22 พ.ค. 2024 เวลา 06:00 • สิ่งแวดล้อม

‘คาร์บอนไดออกไซด์’ ในชั้นบรรยากาศ มีมากที่สุดในรอบ 4 ล้านปี จากเอลนีโญ-ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่หยุด

“ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้ “โลกร้อน” มากที่สุด ซึ่งในปีนี้ก๊าซคาร์บอนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเพิ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA พบว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเดือนมีนาคม 2024 สูงขึ้น 4.7 ส่วนต่อล้าน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีมา อีกทั้งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปีก่อน ๆ
🏭ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปรกติแล้วระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จากนั้นจะลดลงจนสู่ระดับต่ำสุดในเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยก๊าซคาร์บอนจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายร้อยปี ทำหน้าที่กักเก็บและดูดกลืนความร้อน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” ตั้งแต่ที่มนุษย์หันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมันและถ่านหิน ก๊าซคาร์บอนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา
เส้นโค้งคีลิง (Keeling Curve) เป็นแผนภูมิที่แสดงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกในแต่ละวัน จะถึงจุดสูงสุดใหมใหม่ในทุกเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งค่าสูงสุดในแต่ละปี ทำให้เกิดความกังวลว่าแผนภูมินี้จะสูงชันขึ้นเรื่อย ๆ โดยค่าล่าสุดอยู่ที่เกือบ 427 ส่วนต่อล้าน ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 50% และสูงสุดในรอบอย่างน้อย 4.3 ล้านปี ตามข้อมูลของ NOAA
ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศทะลุ 400 ส่วนในล้านส่วนเป็นครั้งแรกในปี 2557 นักวิทยาศาสตร์กล่าวในปี 2559 ว่าระดับดังกล่าวไม่น่าจะลดลงต่ำกว่าเกณฑ์นั้นอีกในอีกช่วงอายุคน และนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% ทุกปีตามข้อมูลของสถาบันสมุทรศาสตร์แห่งสคริปส์
🏭“เอลนีโญ” ทำให้ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นอยู่นานขึ้น
ในแต่ละปี ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในปริมาณที่ไม่เท่ากัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้อุณหภูมิน้ำแนวเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและตอนกลางอุ่นกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้รูปแบบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความร้อนจัด น้ำท่วม และความแห้งแล้งในหลายภูมิภาคทั่วโลก
ป่าเขตร้อนทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดี เพราะป่าเหล่านี้จัดเป็นป่าประเภทไม่ผลัดใบ เป็นป่าที่มีสีเขียวตลอดทั้งปี แต่ความแห้งแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในพื้นที่เขตร้อน รวมถึงอินโดนีเซียและทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้ป่าเหล่านี้กักเก็บคาร์บอนได้น้อยลง
ระบบนิเวศบนบกทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนและอุณหภูมิที่รูปแบบสภาพอากาศ อีกทั้งสภาพอากาศแห้งแล้งจะส่งให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงขึ้นกว่าปรกติ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ที่มา:
The Independent: https://bit.ly/4bm7OVo
The Washington Post: https://bit.ly/3VewZDP
1
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจSustain #กรุงเทพธุรกิจClimate
โฆษณา