Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 พ.ค. เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
การเกษียณ ≠ หยุดทำงาน แต่คือการได้ใช้ชีวิตอิสระมากขึ้น
รวม 7 คำถามที่ต้องตอบให้ได้ สำหรับคนเพิ่มเริ่มวางแผนเกษียณ
1
หากสอบถามผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเงินมั่นคง คำตอบที่ได้ คือ มาจากการเตรียมตัวดี พูดง่ายๆ ถ้าอยากมีเงินใช้ตามใจปรารถนาไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต ต้องเริ่มต้นวางแผนเก็บออมตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ถ้ากำลังวางแผนเกษียณ ควรลองตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะคำตอบที่ได้อาจหมายถึงการมีชีวิตหลังเกษียณที่ดีตามที่วาดฝันเอาไว้
(1) #เกษียณเมื่อไหร่?
คำถามนี้สำคัญมากและควรมีคำตอบ คือ กำหนดช่วงเวลาที่ต้องการเกษียณให้ชัดเจน บางคนมีแผนเกษียณเร็วที่สุด แต่บางคนก็อยากทำงานไปจนถึงวัยเกษียณตามปกติ หรือบางคนอยากทำงานไปเรื่อยๆ ดังนั้น ควรมีกรอบความคิดว่าอยากเริ่มต้นชีวิตเกษียณเมื่อไหร่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการวางแผนด้านการเงิน เช่น ถ้าอยากเกษียณเร็ว ก็ต้องรีบเก็บออมเพื่อจะได้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย รวมถึงวางแผนและตรวจสอบว่าได้รับสิทธิประโยชน์และสามารถเริ่มรับสวัสดิการต่างๆ ได้เมื่อไหร่
(2) #เกษียณกับใคร?
“หลังเกษียณจะใช้ชีวิตกับใคร” คำถามนี้จะมีผลต่อการเตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งคำตอบหลัก ๆ คือ จะใช้ชีวิตแบบคู่หรือแบบโสดสนิท เพราะถึงแม้จะมีการวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณคล้ายๆ กัน แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้มั่นใจว่าการวางแผนเป็นไปอย่างราบรื่น
สำหรับคู่แต่งงานและวางแผนเกษียณด้วยกัน ก็ต้องเข้าใจว่าชีวิตและช่วงเวลาที่เหลือในการใช้ร่วมกันจะเปลี่ยนไปกรณีเกษียณคนละช่วงเวลา เช่น สามีเกษียณปี 2567 ส่วนภรรยาเกษียณปี 2570 แสดงว่าฝ่ายชายจะใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่า ขณะที่ภรรยาก็ต้องเดินทางไปทำงาน
ถ้ามองถึงภาพรวมการวางแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณของคนมีคู่ดูจะง่ายกว่า เพราะนอกจากการมีเงินเดือนสองคนแล้ว ยังวางแผนเกี่ยวกับสวัสดิการอื่นๆ ร่วมกันได้ เช่น ถ้าฝ่ายไหนมีเงินเดือนสูงกว่าก็สะสมเข้ากองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพได้สูงกว่าตามไปด้วย พร้อมกับช่วยกันเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังดูว่าฝ่ายไหนได้รับสิทธิประโยชน์ดีกว่าเมื่อเกษียณจากการทำงาน ก็นำมาวางแผนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนคนโสดอาจมีความท้าทายมากขึ้น เพราะต้องคิดเอง ลงมือวางแผนเก็บออมเพื่อตัวเอง เพราะต้องพึ่งพารายได้และสวัสดิการของตัวเอง ดังนั้น เป้าหมายการเงินต้องชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าเก็บเงินเพียงพอ เช่น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในแต่ละเดือนต้องพร้อม และควรทำประกันตั้งแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญอาจมองถึงการเตรียมผู้ช่วย เช่น บ้านพักผู้สูงอายุ หมายความว่า คนโสดอาจต้องแบ่งเงินเพื่อเก็บออมสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณสูงกว่าการเกษียณแบบคนมีคู่
(3) #ดูแลสุขภาพอย่างไร?
ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพในระยะยาวเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้สูงอายุ เพราะโรคบางชนิดจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก และยิ่งหากตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดจึงควรวางแผนให้รัดกุม เช่น ทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษา
(4) #เกษียณที่ไหน?
คำถามนี้จะบอกว่าต้องวางแผนเก็บออมให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตและใช้เงินหลังเกษียณ เช่น ถ้าต้องการอยู่บ้ายเฉยๆ ก็ย้ายไปอยู่ในทำเลที่สงบ ค่าครองชีพไม่สูง ทำให้การเตรียมเงินก่อนเกษียณก็ไม่สูงตามไปด้วย ขณะที่บางคนชื่นชอบการทำเกษตร ก็ต้องมองหาทำเลที่เหมาะสมทั้งการอาศัยและการทำเกษตร หรือบางคนเมื่อเกษียณไปแล้วยังต้องดูแลพ่อแม่ ก็ต้องวางแผนว่าควรอาศัยอยู่ที่ไหนเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต รวมถึงภาระทางการเงินของตัวเองและคนรอบข้าง
(5) #เกษียณไปทำอะไร?
1
คำนิยามหนึ่งสำหรับวัยเกษียณ คือ การมีเวลาว่าง ทำให้มือใหม่วัยเกษียณหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับการตื่นขึ้นมาโดยไม่ต้องทำอะไร หรือบางคนอาจดิ้นรนค้นหาจุดมุ่งหมายในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ก่อนถึงวันเกษียณควรวางแผนคร่าวๆ ว่าช่วงปีแรกๆ ของการเกษียณจะใช้เวลาไปทำกิจกรรมอะไร เช่น
• ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง
• ทำงานไม่เต็มเวลา
• ทำงานอาสาสมัคร
• ท่องเที่ยว
• ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย
• ทำงานอดิเรก
• อบรมเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
การวางแผนเพื่อใช้เวลาในวัยเกษียณจะช่วยลดความรู้สึกสับสนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ โดยช่วงแรกๆ ควรทดลองทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูว่าเหมาะกับตัวเองหรือไม่ รวมถึงลองคำนวณว่าแต่ละกิจกรรมจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สอดคล้องกับเงินที่เก็บออมด้วย
(6) #ทำไมถึงอยากเกษียณ?
หลายคนอาจลืมตั้งคำถามนี้กับตัวเอง แต่เมื่อถามอาจได้คำตอบที่น่าประหลาดใจ เช่น ต้องการเกษียณตอนอายุ 50 ปี เพราะไม่อยากตื่นไปทำงานตอน 8 โมงเช้า แต่เมื่อมองตัวเองหลังเกษียณ คำตอบที่ได้คือ คิดไม่ตกว่าจะไปทำอะไร ชีวิตอาจเต็มไปด้วยความน่าเบื่อและไร้จุดหมาย ดังนั้น หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนควรพิจารณาแผนการเกษียณอีกครั้ง อย่าลืมว่าการเกษียณไม่มีคำว่าสาย ขอเพียงวางแผนให้ชัวร์ๆ ก่อน
1
(7) #วางแผนการเงินหลังเกษียณอย่างไร?
คำถามนี้ก็สำคัญ เพราะคงรู้ดีว่าทุกคนไม่สามารถหยุดทำงานวันไหนก็ได้ โดยที่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย อย่าลืมว่าการเกษียณ คือ การเปลี่ยนแปลงในชีวิต หลายคนเกิดปัญหาทางการเงินเพราะไม่ได้เตรียมตัวเอาไว้ หรือมั่นใจมากเกินไปว่า “มีเงินใช้จ่ายเพียงพอแน่นอน” แต่กลับไม่มีแผนสำรอง
ดังนั้น หากสถานการณ์เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตหลังเกษียณ เช่น เงินหมดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อเกษียณไปแล้วควรวางแผนให้รัดกุมว่าเงินเก็บก้อนสุดท้ายจะนำไปเก็บออมหรือลงทุนอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเงินต้นต้องปลอดภัยแต่ให้ได้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมและมีใช้จ่ายไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต
การตั้งคำถามตัวเองถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการวางแผนเกษียณอายุ ยิ่งได้คำตอบก็ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าเส้นทางสู่การเกษียณอายุจะเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้และทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข
#aomMONEY #MakeRichGeneration #วางแผนเกษียณ #เกษียณ #วางแผนการเงิน #วางแผนชีวิต
7 บันทึก
9
8
7
9
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย