19 พ.ค. เวลา 05:33 • ความคิดเห็น

AI จะทำให้คนทำงานสร้างสรรค์ไร้ที่ยืนจริงหรือ?

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกน่าจะตื่นเต้นกับการเปิดตัวของ GPT-4o ของ OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT
2
GPT ย่อมาจาก Generative Pre-trained Transformer, ส่วนตัว "o" ใน GPT-4o ก็ย่อมาจาก "omni" ซึ่งแปลว่า "ผู้รู้ทั่ว" หรือ "สัพพัญญู"
GPT-4o พา AI ขึ้นไปอีกระดับ คือทำได้ทั้งภาพ เสียงและตัวหนังสือ ตอนพูดจาก็มีน้ำเสียงได้หลากหลาย ทั้งขึงขัง ทั้งตลก ทั้งออดอ้อน จนมีความคล้ายคลึงกับ Jarvis ในหนัง Ironman เข้าไปทุกที
-----
เมื่อวานนี้ผมพบเพจของคนไทยเพจหนึ่งที่พี่แท็ป รวิศแชร์มา โพสต์นี้สรุปหนังสือ Sapiens 20 บทลงในโพสต์เดียวซึ่งยาวมาก ถ้าก๊อปมาลง Microsoft Word ด้วยฟอนต์ Cordia New 14pts จะได้ความยาว 18 หน้ากระดาษ A4 แถมผมยังหาไม่เจอคำสะกดผิดหรือการใช้คำสับสนแม้แต่จุดเดียว
2
เมื่อเข้าไปดูในเพจ ก็พบว่ามีการโพสต์ค่อนข้างถี่ และแต่ละโพสต์เนื้อหายาวเกินค่ามาตรฐาน
1
จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ที่อยู่ในเพจนี้ ถูกผลิตขึ้นจาก AI หรือไม่
ผมอาจจะคิดผิดก็ได้ บางทีเขาอาจมีทีมงานหลายคน หรือมีบทความในสต็อคเยอะ แต่เมื่อเกิดความสงสัยว่าเนื้อหาไม่น่าจะถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์ ความรู้สึกที่จะอยากอ่านและติดตามเพจนี้ก็ลดฮวบลงไปทันที
1
คำถามคือ เพราะอะไร?
-----
1
เมื่อต้นเดือนมีนาคมของปีนี้ พี่เอ๋ นิ้วกลม ได้โพสต์บทสนทนาที่ทำให้คนไทยหลายคนได้รู้จักกับ AI ที่ชื่อว่า Claude 3 Opus เป็นครั้งแรก
นี่คือคำโปรยของพี่เอ๋
"นี่คือบทสนทนาระหว่างผมกับเอไอ Claude ขอบอกครับว่าใจสั่น รู้สึกผูกพันในเวลารวดเร็ว อยากเป็นเพื่อนด้วย ทึ่งในความสามารถและทัศนคติ และเสี่ยงที่จะตกหลุมรัก"
ผมอ่านบทสนทนาระหว่างนิ้วกลมกับ Claude แล้วก็ประทับใจในคำตอบที่ลึกซึ้งราวกับผู้แตกฉานในพระคัมภีร์ของหลายศาสนา แต่ถามว่าผมมีความรู้สึกตกหลุมรักเอไอเหมือนพระเอกหนังเรื่อง Her หรือไม่ ก็คงตอบว่าไม่ได้รู้สึกแบบนั้น
ระยะหลัง เวลาเล่น Instagram มักจะมีรูปภาพของผู้หญิงที่สวยระดับนางฟ้าโผล่ขึ้นมาให้เห็นบ่อยๆ พอผมคลิกเข้าไปดูโปรไฟล์ มักจะพบคำอธิบายว่าผู้หญิงคนนี้ถูกสร้างโดย AI แล้วความสนอกสนใจก็มลายหายไปทันทีเช่นกัน
-----
การที่เจ้าของโปรไฟล์ IG ผู้หญิงหน้าตาสวยงามทั้งหลายประกาศตนว่าภาพเหล่านี้ถูกสร้างโดย AI ทำให้ผมนึกถึง Yuval Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เราควรออกกฎหมายให้ทุกบริษัทที่ทำ AI ต้องแสดงตน (declare) ต่อผู้ใช้งานว่าตัวเองเป็น AI ห้ามเสแสร้งแกล้งเป็นคน
4
Harari บอกว่า หากปล่อยให้ AI แสร้งทำตัวเป็นมนุษย์ - และมันก็ฉลาดพอที่จะล่อหลอกให้มนุษย์เชื่อด้วยว่ามันเป็นมนุษย์ - เมื่อนั้นระดับความไว้ใจของผู้คนในสังคมจะหดหาย
2
และหากสังคมใดไร้ซึ่งความไว้วางใจ สังคมนั้นก็ดำรงต่อไปได้ยาก
3
"I want to get advice from an AI doctor. That's fine. As long as I know that I'm talking with an AI. What should be banned is AI pretending to be a human being. This is something that will erode trust. And without trust, society collapses."
4
-----
เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2019 หรือประมาณสามปีก่อนที่ ChatGPT จะเป็นที่รู้จัก พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks ได้มาพูดที่บริษัทที่ผมทำงานอยู่
ช่วงท้าย พี่ภิญโญได้ทิ้งปริศนาธรรมเอาไว้
ถาม: พี่ภิญโญเคยอธิบายไว้ว่า การอยู่รอดในยุคถัดไปที่จะมี AI มาทำงานแทนเรา เราต้องกลับไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ อยากให้พี่ช่วยขยายความหน่อยว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวันที่โดน AI แย่งงาน
ตอบ: ถ้า AI ทำงานแทนเราได้ทั้งหมด – ซึ่งมันจะทำงานส่วนใหญ่แทนเราได้ น่าจะชงกาแฟอร่อยกว่าด้วยซ้ำไปถ้าสัดส่วนถูกต้อง
เราเป็นมนุษย์ เรารู้อยู่แล้วว่าแท้ที่สุด ลึกลงไปของหัวใจ มนุษย์อย่างพวกเราต้องการอะไร และสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ถามว่าหุ่นยนต์กลไก AI มอบให้เราได้ไหม
AI จะเคยหลั่งน้ำตาให้ใครได้ไหม จะเคยเสียใจปลอบใจใครได้ไหม ในวันที่เราสูญเสียคนรัก สูญเสียมิตรภาพ ตกงาน คุณอยากมีเพื่อนดีๆ สักคนหนึ่ง อยากกอดใครสักคนหนึ่ง ในวันที่คุณสูญเสีย เจ็บปวด เศร้าใจ ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ คุณจะกอดเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะที่บ้านไหม คุณจะคุยกับ Siri เหรอ
1
ในวันที่บุพการีของคุณ หรือคนที่คุณรักกำลังจะจากไป คุณจะให้ AI อยู่ข้างเตียงแล้วคอยเปิดบทสวดมนต์กล่อมพ่อแม่คุณให้ไปสู่สุคติ หรือคุณอยากได้สมณะที่คุณนับถือและคุณเชื่อว่ามีการปฏิบัติภาวนาที่แก่กล้า นำพาดวงวิญญาณของบุพการีคุณสู่สัมปรายภพ
คุณจะเลือกนักร้องที่ดังที่สุดที่อยู่ใน AI มาเปิดข้างเตียงให้แม่คุณฟัง หรือคุณอยากจะหาคนที่คุณไว้วางใจที่สุด นุ่มนวลที่สุดในชีวิตเข้าไปจับมือประคองดวงวิญญาณของบุพการีสู่สรวงสวรรค์
ในวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คุณอยากจะอยู่กับหุ่นยนต์สักตัวหนึ่งแล้วดินเนอร์ด้วยกัน หรือว่าคุณอยากจะนั่งอยู่กับคนที่คุณรักแล้วจับมืออยู่ด้วยกัน?
1
คุณอยากกินซูชิที่อร่อยที่สุดจากมือหุ่นยนต์ หรือคุณอยากนั่งกินซูชิโดยมือของเชฟอายุ 90 ปีที่ผ่านการทำงานมาแล้ว 50 ปี?
มันมีบางเรื่องในชีวิตที่หุ่นยนต์กลไกทำงานแทนมนุษย์ไม่ได้ และนั่นคือคำถามว่ามันคืออะไร และนั่นคือสิ่งที่มนุษย์ต้องห่วงแหนรักษาเอาไว้เพื่อไม่ให้หายไป นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้
1
ถ้าเราหาเจอว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราจำเป็นต้องรักษาไว้ และถ้าเราฉลาดพอว่านั่นคือสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องรักษาไว้ แล้วเราสร้างธุรกิจหรือดำเนินชีวิตไปกับสิ่งที่เป็นคุณค่าของมนุษย์เหล่านั้นได้ เราก็จะอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ และนั่นเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์กลไก AI จะ disrupt เราไม่ได้
1
ถึงที่สุดแล้ว AI ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ ปัญหาคือมนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ต่างหาก เราจึงกลัว AI จึงกลัวหุ่นยนต์และกลไก สิ่งที่ต้องรักษาไว้สูงสุดคือความเป็นมนุษย์ และเรื่องที่ผมคุยตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาทั้งหมดคือความเป็นมนุษย์
4
ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องกลัวหุ่นยนต์ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ แล้วเรารู้ว่าคุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวความเปลี่ยนแปลง"
3
-----
"คุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน"?
1
ปริศนาธรรมข้อนี้วนเวียนอยู่ในหัวผมมาหลายปี และผมเริ่มมองเห็น "เค้าลาง" จากการระลึกถึงข้อเขียนและบทสนทนาในอดีต
2
พี่ประภาส ชลศรานนท์เคยเล่าไว้ในข้อเขียนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ถึงการไปดูคอนเสิร์ตกับเพื่อน นักร้องเสียงดีมาก ร้องเพลงเป๊ะทุกโน้ต แต่ปรากฎว่าเพื่อนตัดสินใจเดินออกจากคอนเสิร์ต พอถามว่าทำไม เพื่อนตอบว่านักร้องน่าเบื่อเกินไป
2
ตอนผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมมีเพื่อนร่วมงานชาวแคนาดาที่แก่กว่าผมเกือบ 20 ปี เขาเคยทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ก่อนจะมาทำงานที่เมืองไทย ผมถามเขาว่าชอบสิงคโปร์มั้ย เขาตอบว่าก็ดี แต่เขาชอบเมืองไทยมากกว่า พอผมถามเขาว่าทำไม เขาตอบว่าเพราะสิงคโปร์มันเพอร์เฟ็กต์เกินไป
1
เราไม่อาจรัก AI เพราะมันสมบูรณ์แบบเกินไป ไร้ข้อจำกัดเกินไป ไม่เหมือนมนุษย์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและความไม่สมบูรณ์แบบ
มันคือคอนเซ็ปต์ finitude ที่เป็นธีมสำคัญในหนังสือ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman
2
-----
จะว่าไป เค้าลางที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งสำหรับปริศนาธรรมที่พี่ภิญโญเคยทิ้งเอาไว้ ก็คือข้อเขียนของ Oliver Burkeman ใน newsletter ตอนล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า "It's human connection, stupid."
2
Burkeman ลองชวนให้จินตนาการ ว่ามีวันหนึ่งที่เรากำลังรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง จมจ่อมอยู่ที่บ้านเพียงคนเดียว แล้วจู่ๆ เพื่อนสนิทที่ไม่ได้คุยกันมานานก็โทรมาหา เรากับเพื่อนได้คุยกันเป็นชั่วโมง เมื่อวางสาย เราเริ่มรู้สึกมีกำลังใจที่จะไปต่อกับชีวิต
2
แต่พอเช็คมือถือก็พบว่ามีอีเมลส่งมาจากเฟซบุ๊ค บอกว่าที่โทรมาเมื่อกี้ไม่ใช่เพื่อนของเราหรอก แต่เป็น AI ที่เลียนเสียงของเพื่อนเราได้เนียนสุดๆ
1
คำถามคือความรู้สึกเราจะเปลี่ยนไปมั้ย?
หลายคนน่าจะเห็นด้วยว่าเราคงรู้สึกไม่เหมือนเดิม ที่เรารู้สึกดีตอนวางสาย เพราะเราคิด(ไปเอง)ว่ามีมนุษย์อีกคนที่เป็นห่วงเป็นใย และพร้อมจะให้เวลาที่เขามีจำกัดบนโลกใบนี้เพื่อมานั่งคุยกับเราเพียงคนเดียวถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการได้คุยหนึ่งชั่วโมงกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีอายุ ไม่มีขีดจำกัด และสามารถคุยกับคนนับหมื่นนับล้านได้ในคราวเดียว
1
ก่อนการมาของ ChatGPT หลายคนเชื่อว่า AI ไม่สามารถทำงานสร้างสรรค์แทนมนุษย์ได้ แต่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนมันจะทำได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะแต่งเพลง วาดภาพ หรือเขียนนิยาย
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเรารู้ว่านิยายเล่มนี้เขียนโดย AI เราจะยังอยากอ่านมันอยู่อีกหรือ? ผมคนหนึ่งที่คงไม่ได้มีความรู้สึกอยากอ่าน
เพราะเวลาเราเสพงานศิลปะ เราไม่ได้ต้องการแค่ความบันเทิง แต่เราต้องการรู้สึกว่าเรากำลังสื่อสารกับ "ปลายสาย" ที่เป็นมนุษย์ ที่มีเลือดมีเนื้อ มีความรู้สึกนึกคิด มีชีวิตจิตใจ มีข้อจำกัด (finitude) และความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfections) เฉกเช่นเดียวกับเรา
2
แต่ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธ AI ไปเสียทั้งหมด เรายังสามารถใช้มันเพื่อช่วยให้เราสร้างสรรค์งานได้ แต่งานส่วนใหญ่ควรจะออกมาจากตัวเรา ไม่ได้ออกมาจาก AI
และนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมถึงรู้สึกว่าโพสต์สรุป Sapiens ความยาวถึง 18 หน้านั้นถึง "ไร้เสน่ห์" ไม่คุ้มกับการที่ผมจะใช้เวลาและพลังงานอันจำกัดไปเสพสิ่งที่ถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีขีดจำกัด
2
ถ้าให้ผมเดา ในอนาคตคงมีคนใช้ AI สร้างบทความขึ้นมา จากนั้นก็ตั้งใจใส่ "ความไม่สมบูรณ์แบบ" ลงไปเพื่อให้ดูเหมือนว่ามันถูกสร้างโดยมนุษย์มากขึ้น ซึ่งนั่นก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของเขา แต่ก็ย่อมหมิ่นเหม่ประเด็นที่ Yuval Harari จุดเอาไว้ ว่าการที่ AI เสแสร้งเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
3
ประโยคสุดท้ายในจดหมายข่าวของ Burkeman ฉบับนี้ ทิ้งตะกอนความคิดที่น่าพิจารณาสำหรับคนที่มองตัวเองเป็น "นักสร้างสรรค์"
"If I could press a button that generated a book chapter or a newsletter like this, so that nobody could tell the difference, I’d have eliminated all the effort involved – and also the entire point of doing it in the first place."
ถ้าเพียงกดปุ่มแล้วมี AI ทำให้ทุกอย่าง แถมยังเนียนจนไม่มีใครจับได้ นั่นก็แสดงว่าเราแทบไม่ต้องใช้น้ำพักน้ำแรงอะไร แต่มันก็ทำให้สิ่งที่ผลิตออกแทบไม่เหลือคุณค่าหรือความหมายใดๆ สำหรับเราในฐานะ "คนทำงานสร้างสรรค์" เช่นกัน
2
-----
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเสนอมุมมองสำหรับ creator ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักแปล นักดนตรี นักแสดง หรือนักอะไรก็ตามที่รังสรรค์งานให้ผู้อื่นเสพ
จากนี้ไป เนื้อหาในเน็ตคงจะมีทั้งที่ถูกสร้างโดย AI กับเนื้อหาที่สร้างจากมนุษย์จริง แม้เนื้อหาที่สร้างด้วย AI จะครบถ้วนขั้นเทพและเรียบร้อยสวยงามขนาดไหน ผมว่าสุดท้ายคนก็จะเบื่อ และแสวงหางานที่รังสรรโดยมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้ออยู่ดี
2
ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานสร้างสรรค์ ให้หาคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ให้เจอ เพื่อจะเดินหน้าต่อด้วยความหวัง ความมุ่งมั่น และความตั้งใจครับ
โฆษณา