23 พ.ค. เวลา 07:00 • กีฬา

สถิติทีมชาติไทยสัปดาห์ที่ 1 ลุยศึก VNL2024 เป็นอย่างไรบ้าง?

  • ตอนที่ 1 ภาพรวมคู่แข่งเหนือกว่า
  • ตอนที่ 2 ประสิทธิภาพการบุกน้อย
  • ตอนที่ 3 บอลแรกดีแต่ประสิทธิภาพการบุกต่ำ
  • ตอนที่ 4 การบล็อกเสียในสัดส่วนมากกว่าคู่แข่ง
  • ตอนที่ 5 การขุดส่งวิภาวีติดท็อป 3
  • ตอนที่ 6 การเสิร์ฟตัดเกมรุกคู่แข่งหากแต่ผิดพลาดมาก
หมายเหตุ:
- สถิตินี้รวบรวมเองจากเว็บไซต์ volleyballworld.com ขออภัยหากเกิดความผิดพลาด
  • ตอนที่ 1 ภาพรวมคู่แข่งเหนือกว่า
แมทช์ที่ 1 เจอกับสหรัฐ ไทยพ่ายสหรัฐ 1-3 เซต 22-25, 25-19, 12-25 และ 18-25 ผู้ทำคะแนนสูงสุดให้ไทยคือพิมพิชญา ก๊กรัมย์ ทำแต้มได้ 14 แต้ม เป็นแต้มจากการบุก 13 แต้ม และเสิร์ฟเอส 1 แต้ม
แมทช์ที่ 2 พ่ายเซอร์เบีย 0-3 เซต 13-25, 27-29 และ 19-25 โดยแมทช์นี้ไทยมีประสิทธิภาพ (Efficiency ซึ่งลบคะแนนความผิดพลาดแล้ว) ต่ำที่สุด คือเพียงราว 8% เท่านั้น และยังเสียแต้มบล็อกมากสุดใน 4 แมทช์ที่ลงแข่งขันถึง 16 แต้ม
แมทช์ที่ 3 พ่ายให้กับแคนาดา 1-3 เซต 21-25, 13-25, 25-20 และ 17-25
แมทชที่ 4 พ่ายให้กับเกาหลีใต้ 1-3 เซต 19-25, 25-23, 16-25 และ18-25 ซึ่งในแมทช์นี้ไทยสามารถรับบอลแรกได้ดีกว่าเกาหลีใต้ แต่มีประสิทธิภาพการบุกที่ต่ำกว่า
สถิติไทยเทียบกับคู่แข่ง 4 นัดแรก
  • ตอนที่ 2 ประสิทธิภาพการบุกน้อย
ประสิทธิภาพการบุกเทียบกับคู่แข่ง
ผ่านไป 4 แมทช์ ประสิทธิภาพ (% Efficiency) การโจมตีของไทยทั้งทีมอยู่ที่ 10.91% เท่านั้น โดยน้อยกว่าคู่แข่งในทุกนัดที่ลงแข่ง น้อยที่สุดคือ นัดเจอกับเซอร์เบีย
นัดเจอกับเซอร์เบีย ไทยมีประสิทธิภาพการบุกที่ 8.41% บุกได้ 33 แต้ม เสีย 24 แต้ม จากการบุกทั้งหมด 107 ครั้ง ซึ่งในจำนวนแต้มที่เสียเป็นการโดนคิลบล็อกไปถึง 16 แต้ม เทียบกับเซอร์เบียที่บุกได้แต้ม 42 แต้ม เสียแค่ 3 แต้ม จากการบุก 94 ครั้ง และเป็นเกมที่ทีมชาติไทยไม่ได้แต้มจากการบล็อกเลย
สผู้เล่นหัวเสาที่มีประสิทธิภาพการบุกมากที่สุดของไทย
  • 1.
    ชัชชุอร โมกศรี ที่ประสิทธิภาพ 22.31% ทำคะแนนรวม 50 แต้ม มากที่สุดในทีม คิดเป็น 26.4% ของแต้มการโจมตีทั้งหมด โดยหากไม่นับลูกเสียแล้ว ชัชชุอรมีเปอร์เซ็นต์การบุกสำเร็จ (%Successful) ที่ 38.46% อยู่เป็นอันดับ 10 ของผู้เล่นใน VNL2024 ทั้งหมด
  • 2.
    ธนัชชา สุขสดประสิทธิภาพการบุก 21.67% ทำไปได้ 26 คะแนน เสีย 13 ลูกจากการโจมตีทั้งหมด 60 ครั้ง
น่าเสียดายที่ธนัชชามีประสิทธิภาพการบุกสูงสุดถึง 42.86% ในนัดที่เจอกับสหรัฐ แต่นัดที่เจอกับเกาหลีใต้กลับผิดฟอร์มและประสิทธิภาพการบุกติดลบ 15.38% หรือทำเสียมากกว่าได้แต้มนั่นเอง
ผู้เล่นหัวเสาอีกคนหนึ่งที่คอยทำแต้มให้กับทีมคือ
3. วิภาวี ศรีทอง ทำคะแนนให้กับทีมทั้งหมด 39 แต้ม ประสิทธิภาพการบุก 19.01% โดยวิภาวีนับว่าเป็นผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพการรับเสิร์ฟสูงที่สุดในทีมชาติไทย 4 นัดแรก
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการโจมตีด้วยตัวกลางของทีมชาติไทยนั้นน้อยเมื่อเทียบกับชาติอื่น เช่นหยวนซิวเย่ ของทีมชาติจีน ที่เป็น MB ที่ทำคะแนนจากการโจมตีสูงที่สุดใน VNL2024 ทำไป 32 แต้ม ที่ประสิทธิภาพ 47.76% เทียบกับบอลกลางไทยที่มีจรัสพรทำประสิทธิภาพสูงสุดที่ 30.77% โดยทำไป 7 แต้ม ส่วนบล็อกกลางที่ทำคะแนนจากการโจมตีมากที่สุดคือหัตถยาที่ 17 แต้ม ประสิทธิภาพ 28.95%
แต้มที่ทำได้เทียบกับ %Efficiency
  • ตอนที่ 3 บอลแรกดีแต่ประสิทธิภาพการบุกต่ำ
ชัชชุอรรับบอลแรกมากสุด 117 ลูก คิดเป็น 36% ของทั้งทีม ตามมาด้วยวิภาวีที่รับบอลแรก 103 ลูก ส่วนปิยะนุชรับไป 59 ลูก หรือ 18.5% เท่านั้น โดยในสามคนนี้ คนที่รับบอลแรกดีสุดคือวิภาวี ประสิทธิภาพ 22.33% ตามมาด้วยปิยะนุชที่ 18.64% และชัชชุอรที่ 16.24%
สำหรับผู้เล่นที่บอลแรกดีสุดตอนนี้เมื่อคิดจากจำนวนลูกเสิร์ฟที่รับได้ยอดเยี่ยม คือลีนา อัลซไมเออร์ของเยอรมนี โดยมีเปอร์เซ็นต์รับเสิร์ฟสำเร็จที่ 26.27% และรับบอลแรกมากถึง 118 ลูก ตามมาด้วยลีนา สตีกรอทของเยอรมนี รับเสิร์ฟสำเร็จ 28.18% โดยรับไป 110 ลูก นับว่าเยอรมนีเป็นทีมที่รับบอลแรกดีที่เดียว ส่วนวิภาวีนั้นอยู่ในอันดับ 2 ของการรับบอลแรกดีที่สุดใน VNL ร่วมกับมาทีนี ลูคาซิค ของโปแลนด์ ขณะที่ชัชชุอรอยู่อันดับ 4
แมทช์ที่น่าสนใจอยู่ที่แมทช์ไทยเจอกับเกาหลีใต้ โดยไทยรับเสิร์ฟสำเร็จ 27 ลูก เสีย 2 ลูก จากทั้งหมด 90 ลูก ประสิทธิภาพ 27.78% มากกว่าเกาหลีใต้ที่รับเข้าเซ็ตเตอร์โซน 12 ลูก เสีย 2 ลูกเท่ากัน จากการรับเสิร์ฟทั้งหมด 72 ลูก คิดเป็นประสิทธิภาพแค่ 13.89% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในแมทช์นั้นที่แพ้ไทยมีประสิทธิภาพการโจมตีต่ำ 16.76% น้อยกว่าเกาหลีใต้ที่ประสิทธิภาพการโจมตี 25.57% ซึ่งแมทช์นั้นไทยเสียเองถึง 25 ลูก และยังบล็อกเสียไปมากถึง 30 ลูก มากที่สุดใน 4 แมทช์ที่แข่งขันมา
  • ตอนที่ 4 การบล็อกเสียในสัดส่วนมากกว่าคู่แข่ง
ประสิทธิภาพการบล็อกของไทย ยิ่งติดลบมาก แสดงว่ายิ่งเสียมาก
การบล็อกของไทยใน 4 แมทช์แรกที่ผ่านมา ทำได้ทั้งหมดรวมกัน 10 แต้ม ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นได้ที่ทำคะแนนบล็อกมากที่สุดในทัวร์นาเมนต์อย่างเฮน่า เคอร์ทากิก ที่ทำแต้มจากการบล็อกไปได้มากถึง 19 แต้ม หรือ 4.75 ลูกต่อแมทช์ ในขณะที่ผู้เล่นไทยทำได้สูงสุด 0.5 ลูกต่อแมทช์เท่านั้น
ในทุกแมทช์ที่ไทยลงแข่งขัน การบล็อกของไทยมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคู่แข่งทั้งหมด โดยแย่สุดในนัดที่เจอกับสหรัฐ ได้ 1 แต้มจากทั้งหมด 34 ลูก เสีย 15 ลูก รีบาวนด์ได้ 18 ลูก เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ทำแต้มไปได้มากถึง 12 แต้ม รีบาวนด์ได้ 23 ลูก จากความพยายามบล็อกทั้งหมด 55 ลูก
การบล็อกเป็นต้นน้ำของเกมรับไทย หากการบล็อกไม่สามารถปิดมุมหมดได้ ย่อมทำให้โซนรับด้านหลังทำงานได้ยากลำบาก หากเทียบกับผู้เล่นที่มีส่วนสูงใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว นับว่ายังทำงานได้ไม่ดีพอ โดยยามาดะ นิชิกะ MB ส่วนสูง 184 ซม. ของญี่ปุ่นมีเปอร์เซ็นต์การบล็อกสำเร็จ 20.69% ที่เฉลี่ย 1.5 ลูกต่อแมทช์ ส่วนจองจียุน ตัวตบหัวเสาจากเกาหลีใต้ ส่วนสูง 180 ซม. มีเปอร์เซ็นต์การบล็อกสำเร็จสูงถึง 42.86% ที่เฉลี่ย 1.5 ลูกต่อแมทช์
ผู้เล่นที่รีบาวนด์ได้มากที่สุดคือวิภาวีที่ 27 ลูก และขึ้นบล็อกมากที่สุดที่ 41 ครั้ง ประสิทธิภาพ -24.39% เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ 8.7% พิมพิชญารีบาวนด์ได้ที่ 26 ลูก ประสิทธิภาพ -23.53% ตามมาด้วยชัชชุอรที่ 24 ลูก ประสิทธิภาพ -29.41% ส่วนทัดดาวอยู่ในตำแหน่งตัวบล็อกอยู่ในอันดับ 4 ของทีม รีบาวนด์ได้ 22 ลูก ประสิทธิภาพ -13.33% เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ 5.56%
ส่วนคนที่รีบาวนด์ได้มากที่สุดในบรรดาผู้เล่น VNL2024 คือเอมีลี แมกลีโอ ของแคนาดา ที่รีบาวด์ได้ 36 ลูก จากการขึ้นบล็อก 65 ครั้ง เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ 16.92% และประสิทธิภาพการบล็อก 6.25% ในนัดที่เจอกับไทย
จากสถิตินี้จะเห็นได้ว่าทีมชาติไทยไม่ได้รีบาวน์บล็อกได้ย่ำแย่มาก คือยังสามารถรีบาวนด์ได้มากกว่าครึ่งที่กระโดดบล็อก แม้จะมีลูกเสียจำนวนมาก แต่เมื่อประสิทธิภาพการบุกน้อย นั่นแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการสวนเป็นแต้มได้หลังรีบาวนด์บล็อก และยังเสียแต้มจากการขึ้นบล็อกผิดพลาด (คู่แข่งตีทัชออก บล็อกออก หรือบล็อกแล้วลงในแดนตัวเอง) เป็นจำนวนมากกว่าคู่แข่งในนัดนั้นๆ
  • ตอนที่ 5 การขุดส่งวิภาวีติดท็อป 3
การขุดที่ทำได้ (ลูก)
ผู้เล่นที่สามารถขุดได้มากที่สุดของทีมชาติไทยคือวิภาวี ที่ 51 ลูก เสีย 5 คิดเป็นประสิทธิภาพ 82.14% โดยวิภาวียังอยู่ที่อันดับ 3 ของผู้เล่นทั้งหมดใน VNL2024 อีกด้วย
รองลงมาคือตัวรับอิสระอย่างสุพัตรา ไพโรจน์ ที่ขุดลูกได้ทั้งหมด 34 ครั้ง เสีย 4 ประสิทธิภาพ 78.95% ตามมาด้วยธนัชชาที่ 8 ลูก เสีย 1 ประสิทธิภาพ 77.78%
หากไม่นับธนัชชาที่ได้สัมผัสบอลขุดน้อยเมื่อเทียบกับผู้เล่นที่ติดอันดับ 1-2 ของทีมชาติไทย ผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพการขุดรองลงมาจากวิภาวีและสุพัตราคือชัชชุอร ขุดได้ 31 ลูก เสีย 8 จากทั้งหมด 39 ลูก คิดเป็นประสิทธิภาพ 58.97% แล้วจึงตามมาด้วยปิยะนุช แป้นน้อย ตัวรับอิสระที่ประสิทธิภาพการขุด 55%
แม้จะมีผู้เล่นติดธงทีมชาติอยู่ในอันดับท็อป 3 ของผู้เล่นที่ขุดได้มากที่สุดใน VNL2024 แต่ประสิทธิภาพการขุดของผู้เล่นทีมชาติไทยนั้นน้อยกว่าทีมคู่แข่งในทั้ง 4 แมทช์ที่ลงเล่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการบุกและการบล็อกที่น้อยกว่าคู่แข่งในทุกนัดที่ลงแข่งขันสัปดาห์แรก
  • ตอนที่ 6 การเสิร์ฟตัดเกมรุกคู่แข่งหากแต่ผิดพลาดมาก
เนื่องจากทุกทีมที่แข่งขันกับไทยพยายามโจมตีด้วยบอลเร็ว การเสิร์ฟเพื่อตัดเกมรุกของคู่แข่งจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยทีมชาติไทยทำคะแนนจากการเสิร์ฟได้ 14 แต้ม เสีย 34 แต้ม จากการเสิร์ฟ 295 ครั้ง คิดเป็นประสิทธิภาพ -12.58%
ลูกได้แต้มและเสียแต้มจากการเสิร์ฟของทีมไทย
อย่างไรก็ตามสถิติด้านบนไม่ได้แสดงให้เห็นถึง "การเสิร์ฟตัดเกมรุก" เพราะคู่แข่งอาจรับได้ แต่บุกไม่ได้ และโยนบอลกลับมาให้ทางไทยเล่น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ปรากฏในสถิติ
คนที่เสิร์ฟได้แต้มมากที่สุดในทีมชาติไทยคือชัชชุอร โดยทำ "เอส" ใส่คู่แข่งไป 7 แต้ม ติดอันดับ 3 ผู้เล่นเสิร์ฟยอดเยี่ยมของทัวร์นี้ แต่ชัชชุอรเสิร์ฟเสียไปมากถึง 12 แต้ม มากที่สุดในทีม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการเสิร์ฟติดลบ -8.77% ซึ่งผู้เล่นของทีมชาติไทยมีประสิทธิภาพการเสิร์ฟติดลบเกือบทุกคน
คนที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพการเสิร์ฟติดลบคือ ดลพร สินโพธิ์ ที่เสิร์ฟเอสไป 2 ลูก เสีย 1 ลูก จากการเสิร์ฟทั้งหมด 17 ครั้ง คิดเป็นประสิทธิภาพ 5.88%
โฆษณา