การเลือกเบสในการทำ Senior Project

ไอดีจุฬา (ID CU) หรือภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งหมด 6 เบส (Base) ซึ่งแบ่งตามลักษณะหัวข้อ กระบวนการทำงาน และแนวทางการออกแบบออกมาเป็น 6 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Experience Based, Passion Based, Community Based, Technology Based, Issue Based, และ Material and Context Based
กระบวนการในการเลือกเบสนั้น เปรียบเสมือนการเลือกบ้านที่จะอยู่อาศัยไปตลอดปี เริ่มแรกนิสิตทุกคนจะต้องเขียน Proposal เกี่ยวกับ Senior project ที่ตนเองอยากทำ เป็นการอธิบายงานพอสังเขปว่า หัวข้อนี้มีที่มาอย่างไร ตัวนิสิตต้องการจะทำอะไรต่อไป จากนั้นจะต้องยื่น Proposal และรายชื่อวิชาเลือก (Area Focus) ที่เคยเรียนตั้งแต่ปี 2 ไปให้อาจารย์เบสที่เราต้องการอยู่ 3 ลำดับแรก หลังจากนั้นอาจารย์แต่ละเบสจะพิจารณาว่า จะรับเราเข้าเบสหรือไม่ เมื่อเข้าไปในเบสแล้ว แต่ละเบสจะมีวิธีการเรียนและการทำงานแตกต่างกันไป ดังนี้
Experience Based สำหรับการทำงานของเบสนี้ จะเริ่มต้นจากการหา รวบรวม และคัดกรองเทรนด์ (Trend) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาค้นคว้าและวิเคราะห์จนเกิดประเด็นที่น่าสนใจ เช่น มีความสนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์หลัก และรวมประเด็นการใช้ชีวิตให้รักโลกมากขึ้นของ Generation Z
หลังจากได้หัวข้อหลักๆ แล้วจะนำไปสู่การค้นคว้าข้อมูล และสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลจนเห็นปัญหา จุดที่น่าสนใจ หรือ ความต้องการ ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการออกแบบเพื่อตอบประเด็นนั้นๆ สรุปโจทย์ให้ชัดเจน กำหนด Design Requirement ว่าต้องทำสิ่งใดบ้าง และนำมาคัดกรองเพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และนำไปทำ Concept Testing ทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การออกแบบความงาม มีการกำหนด Mood and Tone ของงาน ออกแบบ Touchpoints และพัฒนางาน ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อทดสอบว่างานของเราตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
Passion Based เบสนี้ไม่ได้มีการกำหนดกระบวนการทำงานหรือกำหนดว่าชิ้นงานจะต้องออกมาเป็นอะไร เป็นเบสที่ทุกคนทำงานจากคนสนใจ ความชอบ และ ‘แพสชั่น’ ซึ่งทำให้กระบวนการทำงานของแต่ละคนในเบสแตกต่างกันไปตามหัวข้อและความถนัดของแต่ละคน บางคนเริ่มจากสิ่งที่ชอบแล้วนำไปสู่แนวคิดผ่านการค้นคว้า บางคนเริ่มจากการทดลองวัสดุหรือเทคนิคและนำไปสู่แนวคิดการออกแบบที่เข้ากับเทคนิคนั้น ๆ หรือเริ่มจากปัญหาและแก้ไขด้วยความชอบได้ ทำให้เบสนี้ได้ผลงานออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำเกม ผลิตภัณฑ์ แคมเปญ และอื่น ๆ อีกมากมาย
Community Based การทำงานของเบสคอมมูนิตี้เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนที่เราเลือกโดยเริ่มต้นจากการศึกษาทั้งความเป็นมา ปัญหาทั้งหมดในชุมชน ผ่านทางอินเตอร์เน็ต งานวิจัย บทความ รวมไปถึงลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจ สัมภาษณ์ชาวบ้าน และนำมาออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์และความต้องการของชุมชน ซึ่งจะเป็นการออกแบบเพื่อเสริมภาพลักษณ์ด้วยการทำแบรนด์ให้ชุมชน ออกแบบโลโก้ ทำสื่อประชาสัมธ์ต่าง ๆ มีการคิด Content ที่จะช่วยดึงดูดคนมาในพื้นที่ ให้ชุมชนมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ตรงเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกับชุมชน
Technology Based เบสเทคโนโลยี จะเริ่มโปรเจคจากความชอบ ความสนใจของแต่ละคน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบหลักคือ เริ่มจากหัวข้อและประเด็นที่สนใจ แล้วนำเทคโนโลยี โปรแกรม มาช่วยนำเสนอให้เกิดความน่าสนใจ หรือแบบที่สอง ซึ่งเริ่มจากเทคนิคที่สนใจ เช่น อยากทำเกม แอนิเมชั่น แล้วค่อยหาหัวข้อมาให้ผลงานในภายหลัง หลังจากได้หัวข้อมาแล้ว ทุกคนจะต้องทำออกมาเป็นงานที่สามารถใช้งานได้จริง เช่น เว็บไซต์ต้องใช้งานได้ แอนิเมชั่นต้องขยับได้จริง
ซึ่งผลงานทั้งหมดไม่ได้เน้นแค่การใช้งานแต่ต้องเน้นเรื่องความสวยงามเช่นเดียวกัน
สุดท้ายแล้วผลงานจากเบสนี้ ต้องเปนงานที่สร้างมาจากโปรแกรม ไม่ว่าจะเปนโปรแกรมวาดภาพ สร้างผลงานสามมิติ ทำแอนิเมชั่น เขียนโค้ด ใช้งานโปรแกรมที่ช่วยสร้างงานออกแบบได้ (Figma หรือ Adobe) และในท้ายที่สุดก็สามารถออกมาเป็นได้ทั้งเว็บไซต์ เกม แอนิเมชั่น แบรนด์ดิ้ง ตลอดจนการสร้างตัวละครและฉาก
Issue Based การทำงานในภาคเรียนแรกคือการหาหัวข้อโปรเจกต์ โดยเริ่มจากการหาประเด็น ‘ปัญหา’ ทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก เช่น เริ่มต้นจากการเลือกปัญหาของวัยรุ่นที่มีการนอนดึก ในระหว่างภาคเรียนแรกก็จะเริ่มค้นคว้า อ่านเปเปอร์ ทำแบบสำรวจกลุ่มตัวอย่าง เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหาได้ และหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง จากนั้นจะเลือกปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยผลงานออกแบบมาทำต่อในภาคเรียนถัดไป ซึ่งในภาคเรียนนี้จะมีการใช้เครื่องมือออกแบบที่เราได้เรียนมา และสามารถเลือกมาใช้เองตามที่เหมาะสมของโครงการแต่ละคน
Material and Context การทำงานของเบสนี้ สามารถเริ่มต้นได้สองแบบ คือเริ่มจากวัสดุ หรือเริ่มต้นจากบริบท ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลงานที่ออกมาจะต้องมีทั้ง ‘วัสดุและบริบท’ โดยถ้าเริ่มจากวัสดุจะเป็นช่วงค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับวัสดุนั้น ๆ ว่าวัสดุที่เราเลือกมันมีความสามารถอะไร ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ 'วัสดุ' อาจจะเป็นการเริ่มจากเทคนิคก็ได้ เช่น เทคนิคการเคลือบ กลไกเครื่องกล การปั้น แล้วมาสร้างแนวคิดการออกแบบ หาบริบทในการสร้างสรรค์กับวัสดุนั้น แล้วทำออกมาเป็นผลงานสุดท้าย
อีกแบบหนึ่งคือการเริ่มจากบริบท ซึ่งจะเป็นการ Ideation บริบทนั้น อาจจะเป็นการสำรวจกลุ่มเป้าหมาย มีการนำกระบวนการออกแบบมาใช้ การกำหนดบริบท การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายและการหาแนวคิดการออกแบบมาจับเข้ากับบริบท จากนั้นจึงมีการศึกษาแนวคิดและทำการออกแบบชิ้นงานขึ้นมา พิจารณาถึงวิธีการทำและวัสดุที่จะใช้ในตอนท้าย
หากใครสนใจทำความรู้จักกับงานออกแบบจากแต่ละเบสมากขึ้น สามารถพบกันได้ที่งาน ID DEGREE SHOW 2024: SEK-SARNG (เสกสร้าง) หรืองานแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ของนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานออกแบบจัดแสดงมากกว่า 40 ผลงาน ภายในงานยังไม่ได้มีแค่การจัดแสดงผลงานเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจอย่าง Designers Talk, ไพ่ออราเคิล, และอื่น ๆ อีกมากมาย
มาพบกันได้ที่อาคาร Siamscape ในวันที่ 22-26 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. เป็นต้นไป
โฆษณา