23 พ.ค. 2024 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม

สร้างป่าให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยแนวคิดทฤษฎี ‘มิยาวากิ’

ธรรมชาติหรือป่าไม้ที่สมบูรณ์แบบจำเป็นต้องมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ดี เกื้อกูลกัน และสร้างระบบการเติบโตของตัวเอง แต่ปัญหาคือกว่าป่าแห่งหนึ่งจะเกิดระบบนิเวศตามธรรมชาติได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลายาวนานบางครั้งอาจกินเวลาเป็น 100 ปี
ในปัจจุบันก็ได้มีแนวคิดหนึ่งที่เข้ามาเป็นบทบาทสำคัญในการทำให้มนุษย์สร้างความยั่งยืนได้ โดยมีชื่อแนวคิดนี้ว่า ‘ทฤษฎีมิยาวากิ’ ที่จะช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติจากราว 100 ปีเหลือเพียง 10 ปี ด้วยการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นมาเอง จากการเริ่มต้นทีละ 1 ตารางเมตร ผ่านวิธีดังนี้
🌳 ขั้นตอนก่อนปลูก
1. ก่อนจะเริ่มปลูกป่า จะมีการสำรวจพันธุ์ไม้ที่อยู่เดิมในท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงกับที่จะทำการปลูกป่า เพื่อคัดเลือกชนิดพันธุ์ดั้งเดิมที่แข็งแรงในบริเวณมาเก็บไว้ เพราะเหมาะกับสภาพดินและอากาศ ที่สำคัญต้นไม้จะปรับตัวง่าย
2. หลังจากที่คัดเลือกพันธุ์ไม้ดั้งเดิมแล้วจะทำการเพาะเมล็ด เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีรากสมบูรณ์ และทำการดูแลเพิ่มเติมโดยใช้เวลาอย่างน้อยอีกประมาณ 6-8 เดือน
3. ถัดมาจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพดินในพื้นที่ปลูกป่า โดยจะต้องเป็นดินร่วนที่มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 ซึ่งมีความเป็นกรดอ่อน ๆ เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้ใน 2-3 ปีแรก หรืออาจจะมีการใช้เศษอาหาร เศษใบไม้ หรือถอนหญ้ามาวางบนดินแล้วรดน้ำจนย่อยสลาย สำหรับเพิ่มธาตุอาหารก็สามารถทำได้เช่นกัน
4. ขั้นตอนสำคัญก่อนจะปลูกป่าสร้างระบบนิเวศคือเราต้องสร้างดินให้เป็นเนิน หรือการทำเนินดิน เพื่อเพิ่มผิวดิน ไว้ให้กล้าไม้มีการระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบเนินหลังเต่าที่มีความลาดเอียงประมาณ 15 องศาสำหรับพื้นที่แคบ เนินขั้นบันไดสำหรับพื้นที่ชัน เนินเตี้ยสำหรับพื้นที่กว้างหรือจะเป็นเนินราบก็สามารถทำได้ทั้งหมด ตามแต่ละพื้นที่ที่เราสร้างระบบนิเวศ
🌳 ขั้นตอนการปลูก
ในแนวคิดนี้ ขั้นตอนการปลูกเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะก่อให้เกิดระบบนิเวศจากธรรมชาติ โดยสามารถทำได้ผ่านวิธีดังต่อไปนี้
1. การปลูกป่าเพื่อสร้างระบบนิเวศจะต้องปลูกต้นไม้ตามโครงสร้างของป่าแบบหลายชั้น หลายระดับ (Multi-Layer Planting) ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่มและไม้พื้นล่างหรือไม้คลุมดิน เพื่อให้รากและตัวยอดไม้อยู่ต่างระดับกัน
2. การปลูกป่าที่มีประสิทธิภาพจะต้องสร้างความถี่ในการปลูก โดยควรจะมีต้นไม้หลากหลายระดับประมาณ 3-4 ต้น ในทุก ๆ 1 ตารางเมตร เพื่อให้มีแนวของป่าที่ขึ้นในจำนวนที่พอดี
3. ในส่วนของวิธีการปลูก นอกเหนือจากการกำหนดระยะห่างของพื้นที่และระดับของการปลูกแล้ว วิธีการวางตำแหน่งในพื้นที่หรือกระจายสายพันธุ์ ให้ทำแบบสุ่มเพื่อให้ตัวป่าเติบโตเกื้อกูลพึ่งพิงกัน ไม่ได้ขึ้นเป็นแถวหรือเป็นระเบียบเกินไป
4. นอกเหนือจากรูปแบบการปลูก การเพิ่มเทคนิคในการปลูกก็เป็นส่วนสำคัญของแนวคิดนี้ เช่น อาจจะมีการนำกล้าไม้จุ่มน้ำก่อนปลูก เพื่อกระตุ้นราก หรือการใส่ปุ๋ยผสมดินก่อนลงปลูกเป็นการเพิ่มธาตุอาหาร เป็นต้น
5. สุดท้ายของการปลูกป่าที่เพิ่มระบบนิเวศธรรมชาติ คือ กระบวนการหลังจากเอาไม้ลงดิน เราจำเป็นต้องคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นด้วยการนำเศษใบไม้หรือต้นหญ้ามาคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ดินชุ่มชื้น แม้ไม่ได้รดน้ำก็ตาม
และนี่ก็คือการปลูกป่าและสร้างนิเวศธรรมชาติแบบรวดเร็วตามแนวคิดมิยาวากิ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากเราลองดูทีละขั้นตอน ก็จะทำตามได้ไม่ยากเลย ทีนี้ใครกำลังมีโครงการปลูกป่าหรือมีไอเดียจะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลก ก็สามารถลองหยิบไอเดียเหล่านี้ไปทำตามกันดูได้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ 🍃
ขอบคุณข้อมูล มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา