19 พ.ค. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์

ถ้าต้องการเกษียณอายุอีก 20 ปี จะทำอย่างไร

หากพูดถึงวิธีการวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณ ทุกคนก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันตามความถนัดของตัวเอง แต่หากต้องการรู้ว่าตัวเองมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการเริ่มต้นลงมือเก็บเงินเพื่อเกษียณ ลองตั้งคำถามเหล่านี้
1.เริ่มเก็บเงินเพื่อเกษียณตอนไหน
2.ต้องเก็บออมและลงทุนเท่าไหร่ ช่องทางไหน จึงจะได้ตามที่ต้องการ
3.ต้องการเกษียณอายุเมื่อไหร่
4.ประเมินว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณจนถึงอายุเท่าไหร่
5.ต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนเท่าไหร่
เมื่อมีภาพชัดเจนกับการวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณ การเริ่มต้นลงมือเก็บเงินก็เป็นเรื่องง่าย ที่สำคัญไม่ว่าจะตั้งเป้าเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ ก็สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
[[ อายุ 20 ปี วางแผนเกษียณอายุ 40 ปี ]]
ปัจจุบันอายุ 20 ปีและวางแผนเกษียณอายุ 40 ปี ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควร เพราะมีเวลาเก็บออม 20 ปี (240 เดือน) และสมมติมีอายุถึง 85 ปี ก็จะมีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณนานถึง 45 ปี (540 เดือน) หากต้องการใช้เงินหลังเกษียณแบบสบาย ๆ เดือนละ 20,000 บาท ก็ต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนเกษียณ 10,800,000 บาท (20,000 x 540) หมายความว่าต้องเก็บเงินให้ได้ 45,000 บาทต่อเดือน (10,800,000/240) ถึงจะมีเงินเก็บตามเป้าหมาย และแน่นอนหากต้องการใช้เงินแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องเก็บเงินให้ได้มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยวัย 20 ปี จะให้แบ่งเงินเพื่อนำมาเก็บออมเดือนละหลักหมื่นบาท อาจเป็นเรื่องที่หนักหนา ดังนั้น ทางออก คือ นำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ซึ่งจะทำให้เงินต้นลดลง และยิ่งสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้สูงเท่าไร ก็ยิ่งลดเงินต้นลงได้มากเท่านั้น
จากตารางด้านล่าง พบว่าต้องการมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ 10,000 บาทต่อเดือน จะต้องมีเงินเก็บ 5,400,000 บาท หากเก็บออมเอาไว้เฉย ๆ จะต้องออมเงินเดือนละ 22,500 บาท แต่หากนำไปลงทุนสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 20 ปีและได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะใช้เงินลงทุนต่อเดือน 13,138 บาท หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จะใช้เงินลงทุนต่อเดือน 9,168 บาท หรือได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปีจะใช้เงินลงทุนต่อเดือน 7,111 บาท
แน่นอนว่า เมื่อต้องการเกษียณเร็ว ๆ ก็จะทำให้มีระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณยาวนานขึ้น จึงต้องเร่งเก็บออมในแต่ละเดือนให้มากขึ้น แต่ข้อจำกัดของคนวัย 20 ปีที่ต้องการเกษียณตอนอายุ 40 ปี คือ จำนวนเงินที่ต้องแบ่งมาเก็บออมในแต่ละเดือนอาจไม่มาก ดังนั้น ทางออกคงหนีไม่พ้นการมองหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้แล้วนำมาเก็บออมในแต่ละเดือนให้ได้มากขึ้น หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อทำให้เงินลงทุนในแต่ละเดือนลดลง
[[ อายุ 30 ปี วางแผนเกษียณอายุ 50 ปี ]]
คนอายุ 30 ปี มีเป้าหมายเกษียณอายุตอน 50 ปี จะมีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณ 35 ปี หรือ 420 เดือน (สมมติมีอายุถึง 85 ปี) โดยความท้าทายของคนวัยนี้ คือ มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือกำลังสร้างครอบครัวก็ต้องมีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูลูก อย่างไรก็ตาม วัยนี้ก็มีข้อดีอยู่ที่มีความสามารถในการหาเงินได้อย่างเต็มที่ รายได้มั่นคงและอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ดังนั้น หากบริหารการเงินดี ๆ ก็จะมีเงินที่พร้อมเกษียณแน่นอน
หากเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ควรนำเงินก้อนแรกเก็บออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเลือกอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนสูงสุดที่สามารถเลือกได้ ที่สำคัญนอกจากเงินสะสมแล้วฝ่ายนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบเข้ามาให้อีกด้วย จะช่วยให้ถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น และยิ่งเงินสะสมเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เพราะจำนวนเงินสะสมที่กองทุนนำไปลงทุนให้จะก้อนใหญ่ขึ้น ทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่างพนักงานอายุ 30 ปี เงินเดือน 60,000 บาท (เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3%) โดยจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% ขณะที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบให้อีก 5% ต่อเดือน สมมติว่าจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เมื่อถึงวันเกษียณตอนอายุ 50 ปี จะมีเงินทั้งสิ้น 3,450,523 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
สมมติว่าหลังเกษียณมีแผนใช้จ่าย 10,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องมีเงินเก็บ 4,200,000 บาท (10,000 x 420) หมายความว่าต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 749,477 บาท เพราะมีเงินเก็บกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว 3,450,523 บาท หรือมีแผนใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน ต้องมีเงินเก็บ 8,400,000 บาท (20,000 x 420) ต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 4,949,477 บาท ซึ่งควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่เดียวกันก็ทำให้เงินลงทุนในแต่ละเดือนลดลง
[[ อายุ 40 ปี วางแผนเกษียณอายุ 60 ปี ]]
“อายุ 40 ปี และวางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ยังทันหรือเปล่า” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะการเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณในวัย 40 อาจดูเหมือนจะช้าไป แต่ความจริงแล้วไม่มีคำว่าสายเกินไป เหตุผลคือ มีเวลาเก็บเงิน 20 ปี (240 เดือน) และสมมติว่าจะมีอายุถึง 85 ปี ก็จะมีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณ 25 ปี (300 เดือน) แสดงว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จในการเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ขอเพียงเริ่มต้นลงมือทำอย่างสม่ำเสมอด้วยแผนการเป็นขั้นตอน
ข้อดีของวัย 40 ปี คือมีความมั่นคงทางการเงิน หน้าที่การเงินมั่นคง เงินเดือนและประสบการณ์การทำงานสูง และยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใกล้เลข 50 จะสังเกตว่าภาระค่าใช้จ่ายเริ่มลดลง หลายคนไม่มีภาระการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือลูก ๆ เริ่มเรียนจบแล้ว ทำให้เป็นช่วงเวลาที่สามารถแบ่งเงินมาเก็บออมเพื่อเกษียณได้สูงกว่าวัยอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเข้าสู่วัยเกษียณ 60 ปี การบริหารจัดการเงินจึงต้องพิถีพิถัน และเมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี ก็ยิ่งเน้นความปลอดภัย โดยเงินลงทุนก้อนแรกให้เก็บออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เลือกอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนสูงสุดที่สามารถเลือกได้ จากนั้นก็ลองคำนวณคร่าว ๆ ว่าเมื่อถึงอายุ 60 ปีจะมีเงินเก็บในกองทุนนี้เท่าไหร่ และเมื่อได้ตัวเลขก็นำมาคำนวณว่าจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะได้จำนวนตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
2
เช่น มีเป้าหมายใช้จ่ายเงินหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน แสดงว่าต้องมีเก็บ 6,000,000 บาท (20,000 x 300) และเมื่อคำนวณคร่าว ๆ พบว่าเมื่อถึงอายุ 60 ปีจะมีเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4,000,000 บาท แสดงว่าต้องเก็บเพิ่มอีก 2,000,000 บาท และเนื่องจากมีเวลาเก็บเงิน 20 ปี (240 เดือน) ก็ต้องเก็บเดือนละประมาณ 8,333 บาท และควรนำไปลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี และทำให้เงินลงทุนในแต่ละเดือนลดลง
การวางแผนเกษียณ เป็นการเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระทางการเงินของผู้อื่น ที่สำคัญไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถวางแผนเกษียณได้ ขอเพียงมีการเตรียมพร้อม บริหารเงิน แผนการเก็บออมและลงทุนที่เหมาะสม จากนั้นก็ลงมือทำอย่างมีวินัย ก็จะไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้แน่นอน
#aomMONEY #MakerichGeneration #วางแผนการเงิน #วางแผนเกษียณ #วางแผนเก็บเงิน #เป้าหมายมีเงินก้อน
โฆษณา