21 พ.ค. 2024 เวลา 02:34 • ความคิดเห็น

Critical Thinking คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญสำหรับการทำงานยุคใหม่

การคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical Thinking เป็นความสามารถในการตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการรับรู้ของเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำการตรวจสอบ ตีความ ประเมิน ให้เหตุผล และค้นหาคำตอบที่สมเหตุสมผล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาที่เราจะต้องเจอ
การคิดแบบ Critical Thinking จะทำให้การแก้ปัญหาของเราสามารถอธิบายได้ว่าเราตัดสินใจทำเพราะเหตุผลใด การคิดแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจและตอบคำถามต่างๆในการทำงานหรือในชีวิตประจำวันได้อย่างมีเหตุผลและชัดเจนยิ่งขึ้น
Critical Thinking ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
องค์ประกอบของ Critical Thinking มีดังนี้
การสังเกต (Observation)
สังเกตและคาดการณ์ปัญหา จากนั้นค่อยหาแนวทางแก้ไข จะสามารถช่วยให้เรารับรู้สถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้ และช่วยในการวางแผนเพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวิเคราะห์ (Analysis)
การวิเคราะห์เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาทักษะ Critical Thinking โดยเราจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเข้าใจเนื้อหาและตีความข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การอนุมาน (Inference)
การอนุมานคือกระบวนการคิดในการหาข้อสรุปจากข้อมูลที่เรามีอยูู่ โดยจะใช้ข้อมูลที่เรามีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานและใช้เหตุผลอื่น ๆ มาประกอบเพื่อสรุปข้อมูลที่เรายังไม่รู้ เช่น การใช้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันก็จะทำให้สามารถตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
การสื่อสาร (Communication)
ทักษะการสื่อสารไม่ใช่แค่เพียงคำพูดและเขียนอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการใช้ภาษากายเพื่อสื่อสารทั้งความรู้สึกและความคิดไปยังผู้รับ การใช้ภาษากายในการสื่อสารจะช่วยสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดี และยังช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย
การแก้ปัญหา (Problem solving)
ทักษะการแก้ปัญหาคือการเรียนรู้วิธีการจัดการกับสถานการณ์ที่มีปัญหาโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการวิเคราะห์ เพื่อหาทางออกหรือวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาจะช่วยให้เราเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้านได้
ทำไม Critical Thinking จึงเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานยุคใหม่
- เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเพื่อทำให้สามารถรับมือกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในการทำงานได้อย่างมีสติและมีเหตุมีผล ลดการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น เนื่องจากได้วิเคราะห์สถานการณ์อย่างเต็มที่ก่อนตัดสินใจ
- ทักษะ Critical Thinking มีบทบาทสำคัญในการเกิดความคิดใหม่ ๆ โดยเราสามารถนำเสนอความคิดหรือเหตุการณ์ในมุมมองที่แตกต่างกันและสามารถต่อยอดความคิดใหม่ ๆ ในการทำงานได้ตลอดเวลา
- ทักษะ Critical Thinking เป็นสิ่งสำคัญในการก่อให้เกิดกระบวนการตั้งคำถามและวิเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปใช้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ส่งผลทำให้เราสามารถทำงานกับข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การใช้ทักษะ Critical Thinking ช่วยในการเปิดมุมมองใหม่ ๆ และออกจาก Comfort Zone เดิม โดยเปิดใจยอมรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้มากขึ้น ส่งผลทำให้เราเปิดใจและยอมรับมุมมองของเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้นด้วย
วิธีการตั้งคำถามแบบ Critical Thinking
การฝึกทักษะ Critical Thinking ต้องหมั่นฝึกการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเราต้องฝึกการสงสัยและการสร้างคำถามต่าง ๆ ดังนี้
Who? ใครเป็นผู้พูด ใครคือผู้เกี่ยวข้อง หรือใครเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ใครเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น เป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่ หรือเราสามารถเชื่อถือบุคคลนั้นได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
What? ปัญหาคืออะไร ข้อมูลคืออะไร หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
เราต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเป็นหลัก และข้อมูลอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจเป็นข้อมูลเสริมเพื่อสนับสนุนเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น เราอาจจะต้องตัดความรู้สึกส่วนตัวของผู้ส่งข้อมูลออกเพื่อให้ได้ปัญหาที่แท้จริง เป็นต้น
When? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ได้รับข้อมูลมาเมื่อไหร่
เมื่อไหร่ที่เกิดเหตุการณ์หรือเวลาใดที่ข้อมูลถูกส่งมา จะช่วยทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าเราได้รับข้อมูลมาในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วนานแค่ไหน เช่น การเอาข้อมูลของปีที่ก่อนหน้านั้นมาพูดอาจไม่เป็นประโยชนกับการตัดสินใจในปัจจุบัน เป็นต้น
Where? เหตุการณ์เกิดที่ไหน มีการพูดถึงเหตุการณ์หรือได้รับข้อมูลมาจากที่ไหน
การระบุสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์หรือที่มาของข้อมูล จะช่วยทำให้เรารู้ถึงความน่าเชื่อของข้อมูล เช่น ได้รับข้อมูลมาจจากการประชุม หรือจากการที่เพื่อนร่วมงานพูดต่อ ๆ กันมา เป็นต้น
Why? มีการส่งข้อมูลมาเพื่ออะไร พูดเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ในการกระทำคืออะไร
การทราบวัตถุประสงค์หรือเหตุผลในการเกิดเหตุการณ์หรือข้อมูล หรือวัตถุประสงค์ในการพูดถึงข้อมูลช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูล เช่น ผู้พูดพยายามพูดเพื่อให้ตนเองดูดีหรือเพื่อให้คนอื่นดูแย่หรือไม่ หรือเป็นการพูดแค่เสนอข้อคิดเห็นหรือไม่
How? มีการส่งข้อมูลมาอย่างไร มีลักษณะทางอารมณ์ในการสื่อสารข้อมูลอย่างไร
การระบุวิธีการสื่อสารหรือวิธีการส่งข้อมูลช่วยให้เราเข้าใจว่าข้อมูลถูกส่งมาอย่างไร และมีลักษณะทางอารมณ์ใดที่อาจมีผลต่อการตีความ เช่น หากผู้พูดอยู่ในอารมณ์โกรธหรือกำลังโมโห อาจจะส่งผลทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของข้อมูลข่าวสารได้
5 วิธีการฝึกทักษะ Critical Thinking
1. ฝึกประเมินข้อมูลที่ได้รับ
ฝึกประเมินข้อมูลที่ได้รับ รวบรวมและคัดกรองข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจว่าข้อมูลใดที่น่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลมากที่สุด และข้อมูลใดไม่น่าเชื่อถือ เพื่อให้สามารถเชื่อมั่นในข้อมูลก่อนที่จะใช้ในการตัดสินใจในชีวิตประจำวันและการทำงานได้อย่างมั่นใจ
2. ฝึกพิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล
เป็นการฝึกพิจารณาข้อมูลที่ได้รับในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความน่าเชื่อถือของข้อมูลหรือแหล่งที่มาของข้อมูล โดยที่เราต้องทำความเข้าใจในทุก ๆ มุมมองก่อนที่จะยอมรับข้อมูล และต้องระวังข้อมูลที่อาจจะไม่มีประโยชน์หรือมีแหล่งที่มาที่ไม่ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลอยู่มากมายและหลากหลาย ทักษะนี้จึงสำคัญเป็นอย่างมาก
3. ฝึกตั้งคำถาม
การฝึกตั้งคำถามไม่เพียงแค่สร้างความเข้าใจในข้อมูล แต่ยังเป็นการตั้งคำถามเพื่อสร้างความสงสัย เช่น การสังเกตเหตุการณ์ เพื่อกระตุ้นความกระตือรือร้นในการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ จากนั้นเริ่มคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาทักษะ Critical Thinking เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันและการทำงานในองค์กร
4. ฝึกค้นหาข้อมูลจากงานวิจัย
เป็นการเริ่มฝึกค้นหาข้อมูลจากงานวิจัยหรือแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ โดยเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบางครั้งการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัว อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในบางสถานการณ์ ดังนั้นข้อมูลจากงานวิจัยจะเป็นตัวช่วยให้เรามีการตัดสินใจที่ดีขึ้น เราควรหาข้อมูลจากงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เราสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างครบถ้วน
5. ฝึกแสดงความคิดเห็น
การฝึกทักษะ Critical Thinking เริ่มต้นด้วยการแสดงความคิดเห็น การได้รับมุมมองที่แตกต่างหรือการเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ จะช่วยขยายมุมมองของเราได้มากขึ้น การฟังความเห็นที่เราไม่เห็นด้วยและพยายามทำความเข้าใจมัน จะทำให้เราเข้าใจในมุมมองของผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่: https://manawork.com/blog/critical-thinking
โฆษณา