20 พ.ค. เวลา 12:00 • การ์ตูน

Jellyfish can’t Swim in the Night

เรามีความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนมากขนาดไหนกันครับ สำหรับผมแล้ว ผมแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันเลย รู้แต่ว่ามันทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จริง ๆ ผมเพิ่งรู้วิธีการสะกดคำว่า แมงกะพรุนด้วยซ้ำ แต่อนิเมะเรื่องที่ผมจะใช้โควต้าแนะนำประจำฤดูใบไม้ผลิ 2024 เรื่องนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนมาก่อนครับ แม้ว่ามันจะมีชื่อว่า Jellyfish can’t Swim in the Night
ระหว่างที่ผมนั่งดูอนิเมะประจำฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ผมลืมไปเลยว่าจะต้องเขียนแนะนำอนิเมะสำหรับฤดูกาลนี้ จนกระทั่งผมเริ่มดู Jellyfish ตอนที่หนึ่ง มันก็เตือนความจำผมทันทีว่า ผมจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ (เอาจริง ๆ ก็คือ หากไม่มีเรื่องนี้ ผมอาจจะกลับไปเขียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dungeon Meshi ด้วยซ้ำครับ)
โยรุกับเจลี่
Jellyfish นับว่าเป็นอนิเมะแนว Cute-Girls-Doing-Cute-Things ครับ หากนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึง K-On! ครับ ซึ่งเป็นอนิเมะแนวนี้ชั้นครู Jellyfish เล่าเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่ง มาฮิรุ หรือ โยรุ (ที่แปลว่ากลางคืน) ที่มีความธรรมดามาก ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองอยากจะเป็นอะไร ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก แต่เลิกวาดไปแล้ว วันหนึ่งพบเจอกับอดีตไอดอลรุ่นเดียวกันชื่อ คาโนะ หรือ เจลี่ และชีวิตของทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงไป
หลังจากตอนที่หนึ่ง เรื่องราวแนะนำตัวละรเพิ่มเติมมาอย่าง เมย์ หรือ คิมุระ นักประพันธ์เพลงที่คลั่งไคล้ไอดอลท่านหนึ่งมาก ๆ และคิอุอิ หรือ นอกซ์ ซึ่งเป็น vtuber มากความสามารถ แต่ละตัวละครในเรื่องอดีตและเบื้องหลังที่เจ็บปวดระหว่างการเติบโต ทำให้เด็กสาวที่แปลกไปจากคนทั่วไปมาพบเจอกันและทำดนตรีด้วยกัน ทำให้อนิเมะเรื่องนี้มีความเป็นแนว Coming-of-age อีกเรื่องหนึ่งครับ
โยรุ เจลี่ นอกซ์ คิมุระ
เจลี่ เป็นนักร้องนักเขียนเนื้อเพลง เธอเคยเป็นไอดอลมาก่อน แต่เพราะเหตุการณ์ในอดีตบางอย่างทำให้เธอลาออกจากการวงไอดอลของเธอ และกลายเป็นนักร้องอิสระ โยรุ เคยเป็นนักวาดที่วัยเด็ก ที่เคยวาดจิตรกรรมบนผนังในเมืองชิบุย่าเป็นรูปแมงกะพรุน แต่เพราะเหตุการณ์บางอย่างทำให้เธอหมดความั่นใจและเลิกวาดไป
คิมุระเป็นเด็กสาวที่ไม่มีความมั่นใจ โดนรังแกตอนเด็ก แต่เพราะไอดอลท่านหนึ่งมอบความมั่นใจให้เธอ เธอจึงเปลี่ยนแปลง นอกซ์เป็น vtuber ที่ดูจะมีความมั่นใจ แต่เพราะเหตุการณ์บางอย่างตอนเข้าเรียนมัธยมปลาย ทำให้เธอเลิกออกไปพบเจอสังคมภายนอก และมีตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์
ทั้งสี่มาเจอกัน เจลี่เป็นนักร้องที่ไม่เปิดเผยหน้าตาและนักเขียนเนื้อเพลง คิมุระเขียนและเรียบเรียงเพลงให้วง นอกซ์ทำเพลงและทำเอ็มวีให้กับวง และโยรุวาดภาพประกอบและสร้างตัวละครเจลี่เพื่อแทนนักร้องของวงเจลี่
เหตุผลที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้มีคุณค่าโดดเด่นกว่าอนิเมะเรื่องอื่น ๆ มีทั้งเพราะว่าคุณภาพของอนิเมชั่น การพากษ์เสียงตัวละคร direction หรือการกำกับภาพ การแสดงออกโดยภาพไม่ใช่คำพูด และการนำเสนอธีมต่าง ๆ ครับ อย่างเช่นธีมของการวิ่งหนีอะไรบางอย่าง ซึ่งปรากฏในในตอนที่หนึ่งจากรถไฟที่วิ่งอยู่เหนือจิตรกรรมฝาผนังของโยรุ ผนวกกับธีมของประสบการณ์ในอดีตและความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
แมงกะพรุนและโยรุ
ธีมที่ขาดไม่ได้เลยของเรื่องของแมงกะพรุนที่จะส่องแสงสว่างได้ก็ต่อเมื่ออยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นธีมศูนย์กลางของเรื่องครับ แงกะพรุนจะส่องแสงสว่างไสวสวยงามในตอนกลางคืนเมื่ออยู่รวมกัน เหมือนกับกลุ่มเด็กสาวทั้งสี่ที่จะดึงความสามารถของแต่ละคนออกมาได้ก็ต่อเมื่ออยู่รวมกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบคือเรื่องของการเป็นแรงบันดาลใจให้กันครับ เจลี่ได้แรงบันดาลใจจากภาพของโยรุ คิมุระได้แรงบันดาลใจจากความสดใสของเจลี่เมื่อเธอเป็นไอดอล เป็นต้น
อีกธีมหนึ่งในตอนแรกคือความธรรมดาและความพิเศษ เรื่องของความเป็นคนพิเศษเป็นธีมที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัวสื่อทั่วไปครับ โดยเฉพาะในอนิเมะ ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในตอนที่ผมพูดถึงอนิเมะเรื่อง Hyouka อนิเมะ Jellyfish ก็พูดถึงธีมนี้เหมือนกันครับ โยรุเป็นตัวละครที่ออกแบบมาอย่างไม่โดดเด่นอะไรเลย แสดงถึงความธรรมดาของเธอมาก ๆ เมื่อเทียบเคียงกับตัวละครที่โดดเด่นอย่างเป็นธรรมชาติอย่างเจลี่ อาจจะเพราะความมั่นใจที่ได้มาจากประสบการณ์การเป็นไอดอล
บทสนทนาระหว่างทั้งสองบนสะพานในตอนที่หนึ่งแสดงออกถึงความแตกต่างระหว่างทั้งสองตัวละครอย่างชัดเจนครับ ทั้งมุมกล้อง และการเคลื่อนที่ของ “กล้อง” ที่ถ่ายมุมมองระหว่างทั้งสองตัวละครที่อยู่ตรงกันข้ามกัน อีกทั้งภาพในตอนที่หนึ่งที่แสดงถึงความคนละขั้วระหว่างปีศาลและนางฟ้าที่ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งสามารถตีความไปได้อย่างมากมาย แต่มันแสดงถึงความคนละฟากของทั้งสองตัวละครในตอนที่หนึ่ง
นางฟ้าและนางร้าย
ส่วนตัวผมชอบการตีความที่ว่า ในคืนวันฮาโลว์วีน โยรุแต่งตัวเป็นนางฟ้าในขณะที่เจลี่แต่งตัวเป็นนางร้าย การตีความหนึ่งอธิบายว่า โยรุเสมือนนางฟ้าตกสวรรค์ เพราะนางเคยเป็นนักวาดที่วาดรูปเก่งมาก ๆ แต่เลิกวาดรูปไป เสมือนคนที่อยู่บนจุดสุงเหนือคนอื่น ๆ ในตอนหนึ่ง แต่ในตอนนี้เหมือนนางฟ้าตกสวรรค์ แตกต่างจากเจลี่ ที่ตัวตนของเธอไม่เหมือนกับตอนที่เธอเป็นไอดอล แต่เธอไม่ใช่นางฟ้าตกสวรรค์ หากแต่เป็นนางร้ายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และยินดีรับตัวตนของเธอ
อีกอย่างหนึ่งครับ คืนก่อนวันฮาโลว์วีนที่โยรุนั่งเลิกซื้อชุดว่าจะเอานางฟ้าหรือนางร้าย เธอมีแต่ความไม่แน่ใจ ไม่ตัดสินใจเลิกทางใดทางหนึ่งสักที ผนวกกับบทสนทนาระหว่างเธอกับนอกซ์ เพื่อนในวัยเด็กของเธอ เกี่ยวกับตัวตนของเธอที่เธอเองก็ไม่รู้ว่าจะโตไปเป็นอะไร ทำอาชีพอะไร ชอบอะไร อยากจะทำอะไร ติดอยู่ในความไม่แน่นอน ในระหว่างนั้น มีคนหนึ่งเลิกให้ไปเธอ โดยการหยิบเอาชุดนางร้ายไป ทำให้โยรุไม่มีทางเลือก แต่จำใจต้องเลือกซื้อชุดนางฟ้า
มันเป็นธีมหรือบทเรียนหนึ่งที่ผมจำมาถึงวัยนี้ครับ หากเราไม่ตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างด้วยตนเอง หากเราไม่ใช้เสรีภาพของเราในการเลือกตัวตนของตัวเอง บนหนึ่งมันจะสายเกินไป และสิ่งรอบข้างจะบีบบังคับเราให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ทำให้เราไม่อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าเราเลือกทิศทางนั้นด้วยตัวของเราเอง หากแต่การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะตัวเราเอง แต่เพราะคนอื่น
เมื่อเราไม่ได้เลือกทิศทางชีวิตด้วยตัวของตัวเอง เราสามารถบอกได้จริง ๆ หรือไม่ครับว่าเราพิเศษกว่าคนอื่น เราเห็นอนิเมะหรือสื่อบันเทิงแนวแฟนตาซีอย่างมากมาย ที่ตัวละครเอกเป็น “ผู้ที่ถูกเลือก” เป็นเพราะคำทำนายหรือโชคชะตาอะไรบางอย่าง แต่ผมกลับไม่ได้มองว่าตัวละครเหล่านั้นพิเศษเท่าไหร่เลย เพราะเขาเพิ่ง โชคชะตา สิ่งเหล่านั้นทำให้เขามีความพิเศษจริงเหรอ หรือคนที่เลือกทิศทางชีวิตของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นสิ่งที่เราเรียกว่าโชคชะตาต่างหากที่ถือว่าเขาเป็นคนพิเศษ
ความคิดแบบนี้สามารถตีความจากงานทางปรัชญาแบบ อัตถิภาวนิยมก็ได้ครับ ซึ่งผมพูดถึงบ่อยครั้งมากแล้วในโพสเก่า ๆ ของผม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการตีความของผมต่อปรัชญาของอิมมานูเอล คานท์ เกี่ยวกับเสรีภาพภายใน ซึ่งปรากฏอยู่ในงานทางอภิปรัชญาของคานท์ ที่ว่า ในทางอภิปรัชญา คนเรามีเสรีภาพจากความสามารถของเราเองที่เลือกที่จะเลือกทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยไม่สนใจองค์ประกอบภายนอก ผมมองว่า ผู้ที่มีเสรีภาพแบบนี้ต่างหากที่เป็นคนพิเศษ
นอกจากนี้ ผมยังคิดว่า แนวความคิดเรื่องเสรีภาพเช่นนี้สามารถเอามาพูดถึงเทียบเคียงในงานชั้นยอดของ One Piece ได้อีกด้วยครับ (แต่งานแบบนั้นต้องตีความและวิเคราะห์ในทางปรัชญาหลากหลายรูปแบบมาก ๆ เพราะมันนำเสนอแนวทางทางปรัชญาที่สามารถย้อนกลับไปอ้างอิงความคิดของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเยอะมาก ๆ ทำให้มีความขัดแย้งเยอะ แต่เพราะความขัดแย้งเหล่านั้นที่ทำให้งานทางวรรณกรรมที่นำเสนองานทางปรัชญามีเสน่ห์น่าหลงใหลครับ)
Jellyfish can't swim in the night
ในธีมเกี่ยวกับความพิเศษอีกอย่างหนึ่งมาจากบทสนทนาระหว่างโยรุและคุณน้องสาว ที่ว่า หากเราทำตามอะไรที่เป็นเทรนด์อยู่ เราก็จะเป็น Run-of-the-mill หมายความว่า ในความพยายามที่จะพิเศษจากการทำตามสิ่งที่พิเศษ มันจะไม่ต่างจากเป็นสิ่งลอกเลียนแบบที่กลายเป็นสิ่งไม่พิเศษแทน ดังนั้น เรื่องนี้มีธีมเกี่ยวกับเทรนด์และความเป็นไปในสื่อในโลกออนไลน์ ความโด่งดังในของดารา Social Media และอื่น ๆ ด้วยครับ
อีกธีมหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ ซึ่งมาจากธีมความพิเศษ ก็คือความคิดที่อยากจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวของตัวเอง เป็นความขัดแย้งของโยรุครับ โยรุเลิกวาดรูป ทำให้เธอในตอนนี้เป็นเพียงคนธรรมดาเท่านั้น และเธอก็เข้าใจในความธรรมดา เธอคิดว่าเธอยอมรับในความธรรมดาของเธอ แต่มันขัดแย้งกันครับ แม้ว่าเธอจะพูดออกจากปากว่าเธอธรรมดา แต่เธอกลับอยากเป็นคนอื่น ใครก็ได้ ที่ไม่ใช่เธอ เธอคนที่ธรรมดา เมื่อเธอพูดยอมรับว่าเธอธรรมดา แต่ทำไมเธอถึงเศร้าใจแบบนั้น
ในเรื่องของความธรรมดาเป็นเรื่องนี้ผมสนใจครับ อีกทั้งความอยากจะเป็นคนอื่น หรือ อยากจะเป็น “ใครสักคน” มันเป็นความรู้สึกที่ใคร ๆ ต่างก็มีกันทั้งนั้น แต่มันเป็นความจริงที่เจ็บปวดที่เราทุกคนไม่สามารถที่จะพิเศษได้หมด ธีมที่กลับมาอีกทีเมื่ออนิเมะแนะนำตัวละครอย่างนอกซ์ เด็กที่โตมามองว่าเธอเป็นตัวละครเอก แต่ความจริงที่โหดร้ายทำให้เธอใจสลาย
Oshi no Ko
อีกธีมหนึ่งคือเรื่องของไอดอลครับ แน่นอนว่าเราเจออนิเมะเกี่ยวกับไอดอลชั้นยอดในปีที่แล้วอย่าง Oshi no Ko และค่ายที่ทำเรื่องนั้น ก็คือค่ายที่ทำเรื่องนี้ครับ นั่นคือ Doga Kobo คงไม่มีค่ายไหนเหมาะที่จะทำอนิเมะแนวไปกว่าค่ายที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอนิเมะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวงการบันเทิงไปมากกว่าค่ายนี้ครับ
เรามีทั้งเรื่องอดีตไอดอลที่เจอดราม่าและต้องออกจากวง โอตาคุที่ติดตามไอดอลอย่างบ้าคลั่งอย่างคิมุระ ที่ไม่ยอมรับความจริงว่าตัวตนของไอดอลที่เธอชื่นชอบไม่มีอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีเรื่องของความโศกเศร้าที่ต้องทำใจ แต่ก็มีในด้านดีเช่นเดียวกัน เช่นพลังที่ไอดอลมอบให้ ทำให้คิมุระเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ก็อาจจะมองได้ว่า มันน่ากลัวที่เปลี่ยนแปลงตัวเองขนาดทำผมเหมือนไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ (จนผมสับสนมาก ๆ ตอนดูภาพประกอบเพลงเปิดของเรื่องนี้ ว่าใครเป็นใครกันแน่)
สิ่งหนึ่งที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ได้ใจผมไปเป็นการส่วนตัว เกิดขึ้นในตอนที่ 2 ครับ ซึ่งเป็นตอนที่แนะนำคิมุระ นักประพันธ์เพลงของวง เธอเป็นนักเปียโน และเป็นโอตาคุอดีตไอดอล (ส่วนตัวผมเข้าใจความรู้สึกในฐานะโอตะคนหนึ่งครับ) ในเรื่อง เธอเอารูปของไอดอลวางคู่กับนักประพันธ์ท่านหนึ่งที่ผมรู้จักไม่นานก่อนเริ่มดูอนิเมะเรื่องนี้พอดี นั่นคือ Sergei Rachmaninoff
Sergei Rachmaninoff
เพราะว่าวันก่อนหน้านั้น เพื่อนชิมวิสกี้ชาวเยอรมันของผมแนะนำ Prelude OP. 23 No. 5 ให้ผม เพราะเรากำลังเทียบเคียงความรู้สึกของวิสกี้กับดนตรี เช่น วิสกี้นี้ทำให้นึกถึง Beethoven No. 5 เพราะความดุดัน แต่อีกวิสกี้หนึ่งดุกว่า เราเลยเทียบกับ Beethoven No. 8 เป็นต้น ชื่อ Rachmaninoff เลยผุดมาพอดี ผมเลยแค่คิดว่ามันเหมาะเจาะอะไรแบบนี้ เพราะในตอนท้ายเรื่อง คิมุระเล่นเพลง Op. 34 No. 14 “Volcalise” ของ Rachmaninoff ที่แสดงถึงความยากลำบากของชีวิตและความเศร้า
ผมเพียงแต่พูดถึงแค่สี่ตอนแรกของอนิเมะ อนิเมะเรื่องนี้ไม่ได้ดัดแปลงมาจากสื่ออื่น มันเป็นอนิเมะ Original ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้เกิดผู้ติดตาม อนิเมะจะต้องทำตอนแรกออกมาอย่างดีเยี่ยม และมันก็สามารถทำได้จริง ๆ ครับ ต่างจากความนิยมในสมัยนี้ที่ทำอนิเมะตอนแรกออกมายาวเท่ากับหนังสั้นเรื่องหนึ่ง หรือออกสี่ตอนแรกในเวลาเดียวนั้น Jellyfish ทำตอนแรกในความยาวมาตรฐานอย่างน่าประทับใจและลงตัวครับ
มันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อนิเมะดี ๆ สามารถจับความสนใจของผู้ชมได้ภายในเวลา 20 นาทีของตอนแรก โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการอื่น แต่ผมไม่ได้หมายความว่าวิธีการอื่นไม่ดีนะครับ มันแค่ทำให้ยิ่งประทับใจมากขึ้นไปอีกเท่านั้นเอง
สิ่งที่ผมสนใจมากสำหรับเรื่องนี้ก็คือดนตรี แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้จัดว่าเป็นแนวดนตรีเสียทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้วทั้งสี่สาวไม่เชิงเป็นวงดนตรี แต่เป็นการร่วมงานกันภายใต้ชื่อของนักร้องนำ JELLEE เท่านั้นเอง ทำให้เรื่องราวไม่ได้หมุนรอบการเล่นดนตรี แต่เป็นการใช้ชีวิตและการเติบโตจากประสบการณ์ในอดีตของเหล่าตัวละครมากกว่า อย่างในฤดูกาลนี้เรามีอนิเมะแนวดนตรีอย่าง Girls Band Cry แล้วด้วย
ที่ผมอยากพูดถึงคือบทบาทของแต่ละตัวละคร เช่น เจลี่ ที่เป็นนักร้องนำ อดีตไอดอล และเป็นนักเขียนเนื้อร้อง เธอไม่ได้เปิดเผยหน้าตา เริ่มงานร้องเพลงจากการร้องเพลง Cover หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น Utaite นั่นเอง และแน่นอน ผมเป็นแฟนคลับอุไตเตะครับ อย่างที่เห็นในหลาย ๆ บทความของผม ผมชอบ Ado มาก ๆ และเป็นศิลปินที่ทำให้ผมเข้าสู่วงการอุไตเตะอย่างเต็มตัว
Ado (อ้ากกกก)
ในการฟอร์มวงดนตรีสมัยใหม่แตกต่างจากความรู้ความเข้าใจของผมที่โตมากับวงร็อก แต่ตอนนี้ ดนตรีสมัยใหม่ได้ต้องอาศัยการฟอร์มเต็มวงเหมือนแต่ก่อนแล้ว และยิ่งในยุค Social Media การที่ศิลปินคนหนึ่งจะโด่งดังขึ้นมานั้นมีได้หลายวิธีการ และมันทำให้ศิลปิน Indie มีบทบาทในสื่อบันเทิงในรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการมีนักประพันธ์เพลง นักเขียนเนื่อร้อง และเอาไปให้อีกคนประกอบเป็นดนตรี
อีกสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือบทบาทของนักวาดครับ อย่างโยรุ ซึ่งทำให้ผมคิดว่า มันถือว่าแปลกหรือไม่ ที่ในวงดนตรีมีคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนักดนตรี แต่เป็นศิลปินทางด้านอื่น มันทำให้ผมนึกถึงวง TUYU ทันทีเลยครับ เป็นวงที่ไม่เปิดเผยหน้าตา และสมาชิกของวงประกอบด้วยนักดนตรี นักประพันธ์และนักวาดอย่าง Omutatsu และ AzyuN ด้วย
TUYU
มันกลายเป็นว่า นักวาดนั้นมีบทบาทสำคัญในวงดนตรีที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตนของศิลปินครับ เพราะภาพวาดกลายเป็นตัวแทนตัวตนของนักดนตรีเหล่านั้น เช่น Ado ที่เป็นอุไตเตะก็มีคุณ Orihara เป็นเจ้าประจำที่วาดภาพให้นักร้อง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Zuto Mayonaka de Iinoni หรือ Zutomayo ที่ MV หรือภาพประกอบเพลงที่วงนี้สร้างมีส่วนสำคัญต่อดนตรีที่นำเสนอ
Zuto Mayonaka de Iinoni (ZUTOMAYO)
ผมเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะคิดเรื่องความสอดคล้องและความสมดุลกันระหว่างสื่อเชิงศิลปะที่ประกอบเข้าด้วยกัน ดนตรีสวนตัวของมันเองก็ดีของมัน ภาพก็มีส่วนดีของมัน แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกัน มันกลายเป็นสื่อใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมก็ได้ จริง ๆ ไม่ต่างจากการทำภาพยนตร์ ที่แม้จะมีภาพ แสง สี เสียงแล้ว แต่เมื่อมีดนตรีประกอบมันยิ่งทำให้ดูมีความหมายยิ่งขึ้น ผมนึกถึงหนัง Baby Driver ของ Edgar Wright ครับ
และในทางกลับกันก็เช่นกัน ดนตรีแม้จะมีเสียงที่ไพเราะแล้ว เมื่อมีภาพประกอบยิ่งมีความหมาย ดังนั้น ผมจึงคิดว่า อนิเมะเรื่องนี้ Jellyfish can’t Swim in the Night ไม่เชิงเป็นอนิเมะดนตรี แต่เป็นมากกว่าอนิเมะดนตรี เพราะหากมองออกมาจากมุมมองเรื่องดนตรีกับภาพประกอบแล้ว สิ่งที่เราดูอยู่ อย่างอนิเมะเอง ก็มีการผสมผสานระหว่าง ภาพ เสียง แสง สี ดนตรี ในเวลาเดียวกันนั่นเอง ขนาดในเรื่อง คนตัดต่อวีดีโอของวงอย่างนอกซ์ก็ถือว่าเป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน
หากเห็นแบบนี้แล้ว เราอาจจะ Appreciate อนิเมะเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นก็ได้ เพราะมันไม่ได้หมายถึงแต่การเติบโตของกลุ่มคนที่ไม่เข้าพวกกับผู้อื่น แต่มันหมายถึงคุณค่าของศิลปะที่ตัวละครสร้างขึ้น คุณค่าที่มีความหมายต่อกันและกัน ที่ผูกโยงทุกคนเข้าด้วยกัน และมันก็สะท้อนถึงตัวอนิเมะเองด้วย ที่มีการผสมผสานศิลปะในสาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การกำกับภาพ เสียงพากษ์ ดนตรีประกอบ การตัดต่อ และอื่น ๆ อีกมากมายครับ
พูดถึงเสียงพากษ์ เราได้คุณ อิโตะ มิคุมาให้เสียงโยรุ คุณโทมิตะ มิยุมาให้เสียงนอกซ์ คุณชิมาบุคุโระ มิยุริมาให้เสียงคิมูระ และคุณทาคาฮาชิ ริเอะมาให้เสียงเจลี่ และแน่นอนว่าคุณทาคาฮาชิสวมบทบาทเป็นเจลี่ร้องเพลงของวงในเรื่องด้วยครับ อนิเมะเรื่องนี้ได้คุณทาเคะชิตะ เรียวเฮย์มากำกับ ซึ่งมีผลงานใน JJK, Monthly Girls’ Nozaki-Kun และอื่น ๆ ครับ
Yuri bait? Yuri desu!
ด้วยความที่ว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็นอนิเมะออริจินอล ผมที่เป็นผู้ชมคงต้องติดตามดูต่อไปเป็นรายสัปดาห์ ความเสี่ยงมันก็มีเพราะไม่มีต้นฉบับมารับประกันความดีงามและความสำเร็จของเรื่องนี้ แต่ Jellyfish can’t Swim in the Night หากทิศทางไปได้ดี และคงเส้นคงวาไปจนจบฤดูกาล มันจะกลายเป็น Hidden Gem ประจำปีนี้ได้ไม่ยากเลยครับ ยังไงผมขอฝากและขอแนะนำอนิเมะเรื่องนี้นะครับ Jellyfish can’t Swim in the Night
โฆษณา