21 พ.ค. 2024 เวลา 16:01 • ปรัชญา
ถ้าใครถือศีลได้อย่าง "บริบูรณ์" ก็น่าคิดว่า "อาจจะ"ไม่ตกนรกเหมือนกันนะครับ
ปัญหาคือ การถือศีลได้อย่างบริบูรณ์ หรือเป็นผู้มีศีลโดยบริบูรณ์ มันเป็นอย่างไรมากกว่า
เอาแค่ศีล 5 ก็น่าจะพอเพียงกับฆราวาสอย่างเรา ๆ ครับ เพราะศีล 5 เอาเข้าจริง ๆ แล้วก็อยู่ใน มรรคมีองค์ 8 แล้วก็หลายข้อ
ผมคิดว่า ศีล 5 และการปฏิบัติธรรม มันเดินไปคู่กันครับ เมื่อใดที่การปฏิบัติฯ เริ่มเข้าสู่จิต เมื่อนั้นศีลมันก็ค่อย ๆ บริบูรณ์ขึ้น
เพราะถ้ามันยังเป็นการ "ถือ" ศีลอยู่ แปลว่ามันยังไม่เป็นธรรมชาติ มันยังไม่รู้ทันจิตที่คิดปรุงแต่งไปในทางผิดศีล มันจึงมีโอกาสมากที่จะทำผิดศีลไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง โดยเฉพาะข้อมุสาวาท (ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่พูดโกหกเท่านั้น)
แต่ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติจนถึงขั้นมีศีลโดยเป็นธรรมชาติ ก็มีโอกาสที่จะรักษาศีล 5 ได้โดยไม่บกพร่อง
กายไม่ผิดศีล แต่ใจมันผิดอยู่ เช่นก่นด่าเขาในใจบ้าง แช่งชักหักกระดูกเขาบ้าง หน้าเนื้อใจเสือบ้าง พยาบาทโทสะเผาจิตใจอยู่บ่อย ๆ มันจะมีประโยชน์อะไร
สุดท้าย การที่ยังกลัวจะตกนรก มันก็แปลว่ายังยึดมั่นอยู่ในตัวเราของเราอยู่ มันคือการยึดอยู่ในอุปาทานขันธ์ 5 โดยเฉพาะจิตนั้น มันเป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง และเป็นอนัตตาคือบังคับควบคุมไม่ได้ เมื่อกองขันธ์มันแตกดับไปแล้ว จุติจิตก็จะนำไปสู่ภพภูมิใหม่ เพราะมันยังมีการยึดถืออยู่
ปัญหาก็คือ จิตเป็นอนัตตา มันมีอะไร "การันตี" ได้ว่า จะไปสู่สุขคติ???
การถือศีลและปฏิบัติฯตามอริยสัจ 4 มันเป็นการสร้างเหตุ ซึ่งเป็นทางสายเดียวที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ครับ เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ตอนจะถึงลมหายใจสุดท้าย
ว่ามาซะยืดยาวเลยครับ สรุปว่า อย่าไปตั้งเป้าหมายเลยครับว่าไม่อยากตกนรกตอนตาย สู้ปฏิบัติไม่ให้เราตกนรกกันตอนเป็น ให้ทุกข์ที่มีน้อยลง ๆ จางลง ๆ จะดีกว่าครับ
โฆษณา