21 พ.ค. 2024 เวลา 04:36 • การศึกษา
สถานีหลักสี่
ดิฉันเติบโดจากการเป็นเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด เคยสัมผัสฤดูหนาวขณะยืนเคารพธงชาติ ยอมรับว่าหนาวมาก แต่ความโชคดีคือ ดิฉันเกิดมาเป็นลูกสาวเถ้าแก่ใหญ่ ก็เลยมีเสื้อกันหนาวแบบมีฮู้ดสวมใส่อวดเพื่อนๆ ขณะที่เพื่อนบางคนไม่มี มีก็แต่เสื้อนักเรียนดำคล้ำ บางคนยืนสั่นจนปากเขียว และดิฉันเองก็ยังเคยสัมผัสฤดูร้อน ชนิดที่เหงื่อไหลไคลย้อย แต่เพราะฤดูร้อนนี่เอง ที่ทำให้พวกเราทุกคน "เท่าเทียมกัน" ร้อนเหมือนกัน ไม่ว่าจะลูกสาวเถ้าแก่ หรือแม้แต่ลูกสาวคนเก็บขยะขาย
การยืนตรงเคารพธงชาติของเยาวชนเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้มีเพียงประเทศไทย และที่มาต่างๆในบ้านเรา ก็เกิดจากผู้ปกครองประเทศไปพบเห็นและดูงานในต่างประเทศ จึงนำมาปฏิบัติด้วยเห็นข้อดีของมัน มันคือวินัย และการปลูกฝังจิตสำนึกในความเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เป็นศูนย์รวมของคนในชาติ
หากดิฉันเข้าใจไม่ผิด กระแสที่ถูกพูดถึงเรื่องการยืนตรงเคารพธงชาติ ไม่ได้มีปัญหาใด ปัญหาคือสภาพอากาศบ้านเราที่ร้อนระอุ ไม่มีฤดูหนาวอีกเลย เด็กและผู้ปกครอง กังวลเรื่องอันตรายจากความร้อน จึงอยากให้นำเด็กไปยืนในอาคารหรือโรงยิมที่มีร่ม
สำหรับโรงเรียนในเมืองประเด็น "กูร้อน! และลูกกูร้อน!" คงไม่มีปัญหา ด้วยเพราะผู้ปกครองบริจาคกันมาก จึงมีอาคารหรูหราหมาเห่า ซ้ำยังติดแอร์ให้ลูกกูได้ยืน แต่สำหรับโรงเรียนในชนบทที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ คำว่า "กูร้อน! และลูกกูร้อน!" ก็คงไม่มี อาจมีเพียง "กูร้อน! และมึงต้องอดทน! หรือไม่มึงก็ลาออกมาช่วยแม่เดินกลางแดดเพื่อเก็บขยะขาย"
พวกเราเรียกร้องความเท่าเทียมกัน
ทั้งรู้ว่าเราทุกคนไม่ได้เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด
แต่การยืนตรงเคารพธงชาตินี่แหละที่เท่าเทียม
เพราะพวกเราคือคนร่วมชาติ มีจุดศูนย์รวมร่วมกัน
ไม่ว่าจะยืนกลางแดดกลางทุ่ง หรือในโรงยิมติดแอร์
1
โฆษณา