20 พ.ค. เวลา 09:28 • ปรัชญา
ก่อนที่เราจะบอกว่า บทสวดมนต์อะไรที่ดีที่สุดสำหรับชาวพุทธ เราก็ต้องยกเอาคำของพระศาสดา มาพูดก่อน ผมพูดถูกมั้ยครับ
คืออย่างงี้ ชาวพุทธส่วนใหญ่มักจะสวดมนต์ที่เป็นบทสวดบูชาพระพุทธเจ้า และส่วนใหญ่บทสวดมนต์ในหนังสือสวดมนต์ ก็เป็นคำที่แต่งขึ้นมาใหม่จากสาวกทั้งนั้นเลย
ทุกคนก็พูดได้หมดว่า
ผมศรัทธาพระพุทธเจ้านะ แต่ศรัทธาจริงรึป่าวนี่แหละที่สำคัญ คนที่ศรัทธาจริงเขาแสดงออกซึ่งอาการอย่างไร มีใครเคยคิดตรงนี้ไหมครับ เราทำตามกันมาโดยที่ไม่มีสาเหตุ ฟังตามๆกันมา เปรียบเสมือนเอาเนื้อไม้เข้าไปซ่อมเนื้อไม้เก่าของพระพุทธเจ้า นานวันเข้าเนื้อไม้ที่แท้จริงนั้นก็หายไป กลายเป็นเนื้อไม้ใหม่ทั้งหมด เหมือนสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกนั้นกำลังจะหายไป เพราะคำแต่งใหม่ของสาวก
พระพุทธเจ้าบอกว่า คนที่ศรัทธาจริง แม้ตถาคตจะก้าวเท้าลงไปในหล่มโคลน เขาก็จะก้าวตามอย่างไม่มีข้อสงสัย นี่คือความศรัทธา รู้ว่านี่ขี้โคลน แต่เห็นตถาคตก้าวเท้าไป เราสาวกผู้ฟังคำตถาคตย่อมทำตาม เพราะรู้ว่าพระพุทธเจ้าจะพาไปในหนทางแห่งธรรม
พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างว่า ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้บนเสื้อผ้าของเธอ หรือไฟกำลังไหม้ผมบนศีรษะของเธอ เธอจะทำอะไรก่อน เหล่าสาวกตอบว่าดับไฟก่อน แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า เธออย่าเพิ่งดับไฟ สิ่งที่เธอต้องทำอันดับแรกคือเร่งรู้อริยสัจ 4 ตรงนี้ก่อน
นี่คือสิ่งที่เร่งด่วนกว่าการดับไฟที่ไหม้บนศีรษะหรือไฟที่กำลังลุกไหม้บนเสื้อผ้า เพราะอะไร เพราะเรามีสิทธิ์ไปอบายได้ทุกขณะ แต่ถ้าเรารู้อริยสัจ 4 เราจะพ้นอบาย พระพุทธเจ้ามองว่า พวกเราทุกคนควรจะได้รับอานิสงส์เพื่อการดับทุกข์ตรงนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ยิ่งกว่าการดับไฟที่กำลังลุกไหม้บนตัวเราซะอีก
ตกลงแล้ว พระตถาคตสวดอะไรในสมัยพุทธกาล ที่ถูกส่งต่อมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปีที่แล้ว เป็นบทสวดมนต์ที่ธรรมะทั้งหลายแห่งการดับทุกข์รวมอยู่ในบทสวดมนต์นั้นหมด แล้วทิ้งไว้ให้เราพิจารณาอย่างแยบคายในบทสวดมนต์นั้น เมื่อเราพิจารณาถึงบทสวดมนต์นี้แล้วอย่างแยบยล เราจะพบว่าอริยสัจ 4 ซ่อนอยู่ในนั้นทั้งหมด
หากใครได้สวดมนต์บทนี้แล้ว เหมือนกับได้ฟังธรรมของตถาคตที่ออกจากปากของพระองค์เอง ผู้ที่ป่วยติดเตียง หรือกำลังจะตาย หากได้ฟังธรรมบทนี้ย่อมละสังโยชน์ได้ เพราะผู้ที่ใกล้จะตายย่อมมีอินทรีย์แก่กล้า วินาทีที่กายจะแตกดับ หากได้ฟังคำของตถาคต ผู้นั้นย่อมละสังโยชน์ได้ หมายถึงเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งเลยนะครับ
3
พระพุทธเจ้าเมื่ออยู่วิเวกแต่เพียงผู้เดียว พระองค์จะสวด "กฏอิทัปปัจยตา"
แบบย่อมี 4 บรรทัดเองครับ ยังไม่ต้องไปสวดอะไรมาก เอาตามพระพุทธเจ้าเลยครับ
อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ
อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ
อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะโหติ
อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ
แปลไทยว่า
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
บทสวดมนต์ที่เหมาะกับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยที่ยังแข็งแรงดีอยู่ หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือเป็นผู้ที่ใกล้จะลาลับโลกนี้ไปแล้ว ให้หมั่นเพียรสวดมนต์บทนี้ ประโยชน์จะเกิดขึ้นแด่เธอทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อริยบุคคลจะเกิดขึ้นแด่เธอ
2
ถึงแม้ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงอริยะบุคคล ก็ให้สวดบทนี้ไปก่อน ให้หมั่นท่องเนืองๆ เมื่อใกล้จะลาลับโลกนี้ไป อินทรีย์ของสัตว์จะแก่กล้า บทสวดมนต์นี้จะทำให้ตัดสังโยชน์ได้ ก่อนที่จะตาย
บทสวดฉบับเต็ม
บทสวดปฏิจจสมุปบาท (สายเกิด)
อะวิชชาปัจจะยา สังขารา
- เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง
- เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง
- เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง
- เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส
- เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
ผัสสะปัจจะยา เวทะนา
- เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เวทะนาปัจจะยา ตัณหา
- เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง
- เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
อุปาทานะปัจจะยา ภะโว
- เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
ภะวะปัจจะยา ชาติ
- เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะ ทุกขะโทมะนัส
สุปายาสา สัมภะวันติ
- เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขโทมนัส
อุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ
- ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
บทสวดปฏิจจสมุปบาท (สายดับ)
อะวิชชายะเต๎ววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ
- เพราะความจางคลายดับไป โดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว
จึงมีความดับแห่งสังขาร
สังขาระนิโรธา วิญญาณะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
วิญญาณะนิโรธา นามะรูปะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
นามะรูปะนิโรธา สะฬายะตะนะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
สะฬายะตะนะนิโรธา ผัสสะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
ผัสสะนิโรธา เวทะนานิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
ตัณหานิโรธา อุปาทานะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
อุปาทานะนิโรธา ภะวะนิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ
- เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
ชาตินิโรธา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะ
ทุกขะโทมะนัส สุปายาสา นิรุชฌันติ
- เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น
เอวะเม ตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหตีติ
- ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้
โฆษณา