23 พ.ค. เวลา 05:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Fed Minutes ล่าสุดยังสะท้อนความกังวลต่อเงินเฟ้อที่ค้างในระดับสูง

และยังไม่ได้ปิดประตูในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อกลับมาเร่งอีกครั้ง
- ในการเปิดเผยบันทึกการประชุมนโยบายการเงิน (Fed minutes) วันที่ 30 เม.ย.- 1 พ.ค. ในคืนวันพุธที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟดระบุว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านา เงินเฟ้อไม่ได้มีพัฒนาการในการกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยยังเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาเงินเฟ้อด้านบริการและสินค้า โดยเจ้าหน้าที่เฟด 3-4 ท่านเห็นว่าสาเหตุของการปรับขึ้นเงินเฟ้อมาจากปัจจัยฤดูกาล (Seasonal pattern) ขณะที่เจ้าหน้าที่บางท่านมองว่าการปรับขึ้นของเงินเฟ้อเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง (Broad based)
- สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน เจ้าหน้าทั้งหมดยืนยันว่ายังมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการดึงเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ 2% โดยเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านกังวลต่อปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นของราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะที่กรรมการบางท่านแสดงถึงความไม่แน่ในว่าระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงินในปัจจุบันเพียงพอในการจำกัดอุปสงค์และเงินเฟ้อ
โดยคณะกรรมการหลายท่านสังเกตว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง (ในสภ่าวะปัจจุบัน) อาจมีผลที่น้อยลงเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวอาจจะต้องสูงกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยคณะกรรมการหลายท่านมองว่า เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวนานขึ้น (Maintain the current restrictive policy stance for longer)
จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ดี คณะกรรมบางส่วนส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น ( A willingness to tighten policy further) หากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างมีนัยสำคัญ (Should risks to inflation materialize)
- ทั้งนี้ ตลาดหุ้นตอบรับในทิศทางลบจากการเปิดเผย Fed Minutes โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีเพิ่มขึ้น 0.01% สู่ระดับ 3.43% เทียบกับระดับ 3.42% ขณะที่ Dollar index ขยับขึ้นสู่ระดับ 104.9 จาก 104.6 ส่วน CME Fedwatch บ่งชี้โอกาส 51% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม ก.ย. 24 เทียบกับ 65% ในวันก่อนหน้า สำหรับดัชนี Dow Jones S&P 500 และ Nasdaq ปรับลง -0.51%, -0.27% และ -0.18%
🎯 เรามองว่าด้วยการเปิดเผย Fed minutes ดังกล่าวยังคงบ่งชี้โทนของเฟดที่ยังคงมีความระมัดระวังต่อการพิจารณาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายท่านยังไม่ค่อยมั่นใจว่าระดับการเข้มงวดของนโยบายระดับใดจะเพียงพอในการดึงเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ข้อมูลเงินเฟ้อในช่วงก่อนการประชุมวันที่ 30 เม.ย.- 1 พ.ค. นั้นอยู่ในระดับสูง ขณะที่ข้อมูลตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกล่าสุดที่ออกมาอ่อนตัวลง ทำให้โอกาสที่เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังน่าจะจำกัด
แต่ในภาพรวม การส่งสัญญาณของเฟดยังตอกย้ำว่าเฟดยังไม่น่าจะเข้าใกล้การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ และความเสี่ยงที่เฟดอาจจะคงอัตราดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่ตลาดมองไว้ยังคงมีอยู่ ขณะที่ต้องติดตาม พัฒนาการเงินเฟ้อและข้อมูลตลาดแรงงานในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ต้องติดตามการเปิดเผย Dot-plot ใหม่ของเฟดในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. นี้
โฆษณา