2 มิ.ย. เวลา 05:30

รู้อะไรก็ไม่เท่า ‘รู้งี้…’ รับมืออย่างไรเมื่อความผิดพลาดเก่าๆ ยังหลอกหลอน

ความเสียใจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเรามักจะเจ็บปวดมากกว่าเดิมถ้าความเสียใจนั้นเกิดขึ้นเพราะ ‘การตัดสินใจ’ ที่ผิดพลาดของเราเอง
หลายครั้งที่เรื่องราวอันไม่คาดคิดพุ่งเข้าใส่ชีวิตของเราจนเสียหลัก แล้วเมื่อนึกย้อนกลับไปเรากลับพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการตัดสินใจของตัวเราในอดีต และหากวันนั้นเราไม่เลือกเดินทางนี้ก็คงไม่เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับทางเลือก เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าเมื่อตัดสินใจไปแล้วชีวิตจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน หรือต่อให้มีภาพเหตุการณ์ที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้อยู่ดีว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นจะจบลงแบบใด ไม่แน่ว่าพอเลือกทางเดินไปแล้ว กลับเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจจะเรื่องร้ายที่ทำให้เราเสียดาย แต่ก็ยังพอรับมือไหวก็ได้ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ทำให้เราเสียใจมากๆ ก็ได้
ใครหลายคนอาจจะใช้ชีวิตอยู่กับความเสียใจจากอดีตของตัวเองมานานหลายปี เช่น เสียใจกับการเลือกสายเรียนในอดีต ทำให้ต้องทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบ บางคนอาจจะเสียใจที่เลือกลงทุนไปกับธุรกิจอะไรสักอย่าง แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด หรือเสียใจกับการตกลงคบหากับใครสักคน แล้วมารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตรักที่ตัวเองตามหาหลังจากแต่งงานไปหลายปีแล้วก็ได้
โดยความรู้สึกเสียใจเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่เราอาจไม่รู้ตัวว่าความเสียใจที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัวเราเองในอดีตนั้นส่งผลร้ายแรงมากกว่าที่คิด และเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจเปลี่ยนเราให้กลายเป็น ‘คนที่วิตกกังวล’ กับการตัดสินใจไปเลยก็ได้
บทเรียนชีวิตทำให้สมองเลือกตัด ‘ความเสี่ยง’ เพื่อเลี่ยงความผิดหวัง
เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับคำถาม หรือมีทางเลือกให้ต้องตัดสินใจ เรามักจะใช้เวลากับมันมากเป็นพิเศษ ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกับเราเท่าไร เราก็ยิ่งจะใช้เวลาใคร่ครวญก่อนตัดสินใจมากขึ้นเท่านั้น เช่น ควรจะเลือกเรียนคณะอะไร? ควรจะสมัครงานในบริษัทไหน? ควรขอแต่งงานเลยดีไหม? หรือเย็นนี้เราจะกินอะไรดี?
บางครั้งการเลือกของเราก็อาจจะทำให้เราได้เจอกับคนดีๆ สถานที่ดีๆ หรือผลลัพธ์ที่ดีก็ได้ หรือจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีไม่ร้ายก็ได้ และยังเป็นไปได้ว่าผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง จนทำให้เกิดสภาวะ ‘Decision Anxiety’ ซึ่งเป็นบทเรียนที่แสนเจ็บปวดสำหรับสมองของเรา
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า Decision Anxiety เป็นสภาวะวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจในอดีต และส่งผลกระทบถึงความสามารถในการตัดสินใจในอนาคตด้วย เนื่องจากอะมิกดาลาเป็นสมองส่วนที่ไวต่อความรู้สึก เช่น ความกลัว ความเครียด หรือความเสียใจ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกเสียใจกับผลของการตัดสินใจ สมองส่วนนี้จึงตอบสนองและป้องกันตัวเองให้พ้นจากความเสียใจที่จะเกิดขึ้นในการตัดสินใจครั้งหน้ามากขึ้น
และเมื่อสมองของเราโฟกัสกับความผิดหวังจากการตัดสินใจของตัวเองในอดีตมากเกินไปจนถึงขั้นวิตกกังวล และพยายามหลักเลี่ยงการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยง หรือคลุมเครือเกินกว่าจะคาดเดาก็อาจจะทำให้ความคิดเชิงลบ (Doom Spiral) ครอบงำจิตใจและความคิดของเรา ทำให้เรากลัวผิดพลาดซ้ำๆ จนไม่กล้าเลือก ไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เราไม่สามารถพิจารณาทางเลือกต่างๆ ตามหลักตรรกะและไร้อคติได้
ดังนั้นคนที่กำลังเผชิญสภาวะวิตกกังวลเรื่องการตัดสินใจก็มักจะหลีกเลี่ยงตัวเลือกที่เสี่ยงเกินไป และอาจนำมาซึ่งการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบวกกับธรรมชาติของคนที่มักเลือกทางที่ตัวเองพอเดาผลลัพธ์ได้มากกว่าอยู่แล้ว ทำให้สมองยิ่งปิดใจให้กับตัวเลือกที่คลุมเครือที่เราไม่รู้ว่าหากเลือกเดินทางนั้นแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อ
แต่บางครั้ง…ยิ่งพลาด ก็ยิ่งมากประสบการณ์ อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมาตัดสินตัวเราในอนาคต
2
หลายครั้งที่บทเรียนชีวิต หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจในอดีตของเราเองสร้างบาดแผลในใจถึงขั้นจมปลักอยู่กับความเสียใจนั้นไปอีกนาน แต่การยึดติดกับเรื่องราวในอดีตก็อาจฉุดรั้งชีวิตของเรา จนไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้เช่นกัน
โดยสัญญาณของความวิตกกังวลในการตัดสินใจสังเกตได้จากทั้งเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตของเรา ถ้าเช้าวันหนึ่งเราเริ่มกังวลกับคำถามที่ว่า ‘จะแต่งตัวอย่างไรดี?’ นานเป็นชั่วโมง หรือตอบตัวเองไม่ได้สักทีว่าเราจะตอบรับ หรือปฏิเสธ หรือหาข้อสรุปขั้นต้นกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับคำถามที่เกี่ยวกับชีวิตของเราเอง นั่นแปลว่าเราเริ่มมีสัญญาณของสภาวะวิตกกังวลกับการตัดสินใจแล้ว
การเลือกทางชีวิตที่ไม่บุ่มบ่าม และไม่เสี่ยงอย่างนี้เป็นเหมือนดาบสองคม จะว่าดีก็ดี แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจทำให้เราไม่กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่กล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต และไม่กล้าหวังในเป้าหมายที่สูงและไกลตัวมากๆ ก็เป็นได้ แล้วเราจะป้องกันไม่ให้ตัวเองเสียใจกับการเลือกของตัวเองจนกลายเป็นคนที่วิตกกังวลกับการตัดสินใจได้อย่างไร?
[ ] รู้เท่าทันอารมณ์ และหาสาเหตุให้เจอว่า ‘ในวันนั้นเราตัดสินใจลงไปด้วยเหตุผลอะไร’
หลายครั้งที่ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ รวมถึงความคิดและประสบการณ์ของเราในตอนนั้นอาจจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด และเราเองก็ไตร่ตรองมาอย่างดีที่สุด ณ เวลานั้นแล้ว เพียงแต่อาจมีปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดความสูญเสียและสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้
[ ] จำกัดตัวเลือกให้แคบลง
แน่นอนว่าการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิตจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลประกอบอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม การมีตัวเลือกที่เยอะๆ เพื่ออุดพื้นที่ความกลัวของเราไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้นในบางสถานการณ์ที่เราพยายามหาตัวเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่ามากๆ เข้าก็ยิ่งทำให้เราตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ไม่บุ่มบ่าม มากกว่าตัวเลือกที่สมเหตุสมผลก็ได้
[ ] หาเหตุผลสนับสนุนจากคนรอบข้าง
บางครั้งเราก็มีคำตอบในใจอยู่แล้ว เพียงแต่ความกลัวไม่กล้าตัดสินใจทำให้เรายังหาข้อสรุปให้กับตัวเองไม่ได้ การฟังเหตุผลในมุมมองความคิดของคนรอบข้างก็ยิ่งทำให้เราสามารถพิจารณาตัวเลือกต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ และมีข้อมูลมาสนับสนุนทางเลือกของเรามากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ อย่าลืมไปว่าการใช้ชีวิตโดยโฟกัสกับปัจจุบันจะทำให้เรานึกเสียใจในอดีต และกังวลกับอนาคตได้น้อยลง เพราะแนวคิดที่ว่า ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ จะช่วยให้เราโฟกัสที่ความจริงในปัจจุบัน และตัดสินใจบนพื้นฐานสถานการณ์ ณ เวลานั้น
ถ้าเราสามารถใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยตัวเราในอนาคตก็จะไม่ผิดหวังกับการตัดสินใจของตัวเองในวันนี้ แล้วยังยอมรับความจริง และสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างภาคภูมิใจได้ ไม่ว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม
2
อ้างอิง
- Decision anxiety: how to make decisions when feeling anxious : Dr. Hannah Rose, Ness Labs - https://bit.ly/3Kv5W0R
#anxiety
#inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา