18 พ.ค. เวลา 12:30 • ธุรกิจ

สร้างรายได้ไปจนถึงวัยเกษียณ เพราะมี “ความรู้” เป็น “ทรัพย์สิน”

เปิดเส้นทางการทำ “อาชีพสายการเงิน” ที่เป็นอาชีพหลักก็ได้ เป็นอาชีพเสริมก็ดี
หากถามว่า อาชีพอะไรน่าจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจในต่างประเทศจะใช้ 3 เกณฑ์ในการประเมิน
📍1. รายได้สูง
📍2. มีการเติบโตและความมั่นคงสูง
📍3. มีความสุข หรือ มีแรงกดดันในการทำงานน้อย
อาชีพหนึ่งที่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ คือ อาชีพด้านการเงิน
เหตุเพราะปัจจุบันความสนใจด้านการเงินได้ปรับเพิ่มสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ความซับซ้อนและหลากหลายของผลิตภัณฑ์การเงิน สังคมคนสูงอายุ อย่างเช่น รายงาน Ernst & Young Retirement Survey เมื่อหลายปีก่อนที่ได้สอบถามคนสูงอายุว่า หากมีโอกาสใหม่อีกครั้งจะทำอะไร พบว่า 31% ต้องการขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน!
แต่เส้นทางอาชีพการเงิน” ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ยังสามารถแตกย่อยได้มากมาย แต่หากแบ่งใหญ่ๆ ก็จะได้เป็น 2 แบบ คือ
➡️สายการเงินที่เน้นติดต่อกับผู้คนเป็นหลัก (High Human Touch)
#อย่างเช่น ตัวแทนประกันชีวิต ผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน นักวางแผนการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงิน marketing บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งผู้จะประกอบอาชีพสายนี้จะต้องมีใบอนุญาตด้านการเงิน เช่น ใบอนุญาตตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต ประกันภัย ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน ใบอนุญาต CFP, ใบอนุญาต FChFP ฯลฯ
➡️สายการเงินที่ไม่เน้นติดต่อกับผู้คน (Low Human Touch)
#อย่างเช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งผู้จะประกอบอาชีพสายนี้จะต้องมีใบอนุญาตด้านการเงิน เช่น AISA, CISA หรือ CFA ฯลฯ
อาชีพทางการเงินจึงเป็นอาชีพที่มีความหลากหลายด้านรายได้ขึ้นอยู่กับว่า เราทำงานสายการเงินด้านไหน หากเป็นสายการเงินด้านการวิเคราะห์ หรือ จัดการลงทุน รูปแบบรายได้มักจะเป็น “เงินเดือน” แต่หากเป็นสายการเงินที่เน้นติดต่อกับผู้คน รูปแบบรายได้จะหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจข้อมูลรูปแบบค่าบริการวางแผนการเงินของนักวางแผนการเงิน CFP® จำนวน 61 ราย ณ เดือนกันยายน 2565 โดยสมาคมนักวางแผนการเงินไทย พบว่า รายได้ของนักวางแผนการเงิน CFP ในประเทศไทย มาจาก
💵•“รายได้ค่านายหน้า (Commission) จากการแนะนำผลิตภัณฑ์” สูงถึง 80.33%
อย่างเช่น ตัวแทนประกันชีวิต รายได้จะมาจากค่านายหน้า ผู้แนะนำการลงทุนอิสระ ได้ส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมการขายและรับซื้อหน่วยลงทุน และยังได้ส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นประจำรายเดือน/รายปีด้วย (Trail Fees)
💵• รายได้ค่าจัดทำแผนการเงิน 40.98%
💵• ค่านายหน้าจากการแนะนำลูกค้าให้สถาบันการเงิน 22.95%
💵• เงินเดือนจากบริษัทต้นสังกัด 19.67%
💵• การให้คำปรึกษารายครั้ง 11.48%
💵• การให้คำปรึกษารายชั่วโมง 11.48%
นอกจากนี้ อาชีพทางการเงินไม่เพียงให้ประโยชน์ต่ออาชีพเท่านั้น ยังให้ประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมอีกด้วย เพราะเรื่อง “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ดังเช่นที่ Oscar Wilde นักประพันธ์เอกของโลก กล่าวไว้ว่า
“ตอนเป็นเด็ก ผมเคยคิดว่า เงินคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต พอโตขึ้นก็รู้ว่า ผมคิดถูกแล้ว!”
แต่สิ่งที่สำคัญกว่า “เงิน” คือ “ความรู้ในการจัดการบริหารเงิน” คนที่จะประกอบอาชีพทางการเงินได้ จะต้องมีความรู้ในการจัดการบริหารเงิน คือ รู้ว่าจะบริหารจัดการเงินอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ซึ่งประกอบด้วยความรู้ 3 ด้านหลักๆ ดังนี้
(1) #ด้านการเงิน
คือ รู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการบริหารรายรับ รายจ่าย การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การบริหารความเสี่ยง การวางแผนมรดก และ การวางแผนการศึกษา ฯลฯ ทำให้สามารถประเมินและวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
(2) #ด้านเศรษฐศาสตร์
คือ สามารถประเมินเหตุการณ์ และผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดในอนาคต สามารถมองเห็นโอกาส และ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถบริหารเงินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
(3) #ด้านบัญชี
คือ สามารถติดตาม กำกับ ดูแล ผลการบริหารเงินได้อย่างถูกต้อง สามารถมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้แต่เนิ่นๆ
ความรู้ 3 อย่างนี้ ผมเรียกว่า “วิชาชีวิต” ที่จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ง่ายๆที่เห็นได้ชัด ก็อย่างเช่น ช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง ช่วยให้เรามีชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุข ช่วยในการจัดสรรมรดกได้อย่างเหมาะสม ฯลฯ
ความรู้ด้านการเงินจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถหารายได้เสริมได้อย่างมากมายจนบางคนรายได้เสริมมากจนแซงหน้ารายได้หลักไปแล้ว อย่างเช่น จากการเป็นนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแบบ VI หรือ เป็น trader ฯลฯ และเพราะคนในยุคปัจจุบันสนใจเรื่องการจัดการเงินมากกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้เราสามารถมีอาชีพเสริม ไม่ว่าเป็นวิทยากรด้านการเงิน เป็น youtuber เป็น influencer หรือ เขียนบทความหรือหนังสือด้านการเงิน ฯลฯ เป็นการต่อยอดรายได้อีกทางหนึ่ง
และสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามกันไป ก็คือ “ทรัพย์สิน” จากประสบการณ์ของผมที่ทำอาชีพด้านการวางแผนการเงินมาหลายสิบปี พบว่า อาชีพนี้นอกจากสร้างรายได้ที่มั่นคง แม้ว่าจะเกษียณก็ยังสามารถสร้างรายได้ได้ ยังช่วยสร้าง “ทรัพย์สิน” คือ connection การได้รู้จักเพื่อนใหม่
อาชีพนักวางแผนการเงินเปิดโอกาสให้เราได้พบกับบุคคลต่างๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆซึ่งเป็นบทเรียนในชีวิตที่เราไม่สามารถหาได้จากตำราหรือชั้นเรียนต่างๆ และหลายคนที่ได้พบปัจจุบันก็เป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกัน เหล่านี้สำหรับผมถือว่าเป็น “ทรัพย์สิน” ที่มีค่าที่ได้จากอาชีพนักวางแผนการเงินครับ
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
#aomMONEY #MakeRichGeneration #สร้างรายได้ #อาชีพสายการเงิน #ความรู้ #ทรัพย์สิน #ตัวแทนประกัน
โฆษณา