20 พ.ค. เวลา 09:34 • การศึกษา

การบังคับเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อชำระหนี้

เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึดนอกจากกรมธรรม์ประกันชีวิต เจ้าหนี้จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับเวนคืนกรมธรรม์เอามูลค่าเงินสดมาชำระหนี้ได้หรือไม่?
วันนี้มาอบรมเรื่องการบังคับคดีแพ่งซึ่งจัดโดยกรมบังคับคดี เมื่อวิทยากรบรรยายถึงเรื่องการยึดทรัพย์ก็เลยถามคำถามด้านบนเพราะทราบอยู่แล้วว่าหากเป็นกรณีคดีล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถบังคับไถ่ถอนกรมธรรม์นำมูลค่าเงินสดออกมาชำระให้เจ้าหนี้ได้ แต่หากเป็นกรณีคดีแพ่งเราไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำได้หรือไม่
วิทยากรให้คำตอบว่าในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่ทำให้ แต่หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องการยึดทรัพย์โดยบังคับไถ่ถอนโดยการเวนคืนกรมธรรม์ก็ให้ยื่นเรื่องเข้ามาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือปฏิเสธคำร้องนั้น แล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำหนังสือปฎิเสธคำร้องนั้นไปร้องขอต่อศาลอีกครั้งหนึ่งเพราะถือว่ามีการถูกโต้แย้งสิทธิ์เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นหากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนใดสืบทรัพย์ลูกหนี้พบว่าไม่มีทรัพย์สินใดๆเลยนอกจากกรมธรรม์ประกันชีวิตก็อาจพิจารณาวิธีนี้ได้
ส่วนกรณีเจ้าของกรมธรรม์เสียชีวิตแล้วเงินทุนประกันตกแก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับเอาได้เฉพาะเบี้ยประกันที่ส่งมาแล้วเท่านั้น ตาม ปพพ.มาตรา ๘๙๗ วรรคสอง
หากมีข้อสงสัยเรื่องกฎหมายประกันชีวิตสามารถสอบถามได้ตลอดเวลา
หมายเหตุ:
ปพพ. มาตรา ๘๙๗ ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
โฆษณา