23 พ.ค. เวลา 02:38 • ประวัติศาสตร์

ประวัติหลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก ธนบุรี

ท่านพระครูประศาสน์สิกขกิจ อินทโชติ (พริ้ง)
อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดบางปะกอก
ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรีเดิม)
เดิมชื่อ "พริ้ง เอี่ยมทศ" เกิดเมื่อวันอาทิตย์
ปีพศ.2413 บิดาชื่อเอี่ยม มารดาชื่อสุ่น
ได้อุปสมบทเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเล็กที่
วัดพลับ ธนบุรี เมื่ออายุครบจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดทองนพคุณ ธนบุรี โดยมิได้อยู่ใน
เพศฆราวาสเลย ต่อมาจึงได้ถูกนิมนต์มาประจำพรรษาอยู่ที่วัดบางปะกอกนี้ สองสามปีต่อมาจึงได้เป็นพระอธิการเจ้าอาวาส มีพระภิกษุประจำพรรษาอยู่เพียง
2 -3 องค์เท่านั้น
เนื่องจากวัดบางปะกอกนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่
ในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด กุฏิ โบสถ์และเสนาสนะ
อื่น ๆ ชำรุดทรุดโทรมมาก สันนิษฐานจากการ
ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถมาครั้งหนึ่ง เมื่อพุทธศักราช 2460 และจากการสอบถามท่านผู้มีอายุหลายต่อหลายท่านซึ่งอายุใกล้ร้อยปี และท่านเหล่านั้นบางท่านก็ได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ร้อยกว่าปี ท่านบอกว่าท่านเกิดมาเป็นเด็ก ๆ ก็เห็นวัดบางปะกอกนี้อยู่แล้ว
ท่านเคยถามบิดามารดาก็บอกอย่างนี้เช่นเดียวกัน ผิดแต่ว่า กุฏิ โบสถ์ ชำรุดทรุดโทรมมากไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ โบสถ์โบกปูนปิดทึกแบบมหาอุตเหมือนวัดเก่า ๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งก็คงมีมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรืออาจก่อนกรุงศรีอยุธยาก็ได้ อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีขึ้นไป
หลวงพ่อพริ้งซึ่งชาวบางประกอบและชาวตำบลใกล้เคียงเรียกท่านว่า "หลวงปู่" ได้ศึกษาเล่าเรียน
วิชาคาถาอาคมจนแก่กล้ามาตั้งแต่เป็นสามเณร
อยู่ที่วัดพลับ แต่ท่านจะศึกษาเล่าเรียนมาจากพระอาจารย์องค์ใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด มีท่านผู้มีอายุหลายท่านเล่าว่าท่านชอบธุดงค์จาริกในป่าต่าง ๆ หลายครั้งหลายหน แต่ก็มีบางท่านเล่าให้ฟังว่าท่านเคยเรียนร่วมอาจารย์เดียวกับ
หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า เลยไม่ได้ความแน่ชัดว่าท่านศึกษามาจากสำนักใด พระอาจารย์องค์ใด เข้าใจว่าท่านคงจะศึกษาเล่าเรียนชั้นแรกกับ
พระอาจารย์ที่วัดพลับตอนที่ท่านอุปสมบทเป็นสามเณรนั่นเอง ท่านผู้ใหญ่หลายท่านซึ่งเคยอุปสมบทและเคยใกล้ชิดกับหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านได้สนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาล่องหนหายตัวและคงกระพันชาตรีตั้งแต่เป็นสามเณร และสามารถทำได้โดยไม่ยาก
ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น
พระครูประศาสน์สิกขกิจ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2479 มีประชาชนเคารพนับถือทั่วไป
ตลอดจนบรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ในรั้วในวังต่างก็รู้จักท่านดี ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะข้าราชการทหารเรือในสมัยนั้น
ทุกวันเสาร์อาทิตย์ทหารเรือทั้งนายพลจะพากันมาขอของดี ลงกระหม่อมกันแน่นกุฏิ บรรดาท่านผู้มีชื่อเสียงที่ไปมาหาสู่ท่านอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เท่าที่พอจะรวบรวมได้ก็มี
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
พระบิดาแห่งกองทัพเรือ ตลอดจนพระโอรส
พระธิดาของท่าน เสด็จกรมหลวงชุมพรฯ
มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่อมาก ถึงกับนำ
พระโอรสมาอุปสมบทเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้
ถึง 3 องค์ด้วยกันคือ
พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิดพลอาภากร (ท่านน่วม) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ
หม่อมเจ้าสมรบรรเทิง (ท่านขรัว) และ
หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ (ท่านบ๊วย)
โดยที่เสด็จในกรมฯ และหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตแจรง พระธิดา ตลอดจนข้าราชบริพารได้มาถือศีลประจำอยู่ที่วัดนี้จนพระโอรสครบกำหนดลาสิกขา
และอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งในอดีตก็เคยเป็นศิษย์ของท่าน พระชายาของกรมหลวงลพบุรีราเมศร์และพระโอรสก็เคยไปมาหาสู่ท่านเป็นประจำ
โดยเฉพาะเสด็จกรมหลวงชุมพระเขตรอุดมศักดิ์ นั้นเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งเท่าเทียม
หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า และเข้าใจว่าคงจะได้ของดีจากหลวงพ่อไปมิใช่น้อย
เพราะเท่าที่ทราบกันทั่ว ๆ ไป เสด็จในกรมฯนั้น เมื่อทราบว่าพระอาจารย์องค์ไหนมีชื่อเสียงแล้วมักจะทรงไปลองดีอยู่เสมอ ๆ และถ้าไม่แน่จริงแล้วท่านก็ไม่เคยให้ความเลื่อมใสศรัทธา
หลวงพ่อพริ้งเป็นอาจารย์สักและหมอยา มีเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงมากทางคงกะพันและเมตตามหานิยมในสมัยนั้น หากใครไม่รู้จักหลวงพ่อพริ้งก็อาจจะเรียกได้ว่ายังไม่ได้เป็นนักเลงพระอย่างแท้จริง
ประชาชนทั่ว ๆ ไป ให้ความเคารพเลื่อมใสกันอย่างมาก นอกจากนั้นท่านยังดูฤกษ์ยามทายโชคชะตาได้แม่นยำ ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังขึ้นครั้งแรก เท่าที่ทราบกันดีคือ ลูกอมดำ ซึ่งมีชื่อเสียงในทางคงกระพันเมตตามหานิยมและอาราธนาทำน้ำมนต์ให้คนป่วยรับประทานเป็นที่รู้จักกันทั่ว ๆ ไปอย่างกว้างขวาง และสร้างลูกอมสีขาวปนเทา
พระสมเด็จผงใบลานสีเทา สีปูน แหวนปลอกมีดขึ้นอีกซึ่งก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน และในโอกาสต่อมาท่านก็ได้สร้างเหรียญรูปท่านขึ้นอีกใน
ปีพ.ศ. 2483 โดยคุณหลวงพัสดุฯ
เป็นผู้จัดทำถวายให้หลวงพ่อปลุกเสก
โดยเฉพาะลูกอมดำซึ่งเป็นเครื่องรางชนิดแรกที่ท่านสร้างขึ้น มีอภินิหารทางคงกะพันมาก ซึ่งมีผู้ประสบเหตุมาแล้วจำนวนมากบอกกับผู้เขียนว่าจะให้ราคา
กี่พัน กี่หมื่นก็ให้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้ลูกอมดำของท่านแล้ว คงไม่มีโอกาสให้สัมภาษณ์แก่คุณในขณะนี้แน่ ลูกอมดำนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือไปไกล
เหตุที่มีผู้นำติดตัวไปแล้วประสบภัยต่าง ๆ หลายต่อหลายสิบรายแต่ก็รอดชีวิตมาได้ เป็นเหตุให้มีผู้ต้องการมาก หาเช่าได้ยากจึงมีผู้รู้จักลูกอมดำมากกว่าเครื่องรางชนิดอื่น ๆ ที่หลวงพ่อสร้าง
ในตอนต้นสงครามอินโดจีน ท่านก็ได้สร้างเสื้อยันต์ผ้ายันต์และปลุกเสกเครื่องรางชนิดอื่น ๆ อีกหลายอย่างเพื่อมอบให้กับทหารที่ไปราชการสงครามและลูกศิษย์ในครั้งกระนั้น และในโอกาสที่ทางราชการทำพิธีจัดส่งทหารไปราชการสงคราม ท่านก็ได้รับนิมนต์จากทางราชการให้ไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่เลื่องลือในครั้งกระนั้น
ในอดีตหลวงพ่อพริ้งท่านได้เข้าร่วมพิธีนั่งปรก
ปลุกเสกตามวัดใหญ่ ๆ หลายครั้ง เช่น วัดราชบพิธ และวัดสุทัศน์เทพวราราม โดยเฉพาะที่วัดสุทัศน์ ฯ นี้ท่านได้เข้าพิธีทุกครั้งที่สมเด็จพระสังฆราชแพ
จัดทำในครั้งหลัง ๆ ก็เช่นกัน ท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น บรรดาพระชั้นผู้ใหญ่ที่ประจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์ ฯ รู้จักหลวงพ่อดีแทบทุกองค์ ผู้เขียนได้ไปขอสัมภาษณ์จากท่านเจ้าคุณหลายองค์ที่วัดสุทัศน์ ต่างก็เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า
หลวงพ่อพริ้งขณะนั้นโด่งดังมากกว่าพระอาจารย์ อื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นจริง ๆ รูปร่างลักษณะของท่านเป็นคนที่ท่วงทีสง่างามสมกับเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ นี่เป็นคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพระญาณโพธิ กับท่านเจ้าคุณพระศรีสัจจญาณมุนี และท่านเจ้าคุณพระวิบูลย์ธรรมาภรณ์
ศิษย์หลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก
ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนี้ หลายต่อหลายองค์ก็เคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ผู้เขียนของดที่จะกล่าวนามพระอาจารย์เหล่านั้น
เพราะยังมิได้ติดต่อขออนุญาตจากท่าน เนื่องจากผู้เขียนไม่มีเวลาและโอกาสที่จะไปติดต่อ จึงขอกล่าวเพียง 1-2 องค์
หลวงพ่อพระร่วง พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงองค์หนึ่งแห่งวัดยางสุทธาราม บางกอกน้อย ธนบุรี ในอดีต พระอาจารย์เฉลิม เกตุแก้ว ที่วัดยางสทธารามปัจจุบันนี้เล่าให้ฟังว่า อาจารย์ของท่านคือหลวงพ่อพระร่วง ได้เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อพริ้งเคยเป็นอาจารย์ของท่าน เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อพริ้งท่านก็มีแทบทุกชนิด และเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดคนหนึ่งทีเดียว แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้หลวงพ่อพระร่วงได้มรณภาพไปแล้ว ผู้เขียนจึงไม่ทราบรายละเอียดที่เกี่ยวกับหลวงพ่อพริ้งมากกว่านี้
พระอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่เคยมาศึกษากับหลวงพ่ออีกก็คือ "หลวงพ่อปาน ผู้มีชื่อเสียงแห่งวัดบางนมโค จังหวัดอยุธยา"
ในด้านการประกอบกิจการสาธารณกุศล
ท่านได้ร่วมกับชาวบางปะกอกและชาวพุทธ
ทำนุบำรุงวัด ซ่อมแซมกุฏิ พระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะอื่น ๆ ในวัดจนอยู่ในสภาพที่สวยงาม และท่านยังได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่งเมื่อ พศ.2484 โดยมีทุนส่วนตัวของท่านเองไม่ถึง
100 บาท แต่ด้วยบุญบารมีของท่านพระวิหารที่ท่านสร้างขึ้นจึงสำเร็จเรียบร้อยในปีนั้นด้วยความร่วมมือของลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพเลื่อมใสในตัวของ
หลวงพ่อ
ในการด้านการศึกษา ท่านเป็นผู้อุปการะและกรรมการศึกษาโรงเรียนวัดบางปะกอก (ประถม)
มาตั้งแต่แรกเริ่มสมัยที่นักเรียนยังต้องอาศัย
ศาลาวัดเรียนจนกระทั่งเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ในปัจจุบันนี้โรงเรียนแห่งนี้เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นถึง
6 อาคาร เนื่องจากได้รับความสนับสนุนของรัฐบาล แต่ก็ด้วยความดำริของท่านแต่แรกเริ่ม
และต่อมาท่านก็ได้ดำริที่จะสร้างโรงเรียนมัธยมแบบผสมขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาเล่าเรียนโดยไม่ต้องไปเล่าเรียนไกล ๆ บ้าน แต่ความดำริของท่านยังไม่สำเร็จท่านก็จากชาวบางปะกอกและลูกศิษย์ลูกหาไปเสียก่อน ต่อมานายล้อม ฟักอุดม คหบดีชาวบางปะกอกจึงได้ร่วมกับนายนคร มังคะลี นายถนอม เอี่ยมทศ และประชาชนจัดซื้อที่ดินนำถวาย
วัดบางปะกอก
และขออนุญาตตั้งโรงเรียนมัธยมวัดบางปะกอกขึ้น เมื่อพศ.2492 นับว่าหลวงพ่อได้ประกอบคุณงามความดีไว้ให้แก่ทางราชการ พระบวรพุทธศาสนาและชาวบางปะกอก ยากที่ชาวบางปะกอกจะลืมเลือนไปจากความทรงจำ
หลวงปู่พริ้งมรณะภาพเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2490
สิริอายุ 78 ปี พรรษาที่ 56
เคดิตข้อมูล(คัดย่อ)
คุณ ประยุทธ ศรีสวัสดิ์ ผู้เขียนบทความ
ทีมงานสารานุกรมพระ
วิกิพีเดีย พระครูประศาสน์สิกขกิจ(พริ้ง อินทโชติ)
โฆษณา