ผักกูด พืชสายพันธุ์เฟินรับประทานได้

ผักกูด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Diplazium esculentum)
ผักกูด หรือหัสดำ, กูดน้ำ, ไก้กวิลุ ปู่แปลเด๊าะ ,แลโพโด้ แหละโพะโด้ะ ฯลฯ จัดเป็นเฟินชนิดหนึ่งที่กินได้ มีลำต้นเป็นเหง้า (Rhizomes) แบบตั้งตรง ใบมีสีเขียวอ่อนเมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยักฟันเลื่อย โดยใบจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามอายุของต้น ต้นที่อายุน้อยมักพบใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ขณะที่ต้นที่อายุมากสามารถพบใบประกอบแบบขนนกสองชั้นได้
ด้วยเหตุนี้ผักกูดจึงพบว่ามีทั้งใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวและสองชั้น มักจะขึ้นหนาแน่นตามชายป่าที่มีแดดส่องถึง ในบริเวณที่ลุ่มชุ่มน้ำ ตามริมลำธาร บริเวณต้นน้ำ หนองบึง ชายคลอง ในที่ที่มีน้ำขังแฉะและมีอากาศเย็น รวมไปถึงในพื้นที่เปิดโล่ง หรือในที่ที่มีร่มเงาบ้าง และจะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณที่ชื้นแฉะ มีความชื้นสูง เติบโตในช่วงฤดูฝน
ผักกูดมีสรรพคุณ ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและเบตาแคโรทีน การรับประทานผักกูดร่วมกับเนื้อสัตว์จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย ใบนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน
ผักกูดมีคุณสมบัติช่วยดับร้อน ทำให้ร่างกายปรับสภาพอุณหภูมิให้เข้ากับฤดู ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด บำรุงโลหิต ผักกูดเป็นผักที่มีธาตุเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ช่วยแก้โรคโลหิตจาง ช่วยบำรุงสายตา ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้ และยังเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูงมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างดี ขับปัสสาวะ และแก้พิษอักเสบได้
ต้นผักกูด เป็นดัชนีเพื่อชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมได้ ถ้าหากบริเวณไหนมีอากาศไม่ดี หรือดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่เจริญหรือแตกต้นในบริเวณนั้น เพราะผักกูดจะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ดินสมบูรณ์และไม่มีสารเคมีเจือปน
ภาพถ่าย : อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , เมดไทย
ที่มา : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ( นครสวรรค์)
#ผักกูด #เฟิน #อุทยานแห่งชาตคลองลาน #กำแพงเพชร #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา