22 พ.ค. 2024 เวลา 10:10 • ไลฟ์สไตล์

สาธยายธรรมวันพระ

โดยอะโตย อัมโบย มะ ลูกพระตถาคต
วางแล้วว่างเป็นอย่างไรหนอ หลายคนยังไม่เข้าใจในเรื่องความว่างจากการวางได้แจ่มชัดซักเท่าไร
เพราะในมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ กาย วาจา ใจ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ความว่างมันจึงเกิดขึ้นได้ยาก
เราต้องทำความเข้าใจในคำว่า ว่างหรือว่างเปล่าให้ถ่องแท้ ในนัยยะของความเป็นไปที่ต้องมีสติ จากจิตที่ตื่นรู้ แล้วจึงค่อยมาพิจารณาละหรือถอยห่าง หรือเว้น หรือถอนออกจากสิ่งนั้นเสีย ที่ทั้งๆชีวิตของการถอยหรือถอนอาจดูไม่น่าจะเพียงพอ เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในแนวทางของโลก ที่มีองค์ประกอบของ กิเลส ตัณหา และอุปทาน หรือความอยากมีอยากได้ที่ต้องการหามาสนองความต้องการของตน ในแต่ละมิติ อย่างเช่น
ความอยากได้ อยากมีอยากเป็น ที่นำไปสู่การแสวงหา ภายใต้สภาวะกิเลสตัณหา อันประกอบขึ้นจากความรัก โลภ โกรธ หลง ที่นำไปสู่ความพยาบาทและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ถ้าไม่มีสติ ตื่นรู้ ทุกอย่างจำต้องจบลง
ความรู้สึกตัว หรือความมีสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกตัว มีหลายคนถาม
การปักหลักลงในความเป็นอนัตตาของธาตุขันธ์ ในสิ่งที่เรียกว่า"ลม"ที่เราใช้หายใจจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต มาใช้ในการพิจารณาดูฐานกายของเรา ที่ต้องเฝ้ามองให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตที่เคลื่อนที่ไปทุกขณะ การพิจรณานี้เราเรียกว่าการทำภาวนาหรือการรู้การเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงของจิตหรือธาตุลม
ผลที่ได้จากการปฎิบัติการรู้ลม มันจะช่วยให้เรารู้สึกตัว รู้ระบบการคิดว่าคิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ มีความโกรธเกลียดอยู่ไหม รักหรือชอบสิ่งใดอยู่ใช่หรือไม่ เมื่อเราได้เห็นการเคลื่อนตัวของจิตบ่อยๆเข้า เท่ากับเรากำลังฝึกนิสัยแห่งการตื่นรู้ที่มองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น
สิ่งที่เห็นเราจะเห็นแจ่มชัดขึ้นจากการตื่นรู้ว่า เมื่อจิตมันถูกสิ่งเร้าจิตมันจะเคลื่อนจากจุดเดิมไปตั้งในจุดใหม่ที่เราเรียกว่าเป็นจุดก่อกำเนิด หรือบางคนเรียกจุติ หรือจุดที่จิตกำลังดับลงจากสิ่งเก่าแล้วไปตั้งใหม่ในอีกจุดหนึ่ง ที่เราเรียกว่า จุดเกิดดับ ก่อนย้ายไปตั้งหรือเกิดใหม่ในจุดใหม่
ตรงจุดนี้คือจะมีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง อันจะเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเคลื่อนของจิต แต่ถ้าเราตื่นรู้ และเท่าทันกับจิตที่จะละจากจุดนึงไปเพื่อก่อให้เกิดจุดใหม่
ภาพที่เราเห็น หากเราพิจารณาดีๆแล้ว ทุกอย่างมันก็เป็นกระบวนการแบบนี้ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำๆซาก วนเวียนกันไป มันมี การเกิดขึ้น ตั้งอยู่คงอยู่ เสื่อมลายมลายหายไป หรือแตกดับ
มันก็เป็นอย่างนี้ เช่นนี้ อย่างนั้น เช่นนั้น ตามวัฎจักรของมัน วนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น
เราก็เห็นความเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นจากภาพรวมที่เรามีความตื่นรู้ ว่าเดี๊ยวมันก็มา มันจะอยู่ซักพัก แล้วเดี๊ยวมันก็ไป ก็แค่มาๆไปๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว
อิจฉา ริษยา ก็ชั่วคราว โกรธเกลียด ก็ชั่วคราว ความอยากได้ใคร่มีก็ชั่วคราว ทุกสิ่งเป็นสิ่งชั่วคราวหมด
ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น มันมีวัฎจักรของมัน
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปรกติของมันในธรรมชาติ ปัญหามันจึงไม่ได้อยู่ที่ธรรมชาติ
ปัญหามันอยู่ที่ใจเราต่างหากที่ไม่ยอมรับธรรมชาติของความเป็นไปในธรรมชาติ
เราเองต่างหากที่ไปปฎิเสธความเป็นไปแห่งธรรมชาติ กลับไปยึดไปถือมันมัน ไปแบกมันไม่ยอมปล่อยให้มันไหลไปวัฏจักร ที่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง
โดยพยายามที่จะเอาชนะ ด้วยการฝืนธรรมชาติ ด้วยความคาดหวังว่าจะหน่วงเหนี่ยวยึดรั้งเอาไว้ได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่สามารถที่จะกระทำอย่างนั้นได้
เมื่อไปฝืนยึด ด้วยความเข้าใจว่าเราสามารถควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ปลายทางก็ไม่สมดังกับความอยากได้ใคร่มี ใจเราก็ย่อมเป็นทุกข์
เรื่องมันก็มีอยู่แค่นั้น
วิธีการแก้ที่ง่ายสุดคือ ลด ละ เลิกถอย และไถ่ถอนจากการยึดเหล่านั้นเสีย ที่เราเรียกมันว่าปล่อยวางนั่นแหละ
ปล่อยให้มันไหล
ปล่อยให้มันเปลี่ยน
ปล่อยให้มันเสื่อม
ปล่อยให้มันหายไป
ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน
หลายคนต้องเข้าสู่ ภาวะหนึ่งที่เขาว่า มนุษย์เรามักปล่อยวางได้ง่ายที่สุดคือ "ภาวะใกล้ตาย" ยิ่งเราเฉียดใกล้ความตายมากเท่าไหร่
เราจะปล่อยวางเองอัตโนมัติ
ไม่ต้องให้ใครมาสอนอะไรเลย
พอใจเราเริ่มวาง จิตเราก็เริ่มว่าง
แล้วเริ่มเห็นคุณค่าแท้จริงบางอย่าง
ที่เราอาจไม่เคยเห็นมาเลยทั้งชีวิต
แล้วเราจะรอวันวันนั้นไหม วันใกล้ตายถึงจะเริ่มปล่อยวาง
ทั้งๆที่บางอย่างเราสามารถลงมือทำได้ ด้วยการเริ่มฝึกจิตฝึกใจตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ชีวิตเราเข้าใกล้ความสุขเนื้อแท้มากขึ้น
และถูกสกัดกั้นด้วยความทุกข์ที่ไม่จำเป็นที่น้อยลง
โฆษณา