16 พ.ค. เวลา 09:05 • ข่าว

ตบเท้าบุก สธ.ค้านนำ "กัญชา" กลับยาเสพติด เล็งฟ้อง คกก.ทุกชุด

หลังจากนายกรัฐมนตรีมีนโยบายนำ "กัญชา" กลับไปเป็นยาเสพติด เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยได้ออกมาคัดค้านการนำกลับไปเป็นยาเสพติด
โดยวันที่ 16 พ.ค. 2567 เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ร่วมกับวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมถึงผู้ป่วย-ผู้ใช้กัญชา เดินทางมากระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นเรื่องคัดค้านเรื่องนี้ ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ระบุว่า กัญชาจะต้องถูกควบคุมโดยเครื่องมือระหว่าง พ.ร.บ.กัญชา หรือกฎหมายยาเสพติด ซึ่งต้องวิเคราะห์เครื่องมือที่จะใช้
ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็เท่ากับว่าเอากัญชากลับไปขังคุกใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรับรองจาก ส.ส.ชุดที่แล้วว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แล้วมาวันนี้ก็กลับมาใหม่
การออก พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำ คือ นำข้อดีมาใช้และควบคุมข้อเสีย ซึ่ง พ.ร.บ. สามารถบรรจุเครื่องมือทั้งหมดที่จะควบคุมการใช้ได้ ส่วนความเป็นห่วงเยาวชนใช้กัญชาต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทขณะนั้น แต่ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติดก็จะไม่สามารถออกกฎหมายที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทได้
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
นายประสิทธิ์ชัยกล่าวว่า ขณะที่การให้สัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า นายกฯ ไม่ได้สั่งว่าให้เอากลับเป็นยาเสพติด แต่ให้ สธ.ไปศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กัญชาดีหรือร้ายอย่างไร ถ้าร้ายก็ให้เอากลับเป็นยาเสพติด ถ้าไม่ใช่ก็ให้อยู่ที่เดิม
นี่คือความสง่างามของกระบวนการ ไม่ใช่มีธงอยู่แล้วว่าจะเอากลับเป็นยาเสพติด แล้วก็ผลักดันให้กรรมการลงมติ ตนยืนยันว่าจะหารายชื่อบุคคลเหล่านั้น เพื่อไปถามเหตุผลในการเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด ถ้าตอบไม่ได้ เจอกันในศาล
หากนำกัญชา กลับคืนเป็นยาเสพติด ประชาชนจำนวนมากที่ปลูกและทำร้านกัญชาจะได้รับผลกระทบ 1 ล้านใบอนุญาตปลูก และ 10,000 กว่าใบอนุญาตขาย จะเกิดความเสียหายมาก
ล่าสุด ผู้ประกอบการทั่วประเทศจะรวมตัวกันในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องรัฐบาลให้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า จะมีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งหรือทางปกครอง จะต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง
เนื่องจากมีความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นจริง และทางปกครองเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรม ในการเปลี่ยนคำสั่งทางปกครอง เพราะมีเหตุไม่มากพอในการเปลี่ยน และการเปลี่ยนเกิดความเสียหาย
"หากมีการฟ้องร้องก็จะดำเนินการกับคณะกรรมการทุกชุดที่มีผลในการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด" นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
นอกจากนี้ ขอให้ สธ. จัดทำข้อเท็จจริงเปรียบเทียบให้เห็นถึง ข้อดี ข้อเสีย การก่อโรคและการมีคุณสมบัติรักษาโรค ระหว่างกัญชา กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ที่คนเข้าถึงได้ง่าย เปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ภายใน 15 วัน โดยขอให้ยึดถืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น อย่าเอาข้อมูลที่มโนเอาเองจากข่าวที่ออกในสื่อ ถามว่าทำไม สธ. ไม่ทำข้อเท็จจริง
ส่วนที่ขอให้ สธ. จัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบโดยกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการภายใน 3 เดือน ก็ยังอยู่ในขอบเขตภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการได้ข้อมูลและไม่ล่าช้าจนเกินไปให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา
"กระทรวงสาธารณสุขต้องมีจุดยืนให้ชัดเจน อย่างปลัด สธ.อยู่มาถึง 3 รัฐมนตรี จำเป็นต้องรับผิดชอบในฐานะข้าราชการสูงสุด จุดยืนต้องชัดเจน เพราะนักการเมืองเปลี่ยนตามนโยบายพรรค แต่ข้าราชการหากไม่มีจุดยืน การกำหนดนโยบายกัญชาก็เพี้ยน ต้องมีจุดยืนเอาข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ออกมาให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปอิงแต่ฝ่ายการเมือง" นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ประกอบด้วย กัญชา กระท่อม เห็ดขี้ควาย ฝิ่น แต่ตอนตนเป็น รมว.ยุติธรรม เสนอให้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งระบุให้ รมว.สธ. ไปออกประกาศรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ที่สามารถประกาศลดหรือเพิ่มได้ ขณะที่เรามีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ” ไม่เคยพูดเรื่องสันทนาการเลย
ไม่เข้าใจว่าวันนี้เราจะงงงวยกันขนาดไหนอย่างไร ถึงได้พูดกันว่ากัญชาจะเป็นยาเสพติดไม่ได้ เถียงกัน เกี่ยงงอนกันเรื่องชื่อ แต่ตนคิดว่าต้องทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ และต้องไม่ขัดกับโลกสากล หากมีกฎหมายต้องทำให้ใช้ได้ง่ายในการแพทย์ การใช้ก็ต้องเขียนให้ใช้ได้ไม่ทำให้ท่านปวดหัว แต่เรื่องของชื่อว่าจะเป็นยาเสพติดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
ถ้ายังคิดแบบนี้อยู่อีก ก็ไม่อยากให้กว้างไกลกระหึ่มไป ท่านยื่นหนังสือผม ผมก็จะเอาไปพิจารณา ยืนยันว่าเราจะทำให้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ใช่สันทนาการ และการจะออกกฎหมาย ประกาศ หรือกฎกระทรวง ก็ต้องทำตามกฎหมาย
เพราะ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ผมเป็นคนเสนอและผมยกเลิกกฎหมายอื่นหมดเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ก็กำหนดให้ทำกฎหมายรอง เช่น กระท่อม กัญชา ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ผมทำกระท่อมจบแล้ว และไม่ใช่เสรีไปทั้งหมด ก็มีขอบเขตไว้ ดังนั้น ผมคิดว่ายังอยู่ครึ่งๆ ที่ถกเถียงกันอยู่ตรงนี้
นอกจากนี้ ได้ตั้ง นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เป็นโฆษกในการสื่อสารเรื่องกัญชาด้วย
โฆษณา