17 พ.ค. เวลา 09:31 • ปรัชญา
ถนนข้าวสาร

กาม ราคะ กามราคะ ตัณหา โล-ภะ นันทิ ฉันทะ ความอยากทั้งหก เหมือน หรือ แตกต่างกันอย่างไร?

กาม ราคะ กามราคะ ตัณหา โล-ภะ นันทิ ฉันทะ ความอยากทั้งหก มีทั้งความเหมือน หรือ แตกต่างกัน แต่โดยรวมถือว่าแตกต่างกันเล็กน้อย และมีบางตัวที่เป็น Sub Section ของบางตัวด้วย จึงขอมาอธิบายด้วยภาษาบ้านๆ ให้ปุถุชนเราเข้าใจได้ง่ายที่สุดเท่าที่ผู้เขียนจะทำได้นะครับ
กาม เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาปาลิ หมายถึง ความต้องการ ความปรารถนา หรือความคาดหวัง ก็ได้ เป็นคำศัพท์ที่กินความกว้างมาก หมายไปได้ถึงความรักใคร่แบบเจริญพันธุ์เพื่อร่วมเพศ ความพอใจในของสวยของงาม ศิลปะและธรรมชาติที่งดงาม
กามจึงเป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ โดยรวมหมายถึง ความปรารถนาต่างๆ นั่นเอง แต่คนไทย รับเอามาใช้เฉพาะนัยความหมายที่ว่าด้วยความต้องการทางเพศมากกว่า
ราคะ หมายถึงความมุ่งหมายที่จะเสพ มุ่งหมายที่จะครอบครอง (ของที่มีราคา) ต้องการจะรับรสสัมผัส,รับรส-อร่อย หรือดื่มด่ำกับบางสิ่งบางอย่างที่ยินยล-ดอม-ดมและจับต้อง-รสสัมผัสได้ เช่น มุ่งหมายที่จะเสพเมถุนกับบุรุษหรือสตรี มุ่งหมายที่จะแต่งตัวให้สวยสดงดงาม มุ่งหมายตั้งใจกระเหี้ยนกระหือรือที่จะสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง ส่วนใหญ่จะกล่าวหมายถึงเรื่องทางเพศรสเป็นหลัก (Sexiness)
กามราคะ เป็นศัพท์สนธิของปาลิสองคำ คือคำว่ากามะ กับ ราคะ แปลตรงตัวหมายความว่าความกำหนัด หรือความปรารถนาที่จะร่วมเพศ เสพสม นั่นเอง
ส่วนตัณหา มีความหมายถึง ความอยากได้ (ดู ดม ยินยล จับต้อง ครอบครอง) ความอยากมี และความอยากเป็น และ มีความหมายถึง ความไม่อยากได้ (ไม่ดู ไม่ดม ไม่ยินยล ไม่จับต้อง ไม่ครอบครอง) ความไม่อยากมี และความไม่อยากเป็น นั่นเอง
โล-ภะ มีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมคำว่า กามะ ราคะ กามราคะ ตัณหา นันทิ และ ฉันทะ กล่าวคือ เป็นความอยากเหมือนกัน แต่มี Texture แตกต่างผิดแผกกันในองค์ประกอบ ทำให้ต้องเรียกโล-ภะ ในชื่อชนิดต่างๆกัน แต่โดยหลักการแล้ว คำว่า โล-ภะ หรือ ความโลภ จะหมายความถึงความต้องการที่จะได้มาครอบครอง ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ หรือ นามธรรม ต่างๆ หากมีความต้องการครอบครองสิ่งเหล่านั้น ก็ล้วนรวมอยู่ในความโลภ หรือโล-ภะ ทั้งสิ้น
ส่วนนันทิ แปลตรงตัวคือ ความเพลิน หรือ ความสนุกสนานสำราญรมย์ เช่น ดูซีรี่ย์แล้วเพลิน ทำกิจกรรมนันทนาการจนเกิดความสนุกสนาน ดูหนังฟังเพลง ชมคอนเสิร์ตแล้วเกิดสุนทรียภาพแสนสนุกสนาน เพลิดเพลิน ฟิน เร้าใจ พอใจมาก แม้กระทั่งการถึงจุดสุดยอดของการร่วมเพศ เหล่านี้จะเรียกว่านันทินั่นเอง
สุดท้าย คือคำว่า ฉันทะ แปลว่าความปรีดา ความปลื้มปิติยินดี มักใช้กับความพึงพอใจในด้านบวก เช่น พระโพธิสัตว์มีฉันทะที่จะบำเพ็ญบารมีสิบประการ หรือ พระอริยบุคคลไม่มีฉันทะของความปรารถนาในพระโพธิญาณอีกต่อไปแล้ว ถือเป็นผู้หลุดพ้นจากโลก ไปยังโลกอุดรแล้ว เป็นต้น
เขียนโดย แอดมยุรคันธัพ แห่งเพจ FB "ธรรมะแฟนตาซี"
โฆษณา