18 พ.ค. 2024 เวลา 11:29 • ธุรกิจ

สรุปอัตราส่วนสำคัญ วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน ของธุรกิจ

1. อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GPM)
1.1 กำไรขั้นต้น = ยอดขายสินค้าหรือบริการ - ต้นทุนขายสินค้าหรือบริการ
1.2 อัตรากำไรขั้นต้น = (กำไรขั้นต้น / ยอดขายสินค้าหรือบริการ) x 100%
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มียอดขายสินค้า 100 ล้านบาท โดยมีต้นทุนค่าสินค้าอยู่ที่ 60 ล้านบาท
เท่ากับว่าบริษัท A จะมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 40 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นได้ 40%
GPM บอกเราว่า ยอดขายที่ธุรกิจทำได้ หลังหักต้นทุนของสินค้าออกไปแล้ว เบื้องต้น จะเหลือเป็นกำไรเข้ากระเป๋าธุรกิจเท่าไร
ซึ่งเป็นการวัดโดยตรงว่า บริษัทมีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ ได้มากแค่ไหน เช่น ถ้า GPM สูง อาจแสดงว่า สินค้านั้นมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ตั้งราคาขายสูง ๆ ก็ยังขายได้
รวมถึงบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนสินค้าหรือบริการได้ดีแค่ไหน
โดย GPM นอกจากจะดูเดี่ยว ๆ ได้แล้ว ยังมักนิยมเอามาใช้เปรียบเทียบกับตัวเลขในอดีต เพื่อดูทิศทางธุรกิจ และใช้เปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย
1
2. อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM)
2.1 กำไรสุทธิ = รายได้รวมของบริษัท - ต้นทุนรวมของบริษัท - ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) - ภาษี
2.2 อัตรากำไรสุทธิ = (กำไรสุทธิ / รายได้รวมของบริษัท) x 100%
NPM บอกถึงสัดส่วนกำไรในบรรทัดสุดท้าย ที่บริษัททำได้ ภายหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกไปแล้ว
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มียอดขายสินค้า 100 ล้านบาท มีต้นทุนค่าสินค้า 60 ล้านบาท มีค่าโฆษณาสินค้าและต้นทุนอื่น ๆ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ 2 ล้านบาท ภาษี 4 ล้านบาท
เท่ากับว่าบริษัท A จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิได้ 14%
ตัวเลข NPM สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรจริง ๆ ของธุรกิจ หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างออกไปหมดแล้ว
ซึ่ง NPM นอกจากใช้ดูว่า บริษัททำกำไรได้มากแค่ไหนแล้ว ยังถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับค่าในอดีต เพื่อดูความก้าวหน้าของธุรกิจ
รวมถึงใช้เปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ว่าเหนือกว่าหรือด้อยกว่าคู่แข่ง
ทั้งนี้ NPM ในแต่ละอุตสาหกรรม จะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก อัตรากำไรสุทธิ มักจะน้อยกว่า ธุรกิจบริการหรือแพลตฟอร์ม เพราะธรรมชาติของธุรกิจ ไม่เหมือนกัน
อีกทั้ง การดู NPM ต้องพิจารณาหลาย ๆ ปี ประกอบกัน
เพราะบางปี ธุรกิจอาจมีรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ซึ่งทำให้มีกำไรมากหรือน้อยผิดปกติได้
3. อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets : ROA)
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ = (กำไรสุทธิ / สินทรัพย์รวม) x 100%
ROA เป็นตัวบอกเราว่าบริษัทมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน จากสินทรัพย์ของบริษัท
ถ้าค่า ROA นี้มีค่าสูง แปลว่าใช้สินทรัพย์สร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 150 ล้านบาท
เท่ากับว่า บริษัท A มี ROA อยู่ที่ 9.3%
แปลว่า บริษัทใช้ทรัพย์สิน 100 บาท เพื่อสร้างกำไร 9.3 บาทนั่นเอง
โดยปกติแล้ว บริษัทไหนมีค่า ROA สูงกว่า จะดีกว่า เพราะหมายถึง บริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่า จากการใช้สินทรัพย์ในจำนวนเท่ากัน
หรือถ้าต้องทำกำไรในจำนวนเท่ากัน ก็มีความจำเป็นในการใช้สินทรัพย์ที่น้อยกว่า
4. อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE)
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น = (กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100%
ROE บอกถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทน จากเงินทุนของผู้ถือหุ้น โดยถ้าค่า ROE สูงกว่าคู่แข่ง แสดงว่าบริษัท มีความสามารถในการบริหารเงินทุนที่ดีกว่า
ซึ่งในการวิเคราะห์ ROE จะต้องระวังเรื่องของหนี้สิน โดยถ้าหากว่าบริษัทไหน มีค่า ROE ที่สูงมาก ควรต้องดูหนี้สินประกอบด้วย โดยอาจพิจารณาค่า D/E Ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ร่วมด้วย
2
เนื่องจากบางบริษัทที่มี ROE สูง อาจไม่ได้เป็นเพราะบริหารเงินทุนของผู้ถือหุ้นได้ดี แต่เพราะก่อหนี้จำนวนมาก เพื่อทวีผลตอบแทน (Leverage) ซึ่งก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 150 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้สิน 100 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 50 ล้านบาท
1
เท่ากับว่าบริษัท A มี ROE อยู่ที่ 28%
แปลว่าหากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ 100 บาท จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 28 บาทนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัท A จะมี ROE สูงมาก แต่จะเห็นว่า บริษัท A ก็มีหนี้สินในสัดส่วนที่สูงมากเช่นกัน
เพื่อให้เห็นภาพ บริษัท B มีกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 150 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้สิน 50 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 100 ล้านบาท
หรือบริษัท B มี ROE อยู่ที่ 14%
จะเห็นว่า แม้ทำกำไรได้เท่ากัน แต่บริษัท A ที่ก่อหนี้มากกว่า กลับมีค่า ROE สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด..
5. อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio : D/E Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
D/E Ratio บอกเราว่า บริษัทนั้น ๆ มีหนี้สินคิดเป็นกี่เท่า เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เป็นเงินทุนของนักลงทุน/เจ้าของธุรกิจ
โดยเป็นตัวสะท้อนความเสี่ยงทางการเงิน จากภาระดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม หนี้สินบางประเภท ถือเป็นหนี้สินที่ดี เพราะไม่มีภาระดอกเบี้ย เช่น เจ้าหนี้การค้า
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 150 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้สิน 100 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 50 ล้านบาท
เท่ากับว่า บริษัท A จะมี D/E Ratio อยู่ที่ 2 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น
แต่ก็ต้องพิจารณาต่อว่า หนี้สินของบริษัท A เป็นหนี้สินประเภทไหน และทำให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยหรือไม่
รวมถึงต้องพิจารณาอุตสาหกรรม ที่บริษัทนั้นดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย
เพราะธุรกิจบางประเภทก็จะมีค่า D/E Ratio สูงจนเป็นปกติ เช่น ธนาคาร
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน ๆ หากบริษัทนั้นมีค่า D/E Ratio สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือคู่แข่งมาก
เราก็ควรระวังเรื่องนี้ให้ดี ๆ..
โฆษณา