30 พ.ค. เวลา 12:28 • ไลฟ์สไตล์

Wealth Protection ปกป้องความมั่งคั่ง สร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง

[คุณวางแผนปกป้องความมั่งคั่ง เลือกแผนประกันที่เหมาะกับตัวเองถูกต้องหรือไม่?]
การปกป้องความมั่งคั่ง หรือสร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเราและคนรอบข้าง ทำให้ความมั่งคั่งที่เราสะสมมาถูกรักษาไว้ ไม่ต้องนำไปจ่ายให้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผน สามารถทำได้ผ่านประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เป็นการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และพาเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้
📄การทำประกันนั้นก็ควรเลือกประกันให้เหมาะสมกับตนเอง โดยให้เริ่มคิดจากว่าเรามีหนี้สินเท่าไหร่ หรือมีคนข้างหลังที่เราต้องคอยดูแลหรือไม่ ถ้าหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับเรา ใครจะเป็นผู้แบกรับหนี้สินนั้นเเทนเรา หรือคนข้างหลังจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา ในเคสเเบบนี้จะเห็นว่าประกันชีวิตจำเป็นมาก
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ยังต้องมีภาระ ให้คนข้างหลังดูแลหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาขั้นต่ำบุตร หรือรายจ่ายในบ้านที่หายไป หากเราเป็นหนึ่งในเสาหลักของครอบครัว
ลองคิดออกมาว่าถ้าหากเราเป็นอะไรไป เราต้องเตรียมเงินสำหรับหนี้ก้อนที่เรามีอยู่ หรือให้คนข้างหลังได้มีเงินใช้เท่าไร เช่น ถ้ามีหนี้และคนข้างหลังจะอยู่สบายก็ต่อเมื่อต้องมีเงินก้อน 5 ล้านบาทให้เขา (เรียกว่าทุนประกัน หรือความคุ้มครอง) เรามีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองยังคงอยู่
ดังนั้นในเคสนี้ก็อาจต้องทำเบี้ยประกันชีวิตให้ได้เท่ากับความคุ้มครองที่จำเป็น และประกันบางแบบสามารถคืนเงินบางส่วนให้กับผู้ทำประกันเมื่อครบกำหนด
⏳หลังจากที่เราทำประกันชีวิตเพื่อปกป้องความเสี่ยงให้คนข้างหลังเราแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลือก็อย่าลืมนึกถึงประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงให้กับตัวเองด้วย และต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการที่มี ทั้งนี้ส่วนประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรงนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับประกันชีวิตได้ด้วยรวม 100,000 บาท
วันนี้ #เด็กการเงิน ขอสรุปประกันแบบต่างๆ แบบเข้าใจง่ายมาให้อ่านกัน
===ประกันชีวิต===
ประกันชีวิตให้ความคุ้มครองจากการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และสูญเสียรายได้ ซึ่งมี 4 แบบคือ
1️⃣ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ มีทุนประกันสูง แต่เบี้ยประกันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาระ/หัวหน้าครอบครัว/เน้นความคุ้มครองชีวิต ซึ่งประกันแบบนี้สามารถเก็บไว้เป็นเงินมรดกได้
2️⃣ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา มีทุนประกันสูง แต่เบี้ยประกันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบจำกัด ซึ่งต้องการความคุ้มครองแค่กรณีเสียชีวิตเท่านั้น
3️⃣ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีทุนประกันปานกลาง แต่เบี้ยประกันสูง เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นคุ้มครองชีวิตและต้องการออมเงิน
4️⃣ ประกันชีวิตแบบบำนาญ มีทุนประกันต่ำ และเบี้ยประกันปานกลาง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
ซึ่งประกันทุกแบบนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
===ประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง===
ประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุ ซึ่งปัจจุบันนี้ประกันโรคร้ายแรงก็มีความสำคัญมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายจากการรักษาตัวด้วยโรคร้ายแรงนั้นไม่น้อยเลย
📌สิ่งที่ควรรู้ ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรงเหมาะกับการทำคู่กับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อให้เราสามารถได้รับความคุ้มครองในระยะยาว (สามารถทำคู่กับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ได้ แต่เมื่อสิ้นระยะเวลาของประกันสะสมทรัพย์ เราก็ต้องทำประกันหลักตัวใหม่อยู่ดีเพื่อให้สามารถทำประกันสุขภาพพ่วงได้
ซึ่งเวลานั้นสุขภาพอาจจะไม่แข็งแรงแล้ว ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพิจารณารับทำประกันได้)
===ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Unit-linked===
ประกันชีวิตควบการลงทุนเป็นประกันรูปแบบพิเศษ เพราะส่วนประกอบข้างในไม่เหมือนประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย เมื่อเราเลือกทำประกันชีวิตประเภทนี้ เราจะจ่ายเบี้ยประกันไปด้วยเงิน 1 ก้อน ซึ่งเราสามารถเลือกวงเงินคุ้มครองที่ต้องการจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปได้ และมีการหักค่าใช้จ่าย และส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่นำไปลงทุน
หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินที่จ่ายไปนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) ส่วนที่คุ้มครองชีวิต 2) ค่าใช้จ่ายของกรมธรรม์ และ 3) ส่วนของการลงทุน
เราสามารถเลือกวงเงินความคุ้มครอง (ส่วนที่ 1) ได้ ซึ่งวงเงินคุ้มครองนี้ก็ขึ้นอยู่กับเพศและอายุด้วย
ถ้าหากเราต้องการความคุ้มครองชีวิตที่สูง (ส่วนที่ 1 มาก) ดังนั้นเงินที่จะไปอยู่ในส่วนลงทุนก็จะต่ำลง (ส่วนที่ 3 น้อย)
แต่ประกันแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกปีว่าปีไหนต้องการส่วนไหนมากหรือน้อย หรือถ้าหากต้องการลงทุนเพิ่ม ก็สามารถเพิ่มเฉพาะเบี้ยส่วนลงทุน (ส่วนที่ 3) ได้
ในส่วนของการลงทุน บริษัทประกันจะคัดเลือกกองทุนรวมมาให้เราเลือกว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหน ซึ่งมีทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน กองทุนดัชนี หรือกองทุนผสม เราสามารถเลือกกองทุนที่ต้องการ จัดพอร์ต Asset Allocation สามารถสับเปลี่ยนกองทุน(Switching) ได้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน (Rebalance) ได้อีกด้วย
📌สิ่งที่ควรรู้ เบี้ยประกันส่วนความคุ้มครองชีวิตเป็นเบี้ยที่เราใช้รักษาสถานะของกรมธรรม์ ในส่วนนี้จะไม่ได้คืน แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับส่วนที่ 3 คือส่วนที่เรานำไปลงทุน ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง เราอาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ดังนั้นเราก็ควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน เลือกลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองด้วย
เนื่องจาก Unit-linked เป็นประกันชีวิตเล่มหลัก เราสามารถซื้อประกันสุขภาพเสริมได้
ℹ️ ค่าใช้จ่ายในส่วนของประกันชีวิตเป็นอย่างไร?
ประกันชีวิตแบบ Unit-linked จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (Premium Charge) ค่าการประกันภัย (Cost of Insurance) ซึ่งขึ้นอยู่กับตารางมรณะแยกตามเพศและอายุ และค่าธรรมเนียมบริหารกรมธรรม์ (Administration Fee) แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
ℹ️ Unit-linked เหมาะกับใคร?
เหมาะกับคนที่มีภาระ หัวหน้าครอบครัว และคนที่อยากได้ความคุ้มครองชีวิตสูงและคุ้มครองยาวนาน เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนการเงินระยะยาว เพราะ Unit-linked 1 กรมธรรม์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการทั้งด้านความคุ้มครอง และสามารถใช้วางแผนการเงินการลงทุน ตั้งเป้าหมายการลงทุนได้ จากที่เห็นว่าสามารถเลือกสัดส่วน Asset Allocation และ Rebalance ได้ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองได้ตามความต้องการในแต่ละช่วงของชีวิตด้วย
===สิ่งที่จำเป็นต้องรู้สำหรับก่อนการตัดสินใจทำประกัน===
✅ ทุกคนควรทำประกันตั้งแต่สุขภาพยังแข็งแรง เพื่อให้ประกันสามารถคุ้มครองได้ทุกโรค ไม่มีข้อยกเว้น
✅ ถ้าหากสุขภาพไม่แข็งแรงแล้วแต่อยากทำประกัน แนะนำให้แจ้งกับตัวแทนไปชัดเจนเลยว่าเป็นโรคอะไรบ้าง ไม่ควรปิดบัง ให้ทางบริษัทประกันเป็นคนตัดสินใจว่าจะรับทำประกันหรือไม่ การปิดบังอาจโดนยกเลิกกรมธรรม์หลังจากนั้นได้
✅ คนที่ต้องการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต จำเป็นต้องมีประกันชีวิตเป็นกรมธรรม์หลักก่อนจึงจะสามารถซื้อประกันสุขภาพเสริมได้ตามกฎเกณฑ์ของ คปภ.
โฆษณา