20 พ.ค. เวลา 02:05 • ข่าวรอบโลก

จีนจับสัญญาณสปีชแรกผู้นำใหม่ไต้หวัน เซ็ตโทนความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ

แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันจะผ่านพ้นไป 5 เดือนแล้ว และจีนก็รู้อยู่เต็มอกว่านโยบายของ ไล่ชิงเต๋อ (ทายาทการเมือง ไช่อิงเหวิน ของพรรค DPP / หมินจิ้นตั่ง) จะไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์มากกว่าจะเป็นมิตรต่อปักกิ่ง แต่จีนก็ยังจับตาพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการนับหนึ่งความสัมพันธ์บทใหม่ของปักกิ่ง-ไทเปอย่างเป็นทางการ
เครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งคือ ที่ผ่านมาจีนยังดูสงวนท่าที ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางทหารที่มากผิดวิสัยในบริเวณช่องแคบไต้หวัน ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการรอจับสัญญาณจากสปีชแรกของไล่ชิงเต๋อ ก่อนที่จะตัดสินใจขยับหรือส่งสัญญาณอะไรบางอย่างเพื่อปรามดินแดนฝั่งตรงข้ามมณฑลฝูเจี้ยนดังเช่นที่เราเคยเห็นในอดีต
ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันพิธี จีนเริ่มส่งเรือออกลาดตระเวนใกล้กับเกาะจินเหมินของไต้หวันถี่ขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดคาดนัก เพื่อส่งสัญญาณกดดันไต้หวันกลายๆ ถึงพิธีสาบานตนและถ้อยแถลงแรกของผู้นำใหม่ถอดด้ามว่า จะเซ็ตโทนความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไปในทางที่หม่นขึ้นหรือผ่อนคลายลงจากรัฐบาลชุดก่อน
การนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่ชื่อ ‘ฝูเจี้ยน’ (มณฑลตรงข้ามไต้หวัน) ออกทดสอบเดินเรือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนอกจากจะแสดงแสนยานุภาพแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณขู่ไต้หวันด้วย เพราะเมื่อเรือลำนี้มีสถานะ ‘พร้อมรบ’ แล้ว จะเข้าประจำการในกองเรือทะเลตะวันออก โดยจะเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือและยกระดับขีดความสามารถในการครองอากาศในยามที่จีนต้องการปิดล้อมไต้หวันด้วย ซึ่งเป็นพัฒนาการที่กองทัพไต้หวันเองก็จับตาดูอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
จีนตราหน้าไล่ชิงเต๋อว่าเป็น ‘ผู้บ่อนทำลายสันติภาพช่องแคบ’ และมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน โดยดูจากแนวนโยบายเขาที่หาเสียงหรือประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นปักกิ่งคงตั้งความหวังไม่ได้มากว่าสารแรกในฐานะประธานาธิบดีของไล่ชิงเต๋อจะมีถ้อยคำที่ ‘Soft’ ลง เพื่อลดอุณหภูมิความตึงเครียดบริเวณช่องแคบ
ก่อนหน้านี้ไล่ชิงเต๋อมีโอกาสลดโทนความแข็งกร้าวต่อจีนลง เพื่อทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น แต่เท่าที่ผ่านมาเขายังไม่แสดงท่าทีเหล่านั้น หรือไม่แม้แต่จะส่งสัญญาณที่ตีความได้เช่นนั้น ดังนั้นการแถลงเปิดตัววันจันทร์นี้จึงได้รับการจับตาจากหลายฝ่ายว่า ท้ายที่สุดเขาจะยอมถอยหนึ่งก้าวเพื่อลดการเผชิญหน้าหรือไม่
ไล่ชิงเต๋อเคยประกาศไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งว่า เขาจะไม่เดินหน้าประกาศเอกราช เพราะสถานภาพที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว นั่นก็แปลว่า ทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันก็คงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก และยังคงดำเนินรอยตามไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า แต่ปักกิ่งก็มีเหตุผลให้ต้องกังวล เมื่อเขานิยามตนเองว่าเป็น ‘ผู้ปฏิบัติ’ โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นเอกราชของไต้หวัน หลังจากนี้จึงน่าจับตาทุกฝีก้าว
นอกจากนโยบายต่อปักกิ่งแล้ว จีนยังจับตานโยบายของไทเปต่อวอชิงตันด้วย ซึ่งสหรัฐฯ นั้น ถึงแม้ โจ ไบเดน จะยืนยันยึดถือหลักการ ‘จีนเดียว’ ตามที่ดำเนินมาตลอดตั้งแต่ปี 1979 แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะนโยบายที่ ‘คลุมเครือ’ หรือ ‘กำกวม’ ในความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการต่อไต้หวัน โดยไม่ตัดโอกาสที่จะช่วยเหลือไต้หวันทางทหาร หากจีนตัดสินใจใช้กำลังทหารกับไทเป และเมื่อเดือนที่แล้วสภาคองเกรสก็เพิ่งผ่านร่างกฎหมายจัดสรรงบประมาณสนับสนุนชาติพันธมิตร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือไต้หวันด้วย
การเดินหมากทางการเมืองหลังจากนี้จะมีความเข้มข้นขึ้นหรือไม่จึงเป็นเรื่องน่าติดตาม และจะกำหนดภูมิทัศน์การเมืองโลกหลังจากนี้ด้วย การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวันอาจมีให้เห็นอีก ซึ่งไต้หวันก็ต้องการสร้าง ‘ความปกติใหม่’ ในการยกระดับการทดสอบเส้นแดงที่จีนขีดไว้
ขณะเดียวกันการซ้อมรบสเกลใหญ่ก็จะกลายเป็นความปกติใหม่สำหรับจีนเช่นกัน รวมถึงการส่งเครื่องบินรบและเรือรบรุกล้ำเส้นกึ่งกลางของช่องแคบ (Median Line of the Strait) ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำหรับกองทัพไต้หวันในการรับมือ
ผู้นำคนใหม่ของไต้หวันจะมีบททดสอบมากมายรออยู่ตลอด 4 ปีข้างหน้าในการเดินหมากความสัมพันธ์สามเส้ากับสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะเดียวกันก็ต้องรักษามาตรฐานที่ไช่อิงเหวินทำไว้หรือทำให้ดียิ่งกว่า เพื่อรักษาฐานเสียงที่โหวตให้เขา รวมถึงพรรค DPP ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 สมัยติดต่อกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของไล่ชิงเต๋ออาจไม่ง่ายหรือราบรื่นเท่ากับในสมัยของไช่อิงเหวิน โดยเฉพาะนโยบายต่อจีน รวมถึงการคิดประกาศเอกราชด้วย เพราะพรรค DPP ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติรอบนี้ แต่เป็นพรรคก๊กมินตั๋งที่คว้าที่นั่งในสภาได้มากที่สุด
ซึ่งก็สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายต่อจีนเป็นลำดับแรก แต่มองเรื่องปากท้อง ปัญหาสังคม และการมีงานทำของคนหนุ่มสาว ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้เองที่เทคะแนนให้พรรคทางเลือกที่ 3 อย่าง TPP (ไถวันหมินจ้งตั่ง) จนทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด
ซึ่งจีนก็อาจมองในแง่ดีว่า มีขั้วการเมืองใหม่ที่ไม่ได้มีนโยบายเป็นปรปักษ์กับปักกิ่งอย่างชัดแจ้งมาช่วยคานอำนาจกับ DPP ขณะเดียวกันก๊กมินตั๋งก็มีจุดยืนคัดค้านการประกาศเอกราช โดยที่ หม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีจากก๊กมินตั๋ง ก็เพิ่งไปเยือนจีน เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ว่ายังดีอยู่
กลับมาที่พิธีสาบานตน มีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะยังไม่ดำเนินการตอบโต้ในทันที แต่จะรอดูท่าทีไปอีกระยะ
เพราะการใช้มาตรการทางทหารหรือเศรษฐกิจย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งการสุมไฟให้ความตึงเครียดปะทุหนักย่อมเป็นดาบกลับมาทิ่มแทงจีนเองด้วย ในยามที่เศรษฐกิจจีนเองก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่และกำลังเผชิญศึกหลายด้าน หลังสหรัฐฯ เพิ่งเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ โดยการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ EV, โซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนจากจีน ขณะที่ยุโรปก็อาจเจริญรอยตามสหรัฐฯ หลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนการอุดหนุนสินค้าส่งออกของจีน จนทำให้รถยนต์ EV จีนล้นตลาดยุโรป
แม้จะยังดูเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ทิศทางความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบว่าจะไปสู่จุดแตกหักหรือเกิดสงครามใหญ่ขึ้นในเวลาอันใกล้นี้หรือไม่ แต่กิจกรรมที่ต่างฝ่ายต่างมองเป็นการยั่วยุฝั่งตรงข้าม อาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งหรือเผชิญหน้าทางทหารหากไม่ระมัดระวังหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นหนึ่งในฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ในมุมมองของนักวิเคราะห์สายความมั่นคงหลายคน
เราได้เห็นการปิดล้อมไต้หวันของจีน เพื่อตอบโต้การเยือนไทเปของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อปี 2022 ซึ่งกระทบซัพพลายเชนเทคโนโลยีจนเกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก ดังนั้นเราจึงไม่ควร ‘Underestimate’ หรือประเมินการตอบโต้ของสองฝ่ายต่ำเกินไป เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม ซึ่งไทยเองก็ต้องจับตาและดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง หรือคว้าโอกาสจากวิกฤต เพื่อผลประโยชน์สูงสุดเช่นกัน
ภาพ: Christian Liewig – Corbis / Corbis, Annabelle Chih via Getty Images, Andy.LIU via ShutterStock
ลิงก์บทความต้นทาง: https://thestandard.co/china-analyzes-new-taiwan-president-first-speech/
โฆษณา