23 พ.ค. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่องกลยุทธ์ “เศรษฐกิจคอนเสิร์ต” กวาดรายได้เข้าเศรษฐกิจ

“Our agencies negotiated an arrangement with her [Taylor Swift] to come to Singapore and perform, and to make Singapore her only stop in Southeast Asia. And there was a certain incentive provided to her from our Tourism Development Fund…A deal was reached. And so it has turned out to be a very successful arrangement.”
1
Lee Hsien Loong, นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
Concert economics คืออะไร ทำไมเป็นที่พูดถึง?
เมื่อการระบาดของ COVID-19 คลายความกังวลลง กระแสการจัดงานคอนเสิร์ตก็กลับมาร้อนแรงอีกครั้งหลังห่างหายไปหลายปี ความต้องการไปดูคอนเสิร์ตพุ่งสูงขึ้นจากแฟนคลับที่ไม่ได้ชมศิลปินคนโปรดมานาน ประกอบกับเทรนด์ผู้บริโภคที่อยากออกมาใช้ชีวิตจากที่อัดอั้นมานานในช่วงล็อกดาวน์ ศิลปินชื่อดังระดับ A-list หลายรายเดินหน้าจัดทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Taylor Swift, Beyoncé, Coldplay, Ed Sheeran และ Harry Styles กวาดรายได้รวมกันหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่น่าสังเกตคือการใช้จ่ายของผู้ชมคอนเสิร์ตเสมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเลย เห็นได้จากการเปิดขายบัตรคอนเสิร์ตที่หมดภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือภายในไม่กี่นาทีเท่านั้นสำหรับบางศิลปิน
1
นอกจากคอนเสิร์ตระดับโลกเช่นนี้จะสร้างความทรงจำดี ๆ ให้แฟนคลับ ยังสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจอีกด้วย ยกตัวอย่าง ในไตรมาส 3 ปี 2023 ในสหรัฐฯ ที่มีการจัดงานคอนเสิร์ต “The Eras Tour” ของ Taylor Swift และ “Renaissance World Tour” ของ Beyoncé ซึ่งบริษัทจัดทำผลสำรวจออนไลน์ QuestionPro ได้ทำการวิเคราะห์ว่า ผู้ชมคอนเสิร์ต “The Eras Tour” ใช้จ่ายเฉลี่ย 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อรอบและสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดการจัดคอนเสิร์ต
ขณะที่ผู้ชมคอนเสิร์ต “Renaissance World Tour” ใช้จ่ายเฉลี่ยมากถึง 1,870 ดอลลาร์สหรัฐต่อรอบ สร้างรายได้แก่เศรษฐกิจถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ยังมีงานอิเวนต์อื่นที่กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค อย่างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “Barbie” และ “Oppenheimer” ซึ่งทำรายได้รวมเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐฯ
1
ซึ่ง Bloomberg Economics วิเคราะห์ว่าอิเวนต์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะทำรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกระตุ้น GDP ในไตรมาส 3 ได้ 0.1-0.2% ซึ่งตัวเลข GDP สหรัฐฯ จริงที่ออกมา ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริโภคที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์จาก DBS Bank ในสิงคโปร์ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 1 ปี 2024 เพิ่มขึ้น 0.2% หลังเทคผลบวกจากการจัดคอนเสิร์ต Taylor Swift มากถึง 6 รอบในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวมให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
รัฐบาลหลายประเทศเห็นถึงอานิสงส์ของการจัดคอนเสิร์ตระดับโลกที่มีต่อเศรษฐกิจ จึงออกกลยุทธ์ “Concert economics” เพื่อดึงดูดการจัดงานคอนเสิร์ต รวมถึงภาพยนตร์และอิเวนต์ระดับโลกต่าง ๆ ให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 เช่น สิงคโปร์ที่เจรจากับ Taylor Swift ให้จัดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวใน ASEAN โดยให้เงินอุดหนุนการจัดงาน
ทั้งนี้ Concert economics ไม่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนแค่ภาคการท่องเที่ยวและบริการเท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายด้าน จึงน่าศึกษาว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเท่าไหร่ บทความนี้จะขอนำเสนอช่องทางที่ Concert economics สามารถสร้างรายได้แก่เศรษฐกิจและสิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยจะยกตัวอย่าง “The Eras Tour” ของ Taylor Swift ซึ่งผู้เขียนบทความได้มีโอกาสไปชมในเดือนมีนาคม
การจัดคอนเสิร์ตระดับโลกกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านช่องทางไหนบ้าง?
1. รายได้โดยตรงจากการจัดคอนเสิร์ต
การจัดคอนเสิร์ตมีค่าใช้จ่ายและการจ้างงานที่เกิดขึ้นเพื่อการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าสถานที่ ค่าขนส่งอุปกรณ์ ค่าจ้างพนักงานและเจ้าหน้าที่เทคนิค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ค่าโฆษณาและการโปรโมตคอนเสิร์ต และการขายสินค้าของที่ระลึกศิลปิน รวมถึงบางคอนเสิร์ตที่มีการจัดทำภาพยนตร์คอนเสิร์ตตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ตยังเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐผ่านการเก็บภาษีที่สูงขึ้นอีกด้วย
2. ภาคการท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการ
Concert economics สามารถดึงดูดผู้ชมจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะกระตุ้นอุปสงค์ในภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน Singapore Airlines และ Scoot ที่เผยข้อมูลแก่สำนักข่าว CNBC ว่าอุปสงค์การเดินทางสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะจากประเทศใน ASEAN
ขณะที่สายการบิน Jetstar Asia เผยว่าอุปสงค์การเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศใน ASEAN และสิงคโปร์ นอกจากการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว การขนส่งภายในประเทศก็ได้อานิสงส์จากการจัดคอนเสิร์ตเช่นกัน ผ่านจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและแฟชั่น ก็จะได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัท CoStar ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เผยว่า โรงแรมในสิงคโปร์มีอัตราเฉลี่ยรายวัน (Average daily rate) และรายได้ต่อห้องที่เปิดให้จองได้ (Revenue per available room) สูงสุดในเดือนมีนาคม 2024 เทียบกับเดือนมีนาคมของปีก่อน ๆ ที่มีการเก็บข้อมูล
1
3. บริการทางการเงิน
คอนเสิร์ต “The Eras Tour” ที่สิงคโปร์มีธนาคาร UOB เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้ถือบัตร UOB ในบางประเทศจะมีสิทธิซื้อบัตรในรอบ Presale ที่เปิดพิเศษ หลังมีการประกาศดังกล่าว จำนวนการยื่นสมัครบัตรเครดิต UOB ในประเทศที่ได้สิทธิพุ่งขึ้นถึง 45% ในสัปดาห์นั้นเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าและในช่วงที่จัดคอนเสิร์ต การใช้จ่ายผ่านบัตร UOB พุ่งขึ้นถึง 35% เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเฉพาะในหมวดเสื้อผ้า การเดินทาง และบันเทิง
4. ความร่วมมือระหว่างแบรนด์
Marina Bay Sands รีสอร์ตชื่อดังของสิงคโปร์ที่เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการอีกราย ได้จัดอิเวนต์โปรโมต “The Eras Tour” ซึ่งดึงดูดผู้ชมคอนเสิร์ตและนักท่องเที่ยวทั่วไปได้หลายราย ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานแสดงน้ำพุและแสงไฟประกอบกับเพลงของ Taylor Swift และการตกแต่งทางเดินตาม Theme แต่ละอัลบั้มเพื่อเป็นจุดถ่ายรูป
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือระหว่างธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย เช่น ร้านแฟชั่นที่ขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับเพื่องานคอนเสิร์ต ร้านอาหารที่ขายอาหารตาม Theme คอนเสิร์ต และร้านถ่ายรูปที่มีฉากตกแต่งตามสีของแต่ละอัลบั้ม ขณะเดียวกัน แฟนคลับหลายกลุ่มมีการจัด Fan event และงานปาร์ตี้ขึ้นมาเองด้วย
5. ภาพลักษณ์ประเทศ
การสร้างภาพลักษณ์ประเทศที่ดีต่อสายตานักท่องเที่ยวโลกเป็นหนึ่งประโยชน์ที่จะได้จาก Concert economics และมีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาวแม้ว่าคอนเสิร์ตจะจบลงไปแล้ว โดยหากการจัดคอนเสิร์ตเป็นไปอย่างราบรื่น สะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์ที่ดี ก็จะเป็นที่น่าสนใจสำหรับศิลปินคนอื่นในอนาคตเวลาเลือกประเทศที่จะจัดคอนเสิร์ต รวมถึงนักท่องเที่ยวที่อาจอยากกลับมาเที่ยวอีก
นอกจากนี้ หากศิลปินได้ไปท่องเที่ยวในประเทศหรือชิมอาหารและถ่ายภาพลงสื่อโซเชียล ก็จะเป็นการสร้าง Soft power ให้ประเทศนั้น ๆ ได้อีกด้วย
รัฐบาลควรคำนึงถึงประเด็นอะไรบ้างเพื่อให้ Concert economics ประสบความสำเร็จ?
1. การเฝ้าระวังเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
อุปสงค์ต่อที่พัก ร้านอาหาร และการค้าปลีกอื่น ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะกระทบผู้บริโภคทั่วไป แม้ว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากคอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะเป็นการปรับขึ้นเพียงชั่วคราว แต่อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาที่จะเกิดขึ้นยาวนานกว่านั้นด้วย โดยเฉพาะในสินค้าและบริการที่มีความจำเป็น ซึ่งอุปสงค์มีความยืดหยุ่นน้อย รัฐบาลจึงอาจพิจารณาใช้มาตรการควบคุมราคาชั่วคราวในบางสินค้า
1
2. การป้องกันการโก่งราคาบัตรและการโกงบัตร
งานอิเวนต์ที่มีความต้องการสูงและแฟนคลับยอมจ่ายแม้ราคาจะสูง จะเป็นโอกาสที่มิจฉาชีพฉ้อโกงผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรปลอม การขายบัตรซ้ำ และหนทางอื่น ๆ นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายในบางประเทศ แต่มีผู้ซื้อหลายรายที่มีจุดมุ่งหมายซื้อบัตรเพื่อขายต่อในราคาที่สูงกว่าหลายเท่า รัฐบาลจึงอาจพิจารณาออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมนี้เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่น ๆ ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น ออสเตรเลีย ที่มีการปรับผู้ขายต่อที่ตั้งราคาขายสูงกว่า 10% ของราคาหน้าบัตร สำหรับอิเวนต์พิเศษที่ทางการกำหนด
3. การกระจายรายได้ให้ทั่วถึง
การใช้นโยบาย Concert economics อาจมีต้นทุนต่อรัฐบาลประเทศผู้จัด เช่น นโยบายให้เงินอุดหนุนศิลปินหรือลดภาษีเพื่อดึงดูดงานแสดงต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างต้น แต่การกระจายรายได้อาจไม่ทั่วถึงทั้งเศรษฐกิจ และเป็นไปได้ว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกกับผู้บริโภคและธุรกิจที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว
นอกจากนี้ อาจเป็นประเด็นด้านความร่วมมือและความสัมพันธ์ในภูมิภาคเนื่องจากการใช้ Concert economics อาจมีเงื่อนไขผูกขาดกับศิลปินไม่ให้แสดงในประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศอื่น ๆ อาจมองว่าไม่เหมาะสมได้ รัฐบาลจึงอาจพิจารณาสนับสนุนให้ธุรกิจ SME เป็นพันธมิตรการจัดงาน รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อกระจายรายได้ และทำความตกลงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อร่วมมือกันพัฒนา ASEAN ให้เป็นฮับของคอนเสิร์ตระดับโลกที่ไร้รอยต่อระหว่างพรมแดน
4. การดึงดูดศิลปินที่มีความหลากหลาย
การจัด Concert economics ให้สำเร็จจำเป็นต้องสามารถดึงดูดผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัย จึงควรจะดึงดูดศิลปินที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แนวเพลง สัญชาติ เพศ หรือขนาดของคอนเสิร์ต และยังเป็นโอกาสดีสำหรับการสนับสนุนศิลปินไทยอีกด้วย ผ่านการสนับสนุนคอนเสิร์ตของศิลปินไทยเองหรือการให้ศิลปินไทยเป็น Opening act ของคอนเสิร์ตระดับโลก
อนาคต Concert economics ในไทยจะเป็นอย่างไร?
รัฐบาลไทยมีนโยบายตั้งประเทศไทยเป็นฮับของงานอิเวนต์ในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่ความสำเร็จของสิงคโปร์ในการทำข้อตกลงกับศิลปิน เร่งให้รัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Concert economics เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2024 โดยจะดึงดูดคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และอิเวนต์ผ่านการให้สิทธิพิเศษทางภาษี การดำเนินความสะดวกด้านวีซ่า และอื่น ๆ
ซึ่งรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงร่างระเบียบข้อบังคับ สำหรับปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่สามารถทำได้เลย เช่น การอนุญาตขายแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาในเวลาจัดงาน การออกวีซ่ากลุ่ม และการเว้นภาษีนำเข้าส่งออกอุปกรณ์เพื่อการจัดงาน
ในปีนี้ไทยจะมีการจัดงานเทศกาลดนตรี Summer Sonic ซึ่งเป็นการจัดงานนอกประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกของ Summer Sonic โดยเจรจาสำเร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับเทศกาลดนตรีอื่น ๆ เพื่อจะจัดงานในไทยในปีต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สนใจ Concert economics ไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
รัฐบาลจึงควรมีวิสัยทัศน์จับเทรนด์ความนิยมอิเวนต์ระดับโลกและวางแผนเจรจาล่วงหน้าอย่างรวดเร็วเนื่องจากอาจใช้เวลานานหลายปีจนกว่าจะเจรจาสำเร็จ ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง สถานที่ ความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้จัดและผู้ชมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นเพื่อกระจายรายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างรอยยิ้มให้แก่แฟนคลับในที่สุด
บทวิเคราะห์: Economic Intelligence Center (EIC)
โฆษณา