25 พ.ค. 2024 เวลา 13:00 • สุขภาพ

ปัญหาปลายเท้าตก เดินลากเท้า ในผู้ป่วยอัมพาต

ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ที่ฝึกจนเริ่มเดินได้ดีแล้ว แต่ยังมีข้อเท้าตก กระดกไม่ขึ้น ทำให้เดินได้ช้า ไม่เป็นทรงที่ปกติ วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก ปัญหาปลายเท้าตก หรือเรียกว่า ฟุ้ตดรอป (FOOT DROP) กันค่ะ
ปัญหาปลายเท้าตก เดินลากเท้า ในผู้ป่วยอัมพาต
ปัญหาปลายเท้าตก เดินเท้าลาก หรือ FOOT DROP คืออะไร?
ปัญหาปลายเท้าตก เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อที่ควบคุมการยกเท้าหรือเหยียดเท้าไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
สาเหตุของปัญหาปลายเท้าตก เกิดจากอะไร?
ปัญหาปลายเท้าตก อาจเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อส่วน
ปลายเอง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติระดับสมอง และไขสันหลังที่เป็นส่วนสั่งการ ทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการยกเท้าหรือเหยียดเท้านั้นไม่สามารถทำงานกระดกปลายเท้าขึ้น (Ankle dorsiflexion) ได้เต็มที่
ปัญหาปลายเท้าตกอันตรายหรือไม่?
ปัญหาปลายเท้าตก foot drop เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของเท้า
ผู้ป่วยที่มีปัญหา foot drop จะมีอาการเดินที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติและมักมีการเดินเอียง การสะบัดเท้า หรือการเดินลากเท้าที่ อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของเท้าได้
การใช้งานที่ไม่ถูกต้องของข้อต่อหลายๆส่วนในระยะเรื้อรังนั้น อาจทำให้เกิดการผิดรูปของร่างกายส่วนอื่น เพื่อชดเชยตามมา เช่น เมื่อใช้งานข้อเท้ากระดกขึ้นได้ไม่ดี ไม่สามารถควบคุมการเดินให้ทรงตัวได้ อาจพบความผิดปกติของข้อสะโพกหรือข้อเข่าตามมา เนื่องจากร่างกายจะพยายามปรับตัวให้ทรงตัว ชดเชยการเดินที่ผิดปกตินั้นๆ
วิธีแก้ปัญหาปัญหาปลายเท้าตก
การแก้ปัญหา foot drop จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
  • 1.
    หากเป็นเนื่องจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ
อาจมีการกระตุ้นปลายประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อฝึกฝนการใช้งานของกล้ามเนื้อเท้า ร่วมกับการทำกายภาพอย่างถูกวิธี หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น รองเท้าพิเศษที่มีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถยกเท้าหรือเหยียดข้อเท้าได้
การฝึกกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่เสียหาย ให้แข็งแรง ยืดหยุ่น และช่วยในการฝึกหัดเดินอีกครั้ง
พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์
2. หากเป็นสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง
จะต้องพิจารณาว่าสามารถเริ่มฝึกได้เมื่อไร ผู้ป่วยอาจเริ่มออกกำลังโดยมีผู้ช่วยก่อน จากนั้นหากมีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้น จึงเริ่มกระดกข้อเท้าเอง เป็นขั้นเป็นตอนไปค่ะ ข้อสำคัญคือในช่วงรอฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ควรใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้า ช่วยป้องกันการเกร็งจิกเท้าลงผิดรูปกันไว้ก่อน หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาปรึกษาหมอเรื่องข้อเท้าตก ที่เป็นมานานแล้วไม่ได้รับการแก้ไขป้องกันแต่ต้น ทำให้กล้ามเนื้อ/เอ็นที่บริเวณข้อเท้านั้นหดเกร็ง ผิดรูปไปแล้ว ก็นับว่าเป็นเคสที่จะยากต่อการแก้ไขค่ะ
กล้ามเนื้อข้อเท้าเกร็งผิดรูป
กล้ามเนื้อข้อเท้าเกร็งผิดรูป เสี่ยงต่อการเกิดแผลที่บริเวณเท้า
ภาวะเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า ทำเกิดการผิดรูปของฝ่าเท้า คือ ฝ่าเท้าในท่าพัก จะมีปลายเท้าจิกงุ้มลง การเกิดปลายเท้าจิกลงตลอดเวลาจะทำให้เดินได้ลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดแผลที่บริเวณเท้าได้
ภาวะเกร็งตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าวนี้ ควรได้รับการรักษาทั้ง การกายภาพ และการลดเกร็งด้วยการทานยาร่วมกันโดยเร็วค่ะ หากปล่อยไว้ จะเกิดการหดของเส้นเอ็น และเกิดเป็นภาวะบิดผิดรูปถาวรของเท้าได้ตามที่ได้กล่าวไปค่ะ
พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์
บทความน่าสนใจเพิ่มเติม
  • ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นตะคริวบ่อย?
  • การฝึกโดยใช้กระจก (MIRROR THERAPY)
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท
โฆษณา