18 พ.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

บริหารคนอย่างไร เมื่อเจอคน Toxic ในทีม

หนึ่งในปัญหาการทำงานในยุคนี้ ที่คนพูดถึงบ่อย คงหนีไม่พ้นคำว่า เจอคน Toxic ซึ่งคน Toxic คือคนที่แสดงพฤติกรรมออกมาทางความคิด คำพูด และการกระทำ ซึ่งส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ลูกค้า ฯลฯ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยเรื่องลบๆ ผลงานของทีมมีปัญหา รวมถึงทำให้สุขภาพจิตของคนที่ทำงานร่วมกันย่ำแย่
การมีคน Toxic เพียงแค่ 1 คน อาจส่งผลต่อคนในทีมเป็น 10-20 คนให้เกิดปัญหาได้ เหมือนปลาทูเน่า 1 ตัว ทำให้ปลาเน่าไปทั้งเข่ง! ในฐานะผู้นำองค์กรควรมีวิธีรับมือกับคนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ผลกระทบมันลุกลามจนส่งผลทั้งองค์กร ดังนี้
1) ตั้งสติ อย่าเพิ่งรีบโต้ตอบกับคน Toxic
ถ้าคุณเจอใครในทีมที่แสดงออกถึงพฤติกรรม Toxic โดยเฉพาะมาทำแย่ๆ กับเรา จนเรารู้สึกทนไม่ได้ โกรธ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ อย่าเพิ่งตอบโต้โดยทันที การที่เราคิดตอบโต้ เท่ากับ เราเองก็ทำพฤติกรรมแบบคน Toxic เช่นกัน! วิธีรับมือ คือ กลับมารู้เท่าทันทั้งความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตัวเอง ด้วยการมีสติ อยู่กับลมหายใจ จะช่วยให้มีเวลาในการเลือกการตอบสนองอย่างผู้ที่มีวุฒิภาวะ
และหากอารมณ์ยังคุกกรุ่นอยู่ ลองถามตัวเองว่า หากเราตอบโต้ออกไป จะส่งผลอะไรให้กับเราบ้าง? มันจะทำให้เราเสียใจขนาดไหน? การใช้คำถามจะช่วยเราให้ฉุกคิด ไม่อยากแสดงพฤติกรรมแย่ๆออกไป
2) คอยตรวจจับหาคน Toxic
หลายครั้ง คน Toxic อาจแสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่บางคนก็อาจจะค่อยๆ แสดงออกมา โดยการกระทำของเขา อาจทำแบบเงียบๆ แต่เป็นพิษร้าย เช่น นินทาหลับหลังกับคนไม่กี่คน แอบทำบางสิ่งโดยที่ไม่มีใครรู้ แต่ส่งผลร้ายต่อคนอื่นๆ ทำให้เราในฐานะผู้นำ ต้องคอยสอดส่องดูพฤติกรรม พูดง่ายๆ คือ “หูตาไว” รวมถึงอาจให้พนักงานที่ไว้ใจ คอยจับตาดูพฤติกรรมบางคน เพราะเขาอยู่ในทีม น่าจะใกล้ชิด และมีโอกาสเจอคนที่เป็น Toxic มากกว่า
ยิ่งหากเราเจอคน Toxic ได้ไว เราจะยิ่งมีโอกาสจัดการได้อย่างทันท่วงที เพราะความ Toxic เป็นสิ่งน่ากลัว สามารถระบาดเหมือนเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว และเราอาจไม่รู้ตัว
3) ให้ Feedback อย่างตรงจุด
เมื่อเราเจอคนที่เป็น Toxic ในทีมแล้ว สิ่งที่ทำคือ หาจังหวะเวลา ในการนัดทีมงานคนนั้น มาให้ Feedback โดยตรง บอกวัตถุประสงค์ในการพูดคุยว่า อยากให้ปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่ไปทำร้ายคนรอบข้าง ฯลฯ และให้เวลาในการปรับปรุงตัว เช่น 3 เดือน พร้อมทั้งมีตัวชี้วัด และการประเมินจากคนรอบข้างของเขา ถ้าจบการประเมินแล้ว เขาไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราอาจจะต้องพิจารณามาตรการถัดๆ ไป ที่รุนแรงขึ้น เพื่อลดผลกระทบของเขาที่มีต่อทีม
ข้อควรระวังในการให้ Feedback คือ ไม่ควรใช้น้ำเสียงด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ตำหนิที่ตัวตนว่า “เป็นคนไม่ดี แย่...” เพราะจะทำให้เขาต่อต้าน ไม่ยอมรับฟัง แต่เปลี่ยนเป็นระบุพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การใช้คำพูดในเหตุการณ์นั้น การกระทำแบบนี้ หรือการตัดสินใจแบบนี้มันไม่ดีนะ ฯลฯ จะทำให้เขายอมรับฟัง ส่วนเขาจะเปลี่ยนหรือไม่ เราไม่สามารถบังคับได้ เราแค่ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ก็พอ
4) ไล่ออก หรือ แยกตัว
ถ้าทำตามข้อ 3) แล้ว เขาผู้นั้น ยังไม่ปรับปรุงตัวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ยังมีความ Toxic ที่ยังคงเป็นพิษร้ายต่อเพื่อนร่วมทีม ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาใช้มาตรการขั้นถัดไป โดยหากเขาเป็นคนที่สามารถไล่ออกได้ ให้ทำการไล่ออกอย่างรวดเร็ว โดยทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งเอกสารการประเมินพฤติกรรม ประกาศแจ้งการลาออก เพื่อให้คนในองค์กรเข้าใจตรงกันว่า ทำไมเขาจึงไม่สมควรอยู่ต่อไปในองค์กร ไม่เกิดดราม่าในภายหลัง
แต่ถ้าคนที่ไล่ออกไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม มาตรการที่พอทำได้คือ อาจจะย้ายเขาไปทำงานอื่นที่เหมาะสมกว่า หรือการย้ายแผนก เพื่อสร้างระยะห่างทั้งทางกายภาพและจิตใจ ลดผลกระทบจากความเป็นพิษของเขาผู้นั้น และอย่าลืม สื่อสารกับผู้มีอิทธิพลในบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน (ถ้าจำเป็น)
5) เยียวยา ฟื้นฟู รับมือ
เยียวยาและฟื้นฟู คือ เยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความเป็นพิษ อาจจัดกิจกรรมด้าน Mental Health เชิญที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ หรือจัดกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้มีความสนุก คลายเครียดร่วมกัน โดยข้อนี้ ถ้าผลกระทบไม่รุนแรง และอยู่ในวงแคบ อาจจะแค่พูดคุย ให้คำแนะนำเป็นรายๆ คนก็พอ รวมถึงอนุญาตให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน หรือถูกกระทำ สามารถลาพักผ่อนโดยไม่หักเงินเดือน เพื่อให้พนักงานได้ฟื้นฟูจิตใจ และมีกำลังใจในการกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
รับมือ ในที่นี้ เป็นการสอนกลยุทธ์และวิธีรับมือ ที่สำคัญคือ อย่าให้เรื่อง Toxic กลายเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจเป็นหลัก ฝึกให้พนักงานโฟกัสกับเรื่องที่สำคัญ และเพิกเฉยเรื่องที่อาจทำร้ายใจ และไม่มีผลดีต่อการทำงาน รวมถึงฝึกคิดบวกแบบง่ายๆ ในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ยังมีกำลังใจ เช่น มองหาข้อดีในสถานการณ์นั้น ฯลฯ
สุดท้าย คน Toxic ที่น่ากลัวที่สุดที่ต้องระวัง ไม่ใช่คนอื่น แต่อาจเป็นตัวเราเองที่อาจเผลอ Toxic ใส่ผู้อื่น
ลองตรวจสอบตัวเองว่า เรามีพฤติกรรม Toxic ใส่คนอื่นในองค์กรบ้างหรือไม่? ถ้าเผลอหรือไม่รู้ตัว ควรรีบแก้ไข
ถ้าเราไม่แก้ไข ก็อย่าแปลกใจ ถ้าคนในทีมของเรา จะมีแต่คนที่มีพฤติกรรม Toxic และพฤติกรรมนี้ จะทำให้ผลการดำเนินงานของทีมมีปัญหา และขวัญกำลังใจของทั้งองค์กรตกต่ำลงในท้ายที่สุด
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา