22 พ.ค. เวลา 03:00 • กีฬา

ค่าตัวโค้ชต่างชาติ 40-50 ล้านบาทต่อปีจริงหรือ?

กระแสความไม่พอใจต่อผลงานของนักกีฬาหญิงทีมชาติไทยในสัปดาห์แรกของศึก #VNL2024 ที่พ่ายอย่างต่อเนื่อง 4 นัดติด ลุกลามเข้าไปในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนอย่างวรรณา บัวแก้ว
หนึ่งในความเห็นได้กล่าวว่าในกีฬาชนิดอื่นอย่างเทคควันโด ฟุตบอล หรือแบตมินตันต่างประสบความสำเร็จจากการใช้โค้ชต่างชาติ แล้วทำไมไทยถึงไม่คิดจะลองโค้ชต่างประเทศเลย
วรรณา จึงได้ตอบโต้ว่า ไม่มีเงินจ้าง เพราะค่าตัวโค้ชต่างชาติอยู่ที่ 40-50 ล้านต่อปี
เมื่อมีการตอบโต้บนพื้นที่เปิดสาธารณะให้ทุกคนได้เข้าไปรับทราบ คำตอบของวรรณากลายเป็นประเด็นร้อนแรงทันทีในโลกโซเชียล ทั้งทวิตเตอร์ (หรือ X) กลุ่มเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์พันทิป
หากใครติดตามข่าวสารในแวดวงวอลเลย์บอลหญิงมาก่อน คงจำกันได้ดีว่า ในปลายปี 2022 ทางตุรกีต้องการตัวโค้ชแดเนียล ซานตาเรลลี ซึ่งคุมทีมชาติเซอร์เบีย เข้ามาแทนที่จีโอวานี กุยเดตติ ที่คุมทีมชาติตุรกีในขณะนั้น และผลงานไม่สู้ดีเท่าไรนัก
ขณะที่เซอร์เบียสามารถคว้าแชมป์โลกมาได้ ตุรกีกลับจอดอยู่ที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยพ่ายให้กับสหรัฐ 3-0 เซ็ต
"ทางสมาคมวอลเลย์บอลตุรกีแสดงความร่ำรวยด้วยการเสนอเงินให้ 2 แสนยูโรต่อปี จนถึงปี 2024 พร้อมโอกาสต่อสัญญาไปอีก 2 ปี"
เว็บไซต์ WorldofVolley รายงาน
อาจฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับฟุตบอล แต่ฤดูกาลทีมชาติมีอยู่แค่ 6 เดือนเท่านั้น เท่ากับว่าได้เงินประมาณ 8 ล้านบาท จากการทำงาน 6 เดือน ตกเดือนละ 1.3 ล้านบาท ซึ่งห่างไกลกับตัวเลขที่วรรณาให้
เมื่อข่าวออกไป ทางวรรณายังได้แชร์ข่าวนั้นด้วยตัวเอง ก่อนจะลบโพสต์ไปโดยให้เหตุผลว่าพูดเกินจริงไป
แต่ในยุคโซเชียลไม่มีอะไรหายไป ทุกอย่างกลายเป็นดิจิตอลฟุตปริ้นท์ที่อยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป โดยวรรณายังคงไม่เชื่อว่าค่าตัวของกุยเดตติและแดเนียลจะอยู่ที่ 7-8 ล้านบาทต่อปี
"เราไม่จำเป็นต้องเอาโค้ชระดับท็อปแบบกุย แบบแดเนียลก็ได้"
"โค้ชญี่ปุ่นไม่น่าแพงขนาดนั้น"
"ทาง FIVB จะส่งโค้ชมาให้ไม่ใช่หรอ"
สำหรับค่าตอบแทนของผู้ฝึกสอนไทยและต่างชาติ ตามหลักเกณฑ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย กำหนดว่า ผู้ฝึกสอนต่างประเทศ ระดับผู้เชี่ยวชาญ ได้รับ 100,000-150,000 บาทต่อเดือน ระดับสูง 60,000-100,000 บาทต่อเดือน และระดับทั่วไป ไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน โดยในกีฬาอื่นๆ อย่างเทควันโด "โค้ชเช เชยองซอก" ได้รับเงินเดือน 2 แสนบาท
โฆษณา