17 พ.ค. 2024 เวลา 07:27 • ข่าวรอบโลก

ราคาที่ สี จิ้นผิง ต้องจ่ายในสงครามของปูติน

รัฐบาลจีนได้ต้อนรับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้ยกย่องว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศกำลังอยู่ในระดับสูงสุด “เป็นประวัติการณ์”
กว่า 2 ปีในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย จีนได้กลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญ จากบทบาทที่จีนปฏิเสธการประณามสงคราม และยังคงทำมาค้าขายกับรัสเซียซึ่งถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก อันสร้างความโกรธแค้นให้กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปูตินต้องการมากกว่านั้น ทว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย แล้วจีนจะยอมจ่ายหรือไม่ ?
การสร้างความสมดุล
อาจไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำรัสเซียเลือกจีนเป็นปลายทางการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของเขา นับตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การเยือนจีนเป็นเวลา 2 วัน เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ของพวกเขามาถึง “ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา” โดยปูตินพูดถึงความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้และปรัชญาของจีน พร้อมกับกล่าวว่าสมาชิกครอบครัวของเขาบางคนกำลังเรียนภาษาจีนกลางด้วย
“เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ยากลำบาก ความสัมพันธ์ของเราก็ยังคงแน่นแฟ้น” ปูติน กล่าว
แต่ขณะที่ปูตินคุยโม้เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างจีนกับรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน อาจมีเหตุผลให้ต้องกังวล
สหรัฐฯ เพิ่งประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อธนาคารและบริษัทในกรุงปักกิ่งและฮ่องกงที่ทำงานร่วมกับมอสโก โดยกล่าวหาว่าบริษัทเหล่านี้ช่วยรัสเซียหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่มีอยู่
เพราะแม้ว่าจีนไม่ได้ขายอาวุธให้กับรัสเซีย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเชื่อว่าจีนกำลังส่งออกเทคโนโลยีและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการทำสงครามให้รัสเซีย
ระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เขาได้กล่าวว่า จีนกำลัง “ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด” ต่อความมั่นคงของยุโรป นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
สำหรับพวกเขา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่จีนยืนกรานว่าสถานะของตนเองต่อยูเครนนั้นเป็นกลาง และการส่งออกสิ่งที่นำไปใช้งานในเชิงการค้าได้ด้วย ไม่ใช่เพียงสามารถนำไปใช้ในการสงคราม ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎใด ๆ
1
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสีเดินทางไปฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเบี่ยงเบนความน่าสนใจสาธารณชนไปจากปฏิบัติการหว่านเสน่ห์ของจีนต่อฝรั่งเศส
ทั้งกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนรวมถึงสายเหยี่ยวในจีนต่างส่งเสียงดังขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสีกดดันรัสเซียมากกว่านี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปกำลังคิดจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าจีน
และความจริงคือ เศรษฐกิจอันซบเซาของจีนก็ไม่สามารถรับแรงกดดันเช่นนี้จากประเทศคู่ค้าได้ อุปสงค์ในประเทศที่กำลังอ่อนแอ ยังต้องการตลาดเหล่านั้นในต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้กำลังทำให้ประธานาธิบดีสีตกอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดใจ
ก่อนรัสเซียบุกยูเครนได้เพียงไม่กี่วัน ผู้นำทั้งสองได้ประกาศความร่วมมือแบบ “ไร้ขีดจำกัด” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สิ่งนี้ฟังดูสมเหตุสมผลสำหรับสหายที่กำลังผนึกกำลังกันต่อสู้อุดมการณ์ของชาติตะวันตก
รัฐบาลจีนยังคงมองว่ามอสโกคือกุญแจสำคัญในการจัดระเบียบโลกซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ส่วนการค้าระหว่างสองประเทศนั้นก็เฟื่องฟูอย่างมาก จากการซื้อขายพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย รวมถึงการขนส่งก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องผ่านท่อส่งชื่อว่า พาวเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย (Power of Siberia) ซึ่งสร้างผลประโยชน์ให้กับจีนอย่างมาก
กระนั้น เมื่อสงครามยืดเยื้อ พันธมิตรระหว่างจีนและรัสเซียก็ไม่ได้ดูเหมือน “ไร้ขีดจำกัด” มากนัก คำ ๆ นี้แทบจะหายไปจากสื่อในประเทศจีน
จ้าว ตง นักวิจัยอาวุโส จากคาเนกี เอ็นดาวเมนท์ (Carnegie Endowment) บอกว่า รัฐบาลจีนกำลังมองข้ามความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบไร้ขีดจำกัดกับมอสโก
“แม้ว่าจีนสนับสนุนเป้าหมายในการบ่อนทำลายอิทธิพลของชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับยุทธวิธีบางอย่างของรัสเซีย รวมถึงการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ จีนตระหนักดีว่าการประกาศสนับสนุนรัสเซียโดยไม่มีเงื่อนไขนั้นมีต้นทุนอยู่ ถึงได้ปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการรับรู้บนเวทีโลก”
ในการเยือนยุโรปครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า จีน “ไม่ใช่ผู้สร้างวิกฤต ไม่ใช่ภาคีหรือผู้เข้าร่วม” และนี่ก็เป็นสิ่งที่จีนคอยบอกกับพลเมืองของตัวเองด้วย
แต่ความเป็นกลางที่จีนประกาศต่อสาธารณะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อยูเครนปรากฏบนหน้าสื่อที่มีการเซ็นเซอร์อย่างสูงของจีนได้ง่าย ๆ
สื่อของรัฐจีนยังคงให้เหตุผลถึงการรุกรานของรัสเซียว่า มันคือการตอบโต้อย่างรวดเร็วของมอสโก ต่อการขยายตัวของนาโตซึ่งนำโดยสหรัฐฯ
เมื่อ ซู เว่ยซิน ศิลปินชาวจีนเห็นการระเบิดดังสนั่นครั้งแรกในเมืองหลวงของยูเครนผ่านทางโทรทัศน์เมื่อปี 2022 เขารู้สึกว่าต้องบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้
“ผมไม่มีอาวุธ แต่ผมมีปากกา” เขากล่าวระหว่างนั่งอยู่ในสตูดิโอวาดภาพของเขาในสหรัฐฯ ภาพวาดแรกของเขาเป็นภาพเหมือนของ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ซึ่งได้รับความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก
“ผมวาดภาพทุกวันนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น ผมไม่ได้หยุดแม้แต่วันเดียว พอติดโควิด-19 ตอนไปเที่ยวต่างประเทศ ผมก็ยังคงวาดรูปทุกวัน”
แม้ว่างานศิลปะของเขาจะไม่ถูกเซ็นเซอร์ในประเทศจีน แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็ทำให้เขาประหลาดใจ
“มันค่อนข้างแตกต่างจากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ของผม” เขาบอก “เมื่อผมวาดภาพเกี่ยวกับคนงานในเหมือง ทุกความเห็นล้วนไปในเชิงบวก แม้แต่ตอนที่ผมวาดภาพการปฏิวัติวัฒนธรรม ผมก็ได้รับการยกย่อง ผมแทบไม่ได้รับคำวิจารณ์เลย”
แต่เขากลับถูกกระแสตีกลับในครั้งนี้ “ไม่เป็นไร ผมก็แค่บล็อกพวกเขา” เขากล่าว “เพื่อนบางคนเลิกเป็นเพื่อนกับผม เพราะเรามีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ผมจะทำอะไรได้ ผมเชื่อว่าผมกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ผมต้องการเป็นแบบอย่างให้กับลูกสาวของผม”
นี่เป็นสัญญาณแห่งความหวังให้กับ วิตา โกลอด ชาวยูเครน ผู้ต้องการสร้างอิทธิพลทางความคิดต่อชาวจีน เธออยู่ที่กรุงเคียฟเมื่อสงครามปะทุขึ้น จากนั้นวิตาก็ใช้ทักษะภาษาจีนกลางอันคล่องแคล่วของเธอเพื่อแปลข่าวยูเครนเป็นภาษาจีน ก่อนจะแชร์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์
“เราต้องการให้ผู้คนรู้ความจริงเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ เพราะเรารู้ว่าในเวลานั้นไม่มีสื่อหรือองค์กรสื่อของยูเครนในประเทศจีน” ปัจจุบันเธอเป็นประธานสมาคมศิลปะและภาษาจีนของชาวยูเครน
“มันเป็นเรื่องยากทางอารมณ์ที่จะพูดตามตรง และต้องใช้เวลามาก” เธอกล่าว ทั้งนี้ เธอมีทีมงานประมาณ 100 คน ที่ช่วยกันแปลข่าวของทางการยูเครน ไม่ว่าจะเป็นสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเซเลนสกี หรือแม้กระทั่งชีวิตในยามสงครามของชาวยูเครน
เธอหวังว่าจะได้พานักวิชาการชาวจีนมาเยือนประเทศยูเครน เพื่อจะช่วยให้พวกเขาเห็นภาพการทำลายล้างที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง และหวังว่าในที่สุดมันอาจทำให้เกิดการกดดันรัสเซียได้
วิตารู้ดีว่าเป้าหมายของเธอนั้นทะเยอทะยาน แต่ก็ยังอยากลอง พี่ชายของเธอยังรบอยู่ที่แนวหน้า ส่วนพ่อและแม่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านใกล้กับเมืองบูชา
วิตา โกลอด ต้องการโน้มน้าวความคิดของชาวจีนผ่านข่าว และเรื่องราวจากสงครามในยูเครน
ผู้คนในยูเครนยังคงทุกข์ทรมาน พวกเขาต้องซ่อนตัวอยู่ในที่หลบภัย ยังคงหลั่งเลือดในสนามเพลาะ ยูเครนต้องการการคว่ำบาตรรัสเซีย ไม่ได้ต้องการคำพูดที่สวยหรู”
จนถึงตอนนี้ งานของเธอยังคงไม่ถูกเซ็นเซอร์ ซึ่งแสดงถึงความอดทนของรัฐบาลจีน
สี ผู้พิทักษ์สันติภาพ
มีเสียงอื่น ๆ ที่แว่วมาจากปักกิ่งซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาจเกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยกันขึ้นในหมู่ประชาชนชาวจีน ซึ่งอย่างน้อยก็มีบางส่วนที่เตรียมพร้อมสนับสนุนความสัมพันธ์แบบไร้ขีดจำกัดเช่นนี้
เฟิง หยูจุน ผู้อำนวยการศูนย์รัสเซียและเอเชียกลางศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฟูดาน เพิ่งเขียนลงใน ดิ อีโคโนมิสต์ ว่ารัสเซียจะต้องพ่ายแพ้ในยูเครนอย่างแน่นอน
ความคิดเช่นนี้ถือว่าห้าวหาญมากในประเทศจีน แต่ประธานาธิบดีสีได้เสนอเช่นกันว่าตัวเขาเองนั้นสามารถรับบทเป็นผู้พิทักสันติภาพได้
เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หลังการเยือนกรุงมอสโกไม่กี่วัน ประธานาธิบดีสีโทรศัพท์หาประธานาธิบดียูเครน และเน้นย้ำว่าจีน “ยืนหยัดอยู่ข้างสันติภาพเสมอ” พร้อมกันนี้จีนยังนำเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ เพื่อแสดงจุดยืนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
ทว่า เมื่อประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีสีพบกันในสัปดาห์นี้ ทั้งคู่ไม่น่าจะส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ในเมื่อชาติตะวันตกเริ่มหมดความอดทนกับความเป็นพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซีย และความหวังของสี จิ้นผิง ที่ต้องการรับบทเป็นผู้รักษาสันติภาพยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ประธานาธิบดีจีนผู้นี้ต้องคำนวณความเสี่ยงว่าการยืนหยัด “เคียงบ่าเคียงไหล่” กับคนนอกคอกในสายตาของนานาชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยเรียกว่าเป็นสหายและ “เพื่อนรัก” นั้น มันคุ้มกันหรือไม่
โฆษณา