19 พ.ค. เวลา 04:05 • การศึกษา

รีวิว 2601231 การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) | การบัญชีที่เปรียบเสมือนป.พ.พ.มาตรา 151

ตอนที่ 1 : ความเดิมจากซีซั่นก่อนหน้า
ซีซั่นก่อนหน้าของ 2601231 คือ 2601114 การบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) ที่เรียนในปี 2 เทอม 1 ซึ่งสอนเรื่องการจำแนกต้นทุน การคำนวณต้นทุน การรวบรวมต้นทุน การบันทึกบัญชี การจัดทำรายงานการผลิตซึ่งจะถูกนำข้อมูลไปใช้ในงบกำไรขาดทุน
กล่าวโดยง่าย ก็คือ เป็นไปตามนิยามของการบัญชีที่เป็นการเลือกข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และจัดทำสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจต่อผู้ใช้ แต่จะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลต้นทุนเป็นหลัก
เพียงแต่เนื้อหาใน 2601114 จะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุน"การบัญชีการเงิน"เป็นหลัก เพราะทุกกระบวนการจะทำตามมาตรฐานการบัญชี
แต่เราก็ทราบดีว่า"การบัญชีต้นทุน" เปรียบเสมือนหน่วยสนับสนุน"การบัญชีการเงิน"และ..."การบัญชีบริหาร" ซึ่งถือเป็นภาคต่อของซีรีส์เรื่องนี้
ตอนที่ 2 : วิชานี้เรียนอะไรบ้างและเก็บคะแนนอย่างไร หัวใจสำคัญมีอะไรบ้าง
-วิชานี้มีความพิเศษตรงที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีอ.สอน 3 ท่านสลับวนกันสอนในแต่ละบทในทั้ง 3 เซคชั่น โดยเรียนตามตำราของ McGraw Hill
-กลางภาค (35 คะแนน)
1) Chapter 1 Cost Concepts
2) Chapter 5 Cost-Volume-Profit Relationships (CVP Analysis)
3) Chapter 6 Variable Costing and Segment Reporting
4) Chapter 7 Activity-Based Costing (ABC)
5) Chapter 16 Financial Statement Analysis
-ปลายภาค (45 คะแนน)
1) Chapter 8 Master Budgeting
2) Chapter 9 Flexible Budgets and Performance Analysis
3) Chapter 11 Responsibility Accounting System
4) Chapter 12 Strategic Performance Measurement
5) Chapter 13 Differential Analysis : The Key to Decision Making
-Group Project (10 คะแนน)
ออกแบบ Case Study เองหรือเลือก Case Study จาก Chapter 5 หรือ 7 หรือ 13 ได้ตามสะดวก จัดทำสไลด์และอัดวิดีโอพรีเซ็นต์ความยาวประมาณ 10 นาที
-Assignments (10 คะแนน)
ทำใน McGraw Hill Connect ซึ่งเป็นเหมือนบทฝึกหัดของแต่ละบท ทำให้ครบทุกบท เลือกคะแนนช่องที่ดีที่สุดของแต่ละบท
• หัวใจสำคัญของวิชานี้มีอะไรบ้าง
1) การควบคุม (Controlling)
2) การวางแผน (Planning)
3) การตัดสินใจ (Decision-Making)
โดยการบัญชีบริหารเป็นการบัญชีที่จัดทำสารสนเทศเพื่อนำเสนอต่อผู้ใช้ภายใน ไม่จำเป็นต้องทำตามมาตรฐานการบัญชี ขอเพียงแค่ทำแบบมีเหตุผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ภายใน
ซึ่ง"ต้นทุน"นี่เองเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการบริหาร แต่มาถึงตรงนี้ อาจจะเกิดคำถามว่า ก็เรียนมาแล้วนี่ใน 2601114 จะมาเรียนวิชานี้อีกทำไม
คำถามนี้จะยังไม่เฉลยคำตอบในตอนที่ 2
ตอนที่ 3 : บทที่สำคัญที่สุด คือ บทไหน
- Chapter 1 Cost Concepts
อ่าว เรียนมาแล้วไม่ใช่หรอใน 2601114
มี 4 เกณฑ์หลักในการจำแนกต้นทุน
1) ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Costs) VS
ต้นทุนประจำงวด (Period Costs)
2) ต้นทุนทางตรง (Direct Costs) VS ต้นทุนทางอ้อม (Indirect Costs)
3) ต้นทุนผันแปร (Variable Costs) VS ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs)
4) ต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจ (Relevant Costs) VS ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจ (Irrelevant Costs)
*เกณฑ์การจำแนกต้นทุนในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์สามารถศึกษาได้อย่างละเอียดใน 2900111 เศรษฐศาสตร์ 1
แต่คำถาม คือ จำแนกไปแล้วได้อะไร นอกจากได้คะแนนในข้อสอบ
พักชมโฆษณาสักครู่ : ถึงจุด Check In ที่ 1
หากท่านยังอ่านถึงบรรทัดนี้ ขอกราบขอบพระคุณมากครับ🙏 รบกวนพิมพ์คำว่า "MNGL" ที่คอมเม้นด้วยนะครับ เพื่อยืนยันว่ามีการ Check In ที่ 1
ตอนที่ 4 : ความสำคัญและประโยชน์ในการจำแนกต้นทุน คืออะไร
เกณฑ์ที่ 1) นั้นใช้ในรายงานภายนอก ซึ่งได้เรียนมาอย่างละเอียดแล้วใน 2601114 (Is this cost related in the product or not?) โดยในงบกำไรขาดทุน จะทำให้เราทราบว่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าเป็นเท่าไหร่ และต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นเท่าไหร่ (Product Costs or Non-Product Costs)
รายได้ค่าขาย
-ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold : COGS)
=กำไรขั้นต้น (Gross Profit : GP)
-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (Selling and Administrative Expenses : S&A)
=กำไรจากการดำเนินงาน (Net Operating Income : NOI)
(คนคิดชื่อภาษาอังกฤษคำว่า"กำไร"นี่ขยันคิดชื่อจัง)
มีแค่เกณฑ์นี้ก็เพียงพอแล้วนี่ ผู้บริหารอยากจะรู้อะไรอีก
เกณฑ์ที่ 2) อันนี้ก็เรียนแล้วใน 2601114 (Can this cost be traceable to cost objects easily?) แถมรู้ด้วยว่าหากเป็นต้นทุนทางอ้อม เราต้องมีการปันส่วน (Allocation) ให้แต่ละผลิตภัณฑ์นะ
คำถาม : สมมติเราขายไอศครีมแบบโคนและแบบถ้วย โดยที่แบบโคน ใช้ชั่วโมงแรงงานทางตรง (DLHs) เยอะกว่า ขณะที่แบบถ้วย ใช้ค่าวิจัยในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สูงกว่ามาก
จากที่เรียนมาใน 2601114 หากใช้เกณฑ์เดียวในการปันต้นทุนค่าโสหุ้ย..เอ่อ...ขอเรียกว่า
Overhead Costs ละกัน ซึ่งก็หมายถึงต้นทุนที่ไมได้รวมอยู่ในต้นทุนขั้นต้น (Prime Costs)
เช่น ชั่วโมงแรงงานทางตรง (DLHs) เป็นเกณฑ์
ซึ่งต้นทุนทางอ้อมนั้นแน่นอนว่าแบบโคนจะได้การปันส่วนไปมากกว่า แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าตัวขับเคลื่อนต้นทุน (Cost Drivers) ไม่ได้มีเพียงปริมาณ (Units) เท่านั้น
ในที่นี้ เราเห็นได้ว่าแบบถ้วยมีตัวผลิตภัณฑ์ (Product) เป็นตัวขับเคลื่อนต้นทุนด้วย
ทำให้การปันต้นทุนทางอ้อมทั้งหมดโดยใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งโรงงานนั้นอาจไม่เหมาะสมนักในกรณีนี้ ..... แล้วทำยังไงดี
เกณฑ์ที่ 3) อันนี้ก็เรียนแล้วใน 2601114 เช่น ต้นทุนอย่างวัตถุดิบทางตรงและค่าแรงทางตรงเป็นต้นทุนผันแปร ต้นทุนค่าเช่าและค่าเสื่อม (หากคิดแบบเส้นตรง) เป็นต้นทุนคงที่ เราเรียกว่าเป็นการจำแนกตาม
พฤติกรรมต้นทุน (Cost Behaviors)
ในวิชานี้เรานำเสนอว่างบกำไรขาดทุนแบบส่วนเกิน (Contribution Income Statement) ภายใต้ระบบต้นทุนผันแปร (Variable Costing)
รายได้ค่าขาย
-ต้นทุนผันแปร
=กำไรส่วนเกิน (Contribution Margin)
-ต้นทุนคงที่
=กำไรจากการดำเนินงาน
คำถาม คือ แล้วงบแบบนี้มีประโยชน์อะไร ต่างจากงบกำไรขาดทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Income Statement) ที่ใช้รายงานภายนอกยังไง .......
สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือ ในงบกำไรขาดทุนแบบดั้งเดิมที่เคยเรียนใน 2601114 รวมถึงในวิชาบัญชีการเงินต่างๆ ไม่อาจบอกเราได้ว่าเราต้องขายสินค้ากี่หน่วยถึงจะถึงจุดคุ้มทุน (Break-Even Point) และถ้าเราอยากได้กำไรตามเป้าหมาย (Targeted Profit Points) เราต้องขายสินค้ากี่หน่วย
เกณฑ์ที่ 4) อันนี้อาจจะไม่ค่อยได้เรียนใน 2601114 ซึ่งเกณฑ์นี้หมายถึงยังไง?
ในการตัดสินใจนั้น โดยทั่วไปหากมี 2 ทางเลือก สมมติเราจะต้องเลือกว่าเราจะเดินหน้าต่อกับช้อยส์ A หรือเปลี่ยนไปเป็นช้อยส์ B ดี โดยใช้หลักว่าหากผลประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) มีค่าเป็นบวก เราควรจะเปลี่ยนไปเลือกอีกช้อยส์
เช่น ตอนนี้แผนกเจบิอุสมีขาดทุนจากการดำเนินงาน 5,000 บาท ถามว่าเราควรไปต่อกับแผนกนี้หรือยุบแผนกนี้ทิ้ง (Drop or Not)
หากไม่เคยเรียนวิชานี้มาก่อนเลย แน่นอนว่าก็ยุบทิ้งสิครับ จะรออะไร ถ้ายุบทิ้งเนี่ย กิจการของเราจะมีกำไรรวมเพิ่มขึ้น 5,000 บาท
ปัญหา คือ หากเรายุบแผนกเจบิอุสทิ้ง กำไรรวมจะเพิ่มขึ้น 5,000 บาทจริงๆหรือ เพราะต้นทุนบางอย่างเรายังจำเป็นต้องจ่ายอยู่ เช่น เงินเดือน CEO (ไม่จ่ายคงไม่ได้) แสดงว่าต้นทุนนี้เป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Unavoidable Costs)
ซึ่งต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจ หมายถึง เวลาเราคิด Net Benefit เกิดจาก Benefit-Cost
อย่างในกรณีนี้ หากยุบแผนกนี้ทิ้ง
Benefit คือ ประหยัดต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoidable Costs)
Cost คือ ศูนย์เสียรายได้จากแผนกนี้
แสดงว่าต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้อยู่ในการคำนวณนี้เลย นั้นหมายถึงว่าต้นทุนนี้ไม่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจ
ตอนที่ 5 : เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาจากตอนที่ 4
จะเห็นได้ว่าในตอนที่ 4 นั้น แม้เราเคยเรียนเกณฑ์การจำแนกต้นทุนมาแล้วใน 2601114 (โดยมากจะเป็นเกณฑ์ที่ 1-3) อีกทั้งได้ใช้งานอย่างละเอียดในเกณฑ์ที่ 1-2 แต่เราอาจลืมไปว่าแล้วมันมีประโยชน์อย่างไรในการจำแนกต้นทุน จำแนกได้แล้วยังไงต่อ...
เกณฑ์ที่ 2) ➡️ Chapter 7 : ABC Costing
เครื่องมือนี้ใช้การจำแนกกลุ่มต้นทุน (Cost Pools) ตามตัวขับเคลื่อนต้นทุนเพื่อให้ได้ว่าในตัวขับเคลื่อนต้นทุนนี้มีต้นทุนรวมเท่าไหร่จึงจะหาอัตรา (Rate) แล้วค่อยปันส่วนไปให้แต่ละผลิตภัณฑ์
เกณฑ์ที่ 3) ➡️ Chapter 5 : CVP Analysis และ Chapter 6 : Variable Costing and Segment Reporting) ทำให้ทราบจุดคุ้มทุน, จุดที่จะได้กำไรตามเป้าหมาย อีกทั้งยังช่วยประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) อีกด้วย ซึ่งต่อยอดได้โดยการทำรายงานแยกตามส่วนงาน (Segment Reporting) โดยจะแยกแต่ละแผนกหรือแต่ละผลิตภัณฑ์ก็ได้ เพื่อประเมินผลงานแยกกันผ่านกำไรส่วนงาน (Segment Margin) และพิจารณาว่าควรเน้นเพิ่มยอดขายที่ส่วนงานไหนมากกว่ากัน
เกณฑ์ที่ 4) ➡️ Chapter 13 : Differential Analysis | The Key to Decision Making โดยการนำเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเท่านั้นมาพิจารณาว่าควรจะเลือกทางเลือกไหนดี
เกณฑ์ที่ 1) ไม่ต้องน้อยใจไปน้า ➡️ ไปอยู่ในบทต่างๆอย่างละนิดละหน่อยเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าต่างจากเกณฑ์อื่นอย่างไรและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ได้ในบางกรณี เช่น ในการตั้งราคาเป้าหมาย (Target Cost) หรือต้นทุนเป้าหมาย (Target Price) เราสามารถใช้ระบบต้นทุนดั้งเดิมหรือที่เรียกว่าระบบต้นทุนเต็ม (Absorption Costing // โอ้ย แต่ละอย่าง ความหมายเดียวกันแต่ชื่อเยอะเหลือเกิน เหมือนคนมีหลายชื่อ) ในการกำหนดส่วนดันราคาขึ้น (Mark Up) ได้
ตอนที่ 6 : แล้วบทอื่นๆหล่ะมีอะไรที่สำคัญบ้าง (Part 1)
Chapter 8 : Master Budgeting และ Chapter 9 : Flexible Budgets and Performance Analysis เป็นบทต่อเนื่องกัน
โดยใน Chapter 8 จะเป็นวิธีการกำหนดงบประมาณไว้ โดยเราต้องดูรูปแบบการดำเนินงานของกิจการว่าเป็นกิจการแบบใด
หากเป็นกิจการผลิต อันดับแรกจะต้องคาดการณ์ว่าจะขายเท่าไหร่ในเดือนต่อๆไป และอยากให้มีสินค้าคงเหลิอทุกสิ้นงวด (Desired Ending Inventory) เท่าไหร่
จะทำให้เราทราบต่อว่าต้องผลิตกี่หน่วย (Production Budget) ซึ่งก็แยกย่อยต่อไปว่าแล้ววัตถุดิบทางตรง, ค่าแรงทางตรงและค่าใช้จ่ายการผลิต (DM, DL and MOH Budgets) ต้องใช้ในการผลิตเท่าไหร่ตามแผนการผลิตที่วางไว้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่เป็นฝั่งรายจ่ายทั้งนั้นเลย เราก็ต้องทราบต่อว่าแล้วเงินสดจ่ายทั้งหมด (Cash Disbursement) เป็นเท่าไหร่
ทีนี้ฝั่งเงินสดรับก็ดูว่าแล้วเราเก็บเงินจากลูกค้าได้เท่าไหร่ (Cash Collection)
จับเงินสดรับ-เงินสดจ่าย=เงินสดเพิ่มขึ้น(ลดลง)สุทธิ ก็ต้องดูต่อว่าเรามีกำหนดเงินสดขั้นต่ำ (Minimum Balance of Cash) หรือไม่ หากไม่พอ ต้องมีการไปจัดหา (Financing) อย่างไรเท่าไหร่
ทั้งหมดทั้งมวลที่จัดทำตามเกณฑ์เงินสดจะได้เป็นงบประมาณเงินสด (Cash Budget)
จากข้อมูลข้างต้น เราจัดทำงบการเงินได้ว่า ถ้าเรามีการวางแผนแบบนี้ๆ หน้าตางบการเงินเราที่บ่งบอกถึงสุขภาพทางการเงินจะเป็นอย่างไร ทั้งงบกำไรขาดทุน (Budgeted Income Statement), งบฐานะการเงิน (Budgeted Statement of Financial Position) และงบกระแสเงินสด (Budgeted Statement of Cash Flows : ไม่อยู่ในรายวิชานี้ แต่เราสามารถลองทำได้)
ซึ่งหลักการคำนวณในบทนี้ หากมีพื้นฐานเดิมจากงบกระแสเงินสดในวิชาข้างเคียง 2601213 การบัญชีขั้นกลาง 2 จะช่วยให้คำนวณได้ง่ายขึ้น
ทีนี้ Chapter 9 ในการวิเคราะห์สมรรถนะ สมมติว่าต้นทุนที่เราวางแผนไว้ คือ 100 บาท แต่ต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น คือ 120 บาท แบบนี้เราจะสรุปได้หรือไม่ว่ามีการควบคุมต้นทุนที่ไม่ดี
หาก 100 บาท เกิดจาก 20 บาท/หน่วย × 5 หน่วย
แต่ 120 บาท เกิดจาก 30 บาท/หน่วย × 4 หน่วย
หมายความว่า เรามีราคาต้นทุนที่แพงกว่าที่วางเป้า แต่ใช้ปริมาณที่ต่ำกว่าที่วางเป้า
เราจึงต้องหาผลต่างด้านราคา (Revenue (Spending) Variances) และผลต่างด้านกิจกรรม (Activity Variances) ว่าน่าพอใจ (Favorable : F) หรือไม่น่าพอใจ (Unfavorable : U) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของผลต่างและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
ซึ่งเห็นได้ว่าเราไม่สามารถเทียบ 100 กับ 120 ตรงๆได้ เราจึงต้องมีการแยกออกมาว่า 100 กับ 120 เกิดจากอะไร และมีสะพานเชื่อมตรงกลางอย่างงบประมาณยืดหยุ่น (Flexible Budgets) เพื่อคำนวณผลต่างแต่ละด้านได้
โดยหลักการจะคล้ายกับเรื่องการบัญชีต้นทุนมาตรฐานที่เรียนมาใน 2601114 แต่เรื่องนี้จะง่ายกว่า
พักชมโฆษณาสักครู่ : มาเกินครึ่งบทความแล้วหล่ะครับ กราบขอบคุณจากใจจริงเลยครับที่ท่านยังอ่านถึงตรงนี้ สำหรับจุด Check In ที่ 2
คำที่ให้เขียนในคอมเม้น คือ "Jbius" ครับ
ตอนที่ 7 : แล้วบทอื่นๆหล่ะมีอะไรที่สำคัญบ้าง (Part 2)
Chapter 11 : Responsibility Accounting System และ Chapter 12 : Strategic Performance Measurement
เป็นคู่บทที่ค่อนข้างจะมีทฤษฎีสักนิดนึง โดยใน Chapter 11 จะกล่าวว่าการบัญชีตามความรับผิดชอบ (Responsibility Accounting System) มี 3 ศูนย์หลักได้แก่ ศูนย์ต้นทุน (Cost Center), ศูนย์กำไร (Profit Center) และศูนย์การลงทุน (Investment Center) แต่ขอโฟกัสไปที่ 3 ประเด็นหลักอย่าง
1) ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment : ROI)
2) กำไรส่วนที่เหลือ (Residual Income)
3) ราคาโอน (Transfer Price)
ซึ่ง 1) และ 2) จะเป็นตัววัดผลการดำเนินงานของศูนย์ลงทุน ที่ในที่นี้หมายถึงการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการดำเนินงาน (Operating Assets) ว่าสามารถสร้างกำไรกลับมาได้ในอัตราที่ต้องการหรือไม่ รวมถึงคำนึงถึงค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) ว่าควรจะไปในทางไหนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่ากัน
ศูนย์ต้นทุนและศูนย์กำไรนั้น เครื่องมือของการวัดผลจะไปอยู่ใน Chapter 9 อยู่แล้ว
และราคาโอน เป็นการโอนสินค้าภายในกิจการเดียวกัน โดยต้องหาช่วงราคาโอนที่ยอมรับได้ (Acceptable Range of Transfer Price) เพื่อสร้างกำไรให้ทั้งผู้โอนและผู้รับโอน นั่นคือ อยู่ในจุดที่ทั้งคู่แฮปปี้
ส่วน Chapter 12 จะเป็นการใช้ Balanced Scorecard ในการวัดสมรรถนะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
1) การเรียนรู้และการเติบโต (Learning and Growth)
2) กระบวนการภายใน (Internal Business Processes)
3) ลูกค้า (Customers)
4) การเงิน (Financial) ตามลำดับ
โดยจะต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ (Strategies) ของกิจการในการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า (Value-Added) เราจะมาดูว่ามีเกณฑ์อะไรบ้างที่ใช้ในการวัดผล เราอยากให้ค่าเหล่านั้นได้มากหรือน้อย
ซึ่งจะมาโฟกัสที่ข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Financial Data) ด้านที่ 2 เป็นหลัก
เช่น ประสิทธิภาพวงจรการผลิต (Manufacturing Cycle Efficiency), ประสิทธิภาพการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าที่รอคิว (Order Fulfillment Cycle Efficiency) ซึ่งจะดูว่ามีเวลาดำเนินการ (Process Time) ซึ่งถือเป็นเวลาที่เพิ่มคุณค่า (Value-Added Time) เป็นกี่ % ของเวลาทั้งหมด เราจะทำยังไงให้มี % ที่เยอะๆ
ประสิทธิภาพโดยรวมของอุปกรณ์ (Overall Equipment Efficiency *Excluded from the Final Exam)
การสร้าง Balanced Scorecard จะสร้างจากด้านที่ 1 ไปด้านที่ 4 ไล่ตั้งแต่การทำให้โครงสร้างพนักงานแข็งแรง, กระบวนการภายในมีประสิทธิภาพ, มุมมองของลูกค้าต่อกิจการมีทิศทางที่ดี และตัวเลขกำไรรวมถึงกระแสเงินสดและมูลค่าหุ้นดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะสอดรับกันทีละขั้นตอน หากด้านที่ 1-3 ดี ด้านที่ 4 ก็ย่อมดีด้วย
Chapter 16 : Financial Statement Analysis
บทนี้จะเรียนเหมือนกับการวิเคราะห์งบการเงินในวิชา 2604294 การเงินธุรกิจพื้นฐาน ซึ่งเรียนในเทอมเดียวกัน
โดยจะเน้นการวิเคราะห์ที่งบฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนอย่างง่าย ว่าเราไม่สามารถเปรียบเทียบตัวเลขดิบๆได้ เช่น กำไรปีนี้ 100 บาท กำไรปีที่แล้ว 50 บาท ไม่อาจบอกได้ว่าปีนี้ดีกว่า เพราะอย่าลืมว่ายอดขายทั้ง 2 ปีไม่ได้เท่ากัน
ต้องทำให้ตัวเลขเป็นขนาดเท่ากัน (Common Size) โดยการวิเคราะห์แนวดิ่ง (Vertical Analysis) แล้วเปลี่ยนตัวเลขดิบเป็นอัตราส่วน (Ratio) หรือ % เช่น กำไรปีนี้เป็น 5% ของยอดขาย ปีที่แล้ว 10% ของยอดขาย แบบนี้จะถือว่าปีที่แล้วดีกว่า
หากเราเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างอดีตกับปัจจุบันของตัวเอง 2 ปี นับเป็นการวิเคราะห์แนวราบ (Horizontal Analysis) หาก 3 ปีอัพ จะเรียกว่าการวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis)
ค่าทางการเงินอาจแบ่งได้หลายด้าน
เช่น
1) สภาพคล่อง (Liquidity)
-Current Ratio (+)
-Quick Ratio (+)
2) การจัดการสินทรัพย์ (Asset Management)
-Inventory Days (-)
-Receivable Days (-)
-Turnover (+)
3) การจัดการหนี้สิน (Debt Management)
-Payable Days (+)
-D:E Ratio (-) *
*มีเยอะกว่าไม่ได้แปลว่าไม่ดี เพียงแต่ในที่นี้จะมองว่ามีความเสี่ยงมากกว่า
-Times Interest Expense (TIE) (+)
4) ความสามารถในการทำกำไร (Profitability)
-ROA (+)
-ROE (+)
-ROS (+)
-Operating Margin (+)
5) มูลค่าตลาด (Market Value)
-EPS (+)
-Price to Book Value (?)
-Price to Earnings (?)
-Dividend Payout (+)
(+)=ยิ่งเยอะยิ่งดี
(-)=ยิ่งน้อยยิ่งดี
(?)=ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองในมุมของใคร
การเปรียบเทียบทำได้โดยหลัก 4 วิธี
1) เทียบกับเป้าหมาย
2) เทียบกับตัวเองในอดีตอย่างที่กล่าวไปตอนต้น
3) เทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ไซส์ใกล้เคียง
4) เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดียวกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าเหล่านี้ต่อให้นำมาเทียบกันแล้ว เป็นเพียงการบอกในเบื้องต้นเท่านั้นว่าใหม่หรือเก่าดีกว่ากัน บริษัท ก หรือ ข ดีกว่ากัน ไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่าจริงหรือไม่ ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่น งบการเงินที่ไม่ใช่ 2 งบนี้ อย่างงบกระแสเงินสด หมายเหตุประกอบงบ ข้อมูลที่มิใช่ทางการเงิน และอื่นๆประกอบการตัดสินใจ
ตอนที่ 8 : สรุปแล้ววิชานี้เรียนไปเพื่ออะไร ซีซั่นนี้ต่างจากซีซั่นก่อนหน้าอย่างไร
ย้อนกลับไปในตอนที่ 2 มีคำถามที่ทิ้งไว้ว่าทำไมต้องเรียนวิชานี้อีก
ในเมื่อ 3 แกนหลักของวิชานี้ ได้แก่
1) การควบคุม 2) การวางแผน 3) การตัดสินใจ
ซึ่งในแต่ละบทก็จะมีการสอดแทรกเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และสังเกตได้ว่า"ต้นทุน"จะปะปนอยู่ในแทบทุกบท เพราะต้นทุนเป็นสิ่งที่นักบัญชีจะต้องคอยช่วยรายงานให้ผู้บริหารทราบเพื่อ"การควบคุม, การวางแผนและการตัดสินใจ"
ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องในทางระบบบัญชี
สามารถศึกษาได้โดยละเอียดใน 2601251 ระบบสารสนเทศทางการบัญชี (แต่ผู้เขียนก็ยังทำได้ไม่ดีในวิชานี้เท่าไหร่เลย)
ขณะที่ซีซั่นก่อนหน้าอย่าง 2601114 นั้น ทำให้เราเข้าใจเรื่องต้นทุนในมุมมองของการสนับสนุน"การบัญชีการเงิน"
แต่ในซีซั่นนี้อย่าง 2601231 เป็นการต่อยอดพื้นฐานเหล่านั้นและมุ่งเน้นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจของผู้บริหาร
ตอนที่ 9 : ป.พ.พ.มาตรา 150 VS ป.พ.พ.มาตรา 151
ไขปริศนาของพาดหัวของบทความนี้
ใจความหลักของป.พ.พ.มาตรา 151 "การใดตกลงแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย หากไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี การนั้นไม่เป็นโมฆะ"
กล่าวคือ สัญญาใดก็ตามที่เราตกลงแตกต่างจากกฎหมาย หากเรื่องนั้นไม่มีประกาศควบคุมหรือพ.ร.บ.ใดๆ เราสามารถตกลงเป็นอื่นได้หากคู่สัญญายินยอม นับเป็นเรื่อง"เสรีภาพในการทำสัญญา"
การบัญชีบริหารนี้ก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเราใช้เครื่องมือต่างๆมากมายได้เพราะการบัญชีบริหารไม่จำเป็นต้องทำตามที่เราต้องการ อีกทั้งเราก็ใช้เครื่องมืออื่นๆที่ต่างจากที่เราเรียนในรายวิชานี้ได้อีกเช่นกัน
แต่ในทางการบัญชีการเงิน เปรียบเหมือน ป.พ.พ.มาตรา 150 ที่มีใจความหลักว่า "การใดตกลงแตกต่างซึ่งขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ"
กล่าวคือ สัญญาใดที่อยู่ภายใต้ประกาศควบคุมหรือพ.ร.บ.ใดๆ แปลว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เราไม่อาจตกลงแตกต่างจากบทบัญญัติได้
การบัญชีการเงินก็เช่นกัน เพราะเราต้องทำตามมาตรฐานการบัญชี ไม่สามารถที่จะทำแตกต่างได้
สามารถศึกษาเรื่องป.พ.พ.มาตรา 150 และ 151 ได้อย่างละเอียดใน 3401256 กฎหมายธุรกิจ 2
ตอนที่ 10 : บทส่งท้าย เทอมที่ 2 ของการเริ่มเรียนบัญชีรู้เรื่อง
หากท่านใดเคยอ่านบทความ"การพลิกวิชาบัญชีในการบัญชีขั้นกลาง 2" คงทราบดีเรื่องที่ว่า ผู้เขียนเคยเกลียดวิชาบัญชีมากตอนปี 1 ซึ่งตอนบัญชีขั้นต้นได้ D+ แต่ในปี 2 ได้มีการพลิกครั้งใหญ่จนเป็นอย่างที่เขียนบทความมาได้จนถึงบรรทัดนี้
ในเทอมนี้ ถึงแม้ 2601231 จะไม่ได้มีอิมแพคถึงขนาดน้ำตาแตกอย่าง 2601213 ในเทอมก่อน (น้ำตาแตกด้วยความเหลือเชื่อและดีใจกับตัวเองมาก) แต่ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่วิชาบัญชีเราได้พัฒนาขึ้นมาอีกจุดนึง ต่อยอดจากเทอมที่แล้วได้อย่างต่อเนื่อง
ได้เห็นมุมมองของบัญชีนอกจากการเดบิตเครดิตและจัดทำงบการเงิน ว่าเราสามารถออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลได้ตามที่เราต้องการ โดยอาศัยหลักเหตุผลและความรู้พื้นฐานที่เรียนในวิชานี้ไปต่อยอดในวิชาที่สูงขึ้น เชื่อลึกๆว่าเรากำลังมาในทิศทางที่ถูกต้อง
เทอมนี้เป็นรสชาติใหม่ที่เรียนวิชาบัญชีเป็นภาษาอังกฤษ แต่เราก็สามารถปรับตัวได้แม้จะแอบกังวลในตอนแรกเล็กน้อย ซึ่งอ.ทั้ง 3 ท่านน่ารักและใจดีมาก ทำให้เราเรียนได้อย่างแฮปปี้มาก
ขณะนี้ วิชานี้ก็ขึ้นแท่นเป็นวิชาที่สมรรถนะยอดเยี่ยมที่สุดของตัวเอง ล้มแชมป์เก่าอย่าง 2301119 แคลคูลัสธุรกิจ ที่ครองบัลลังก์มา 3 เทอม ในเทอมต่อๆไปก็หวังว่าจะมีวิชาอื่นๆมาล้มวิชานี้ และต่อไปอีกก็จะมีวิชาต่อๆไปมาล้มแชมป์เรื่อยๆ เพื่อแสดงถึงพัฒนาการในทุกเทอม
แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนายังมีอีกมาก เราเป็นเพียงแค่คนธรรมดาตัวเล็กๆคนนึงที่ขอเติบโตทีละนิดในแบบของตัวเอง
ในเทอมนี้ได้จัดทำคลิป Managerial Accounting ครบทุกบท ถือเป็นวิชาที่ 2 ที่ทำคลิปแบบ Full Courses ได้ ต่อจากการบัญชีขั้นกลาง 2
แต่ที่พิเศษกว่า คือ บรรยายเป็นภาษาอังกฤษพร้อมทบทวนเป็นภาษาไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนในชั้นเรียนและฝึกการพูดภาษาอังกฤษของตัวเอง อาจจะยังติดๆขัดๆ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ลองพูดอะไรแบบนี้
ที่พิเศษสุดๆ คือ มีคลิป Review for the Midterm Exam และ Review for the Final Exam (ภาษาไทย) ซึ่งความยาวทั้ง 2 คลิปรวมกันเพียง 4 ชั่วโมงเศษๆ แต่แทบจะเรียกว่าครอบคลุมเนื้อหาหลักของทั้งเทอมเลย เป็น 2 คลิปที่แนะนำเป็นพิเศษ แล้วเสียงตอบรับจากเพื่อนๆดีมาก ทำให้เราเองก็ดีใจและขออนุญาตภูมิใจในสิ่งเล็กๆที่เราได้ทำอย่างตั้งใจ
ทุกท่านสามารถรับชมคลิป Managerial Accounting ครบทุกบทได้ที่ลิงค์ของเพลย์ลิสต์นะครับ (จะแปะลิงค์ในคอมเม้นครับ) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ มีความคิดเห็นติชมอย่างไร สามารถคอมเม้นมาได้เลยครับผม
ฝากกด Like, Share และ Subscribe ช่อง Youtube : Jbius Boy - เจบัญชีจุฬา ด้วยนะครับ
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงทั้งการอ่านบทความนี้และติดตามช่อง Jbius Boy ครับ🙏
#บัญชีจุฬา
โฆษณา