานศิลาแห่งวีรชนของชาวมาเลเซีย-อินเดียเชื้อสายทมิฬ  ที่สุสานนิรนาม วัดญวน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา
พิธีเปิดศิลาแห่งวีรชนของชาวทมิฬ ณ สถูปที่บรรจุเถ้าอัฐิของกรรมกรเอเชีย
ซึ่งทางผู้สร้างได้ใช้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันเปิดเพราะตรงกับวันแรงงานสากล ซึ่งก็ตรงกับสถานะของกรรมกรที่มาสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในปีถัดๆไปจะมีการจัดงานรำลึกทุกปีหรือไม่ แต่ผมขออนุญาตใส่ไปในรายการก่อน เพราะหวังลึกๆว่า ทางสมาคมชาวมาเลเซียในประเทศไทยและสมาคมชาวอินเดีย จะมีการจัดงานรำลึกในทุกๆปี เฉกเช่นกับชาติอื่นๆ
ประวัติโดยสังเขปของ สุสานนิรนามวัดญวนนั้น เกิดจากทางวัดทำการล้างป่าช้า
ซึ่งป่าช้าของวัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสถานที่ที่กรรมกรเอเชียชาวทมิฬนำเอาศพของเพื่อน ญาติมิตร กรรมกรที่เสียชีวิตมาฝัง
เมื่อมีการขุดล้างป่าช้าก็นำศพมาเผาและนำเถ้ากระดูกเก็บไว้ในสถูปมีอักษรจีนเขียนว่า สถูปหมื่นชีวิต ซึ่งเป็นที่เก็บเถ้ากระดูกของกรรมกรเอเชียเชื้อสายทมิฬ
1
ศิลาแห่งวีรชน
จนทำให้คณะทำงานชาวมาเลเซียเชื้อสายทมิฬ ได้นำเอาศิลาแห่งวีรชนมาตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ร่วมกับสถูปของวัดญวณ
งานที่ 6
งานรำลึกพิธีเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือเส้นทางรถไฟสายมรณะ 25 ตุลาคม
ภาพพิธีเชื่อมต่อทางรถไฟในวันที่ 17 ตุลาคม 1943 โดยอีก 8 วันหลังจากนั้นจึงมีการจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
เป็นที่ชัดเจนตามเอกสาร ข้อมูลของตะวันตกและญี่ปุ่น กล่าวตรงกันในเรื่องของพิธีเปิดการใช้งานเส้นทางสายนี้
ทางรถไฟสายมรณะสร้างจากทั้งฝั่งไทยและพม่า มาเชื่อมต่อกันที่ทางเหนือของสถานีเกริงกวยทะ หรือแก่งคอยท่า ในวันที่ 17 ตุลาคม 1943 (ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำไปแล้ว)
แต่กองทัพญี่ปุ่นต้องเสริมความแข็งแรงของทางรถไฟ สะพาน และอื่นๆ พิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการจริงจึงถูกกำหนดในวันที่ 25 ตุลาคม 1943
ในวันดังกล่าวมีพิธีตอกหมุดตัวสุดท้ายลงบนไม้หมอนเพื่อยึดรางรถไฟ
มีพิธีกรรมทางศาสนา
พลตรีอิชิดะ เอกูมะ กล่าวในพิธีเปิดการใช้เส้นทางรถไฟ
หลังจากนั้นก็มีการเดินรถรอบปฐมฤกษ์ของหัวรถจักรไอน้ำ C5631
ภาพหัวรถจักร C5631 ในวันเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า 25 ตุลาคม 1943
วันที่ 25 ตุลาคม จึงถือเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า
แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจและใส่ใจ วันที่ 25 ตุลาคม จึงเป็นวันสำคัญที่ไร้ความหมาย
ผมจึงอยากเรียกร้องให้ทางจังหวัดลองพิจารณาประกาศให้วันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันรำลึกสันติภาพของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนำเอาวันที่ทางรถไฟสายไทย-พม่าถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ มาเป็นวันรำลึก
ผมไม่ได้หวังไปถึงขั้นต้องมีงานรำลึกนะครับ แต่ถ้ามี ก็อาจจะเป็นจุดขายของจังหวัดและเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปในตัว
แต่ถ้าจะไม่มีงานรำลึกใดๆก็ไม่เป็นไรครับ เพราะถ้าเราประกาศเป็นวันสันติภาพทางรถไฟสายไทย-พม่า ไปแล้ว ก็ถือว่าเราได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ทางรถไฟสายนี้แล้วเช่นกันครับ
สรุป ณ ปัจจุบันมีงานรำลึกที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกาญจนบุรี 4 งานครับ ส่วนงานที่ 5 ต้องรอให้ทางสมาคมชาวมาเลเซียและอินเดียในไทยพิจารณา
ส่วนงานที่ 6 ต้องให้ภาครัฐทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนจังหวัดพิจารณาดูนะครับ
ขอบพระคุณครับ
โฆษณา