23 พ.ค. เวลา 10:51

“เราไม่ได้ทำงานเพื่อเอาความอดทนไปแลกเงิน”

ใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่อง ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน คงคุ้นเคยกันดีว่า ข้อความข้างบนนั้นคือเรื่องราวตอนหนึ่งในหนังสือขายดีเล่มนี้ เล่มที่มีหน้าปกแมวอ้วนนอนผึ่งพุงยิ้มกริ่มเหมือนบรรลุแล้วซึ่งสัจธรรมของโลกนั่นละ
เชื่อว่าคนทำงานหลายคนก็น่าจะสะดุดตากับบทนี้ เพราะบางทีนี่อาจจะเป็นคำตอบที่เรามองหามาแสนนานว่า ตกลงเราต้องอดทนไปอีกนานแค่ไหน อดทนแล้วได้อะไร นอกจากเงินเดือนที่เป็นปัจจัยสำคัญ​สูงสุดของคนจำนวนมาก แต่ถ้าเงินเดือนออก แล้วต้องพบจิตแพทย์เพื่อเยียวยาอาการเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งเดือนเพียงเพราะเชื่อในเรื่องความอดทน เราอาจจะต้องแวะมาทบทวนเรื่องความอดทนกันสักนิด เผื่อจิตจะแจ่มใสขึ้น
คุณซูซูกิ ยูซึเกะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่หยิบเรื่องราวของวัฒนธรรมการทำงานในญี่ปุ่นมาพูดอย่างตรงไปตรงมา และชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อบางอย่างมันทำร้าย-ทำลายตัวเองได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ
“ความอดทน” เป็นแค่ไพ่ใบเดียวในสำรับ และมันไม่ใช่ไพ่สารพัดประโยชน์ ที่ช่วยให้เราก้าวข้ามทุกอย่างในชีวิตไปได้…หนังสือเขาว่าอย่างนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น หรือกระทั่งในบ้านเรา ก็คือ เราใช้ความอดทนกันเกินความจำเป็น ในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องอดทน
คุณซูซูกิ ผู้เขียนบอกว่า ความอดทนเป็นเรื่องดี แต่มันควรเป็นความอดทนในระยะสั้น เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าในระยะยาว
เอาจริงๆ เรื่องพวกนี้ก็พูดยาก หลายคนมองว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในระยะยาว ในเมื่อแต่ละวันใช้ความอดทนจนแทบเกินขีดจำกัดของตัวเองไปหมดแล้ว ผลลัพธ์ในอนาคตคืออะไรไม่รู้ แต่ผลลัพธ์ของวันนี้คือ อาการไมเกรนกำเริบ ปวดท้อง ปวดหลัง ซึมเศร้า และอีกมากมาย
นอกจากอดทนกับปัญหาเรื่องงานแล้ว เรายังต้องมาอดทนกับปัญหาเรื่องคนอีก พูดง่ายๆ ว่า เหมือนเราต้องมาอดทนซึ่งกันและกัน ในนามของมารยาทในการทำงาน ในนามของหัวหน้าที่ต้องเมตตาและใจดีกับลูกน้องที่ทำผิดซ้ำซาก ในนามของลูกน้องที่ต้องอดทนกับหัวหน้าที่ไม่เคยเปิดใจและไม่ปรับตัว ในนามของงานที่เราเชื่อว่ามันน่าจะพาเราไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
ทำไมเราต้องบ่มเพาะความอดทนในสภาพการทำงานแบบนี้ มีใครได้อะไรจากเรื่องนี้ นอกจากจิตแพทย์ และหมอนวดคอบ่าไหล่ที่ต้องคอยรับมือกับอาการออฟฟิศซินโดรม อ้อ และที่ลืมเสียไม่ได้ก็คือ หมอดู ที่ต้องรับบทให้คำปรึกษาว่า ตกลงควรอดทนต่อไป หรือ ควรย้ายงาน ถ้าย้ายควรย้ายเมื่อไหร่ดีคะ ดาวย้ายแล้ว หนูยังไม่ย้ายงานเลยค่ะ
เราเชื่อว่า ในทุกๆ การทำงานที่ผ่านมาในชีวิต ปัจจัยเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อีกปัจจัยที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำและคุณค่าในตัวเอง ซึ่งนี่แหละ ที่คุณซูซูกิ เขาย้ำว่า ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องอดทนทำงาน ถ้าหากงานนั้นมันได้มอบคุณค่า ที่คุ้มค่าต่อการได้ทำ
จริงอยู่ว่า ไม่มีงานไหนในโลกที่ไม่มีคุณค่า ตราบใดที่ทุกคนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ถ้าทำงานแล้วไม่เห็นวี่แววว่าจะพัฒนาได้อีก ยิ่งอยู่ยิ่งแย่ ยิ่งทำยิ่งพลาด หรือรู้สึกอยู่บ่อยครั้งว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ แมวจรที่ตั้งใจเดินหาอาหารแถวร้านข้าวแกงข้างออฟฟิศ ยังดูมีจุดหมายมากกว่า
เมื่อนั้นเราก็จำเป็นต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังเหมือนกันนะว่า จะอดทนไปเพื่อ? และจะอดทนถึงกี่โมง?
“แกไม่ออก ฉันก็ไม่ออก อยู่ดูหน้ากันไปแบบนี้แหละ สะใจดี”
“ทนไปเถอะ สิ้นเดือนก็ไปกินหมูกระทะกัน”
เราจะเยียวยาตัวเองด้วยหมูกระทะตลอดไปไม่ได้นะสาว ชีวิตมันเศร้าเกินไป
เหมือนที่ข้อความในหน้า 126 ของหนังสือบอกว่า
“เงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทนจากการที่คุณใช้เวลา แรงงาน หรือทักษะความสามารถแลกกับ “คุณค่า” ที่คุณสร้างสินค้าหรือบริการขึ้นมา มันไม่เกี่ยวกับความเหนื่อยหรือความอดทนเลยสักนิด เราไม่ได้ทำงานเพื่อเอาความอดทนไปแลกเงิน”
ยิ่งถ้าต้องไปทำงานแบบที่ไม่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของงาน ไม่เห็นพัฒนาการของตัวเอง ไม่เห็นเส้นทางการเติบโตใดๆ เห็นก็แต่ภาพตัวเองเกษียณไปแบบงงๆ ท่ามกลางเสียงปรบมือเปาะแปะ ของพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยงอำลา เพื่อรอเวลากินอาหารและร้องคาราโอเกะ เรายิ่งต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะกว่าจะถึงวันที่เราเกษียณ เราอาจสูญเสียตัวตน คุณค่า สุขภาพกาย สุขภาพจิต ระหว่างทางไปแบบที่เรียกคืนมาไม่ได้
จะตื่นมาทำงาน หรือตื่นมาทำลายตัวเอง ก็คงต้องลองคิดดู
ในหนังสือยังบอกอีกด้วยว่า การที่เราอดทนจนถึงขั้น ‘ทรมาน’ กับสภาพแวดล้อมบางอย่าง เป็นเพราะว่า ถ้าเราไม่อยากอดทน เราก็ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับคนอื่น หรือไม่ก็ต้องหนีออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งเราไม่อยากทำ เพราะมันน่ากลัว สมองเราก็เลยปรับเปลี่ยนการรับรู้ว่า เรายังอดทนไหว เพราะการอดทน มันง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงคนอื่น หรือหนีออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม
อ่านกันมาถึงตรงนี้ คงมีแต่เราเท่านั้นที่รู้ว่า เรากำลังทำอะไรกับตัวตนของตัวเอง ในนามของการทำงาน
เพราะถ้าหนักหนาสาหัสจนถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าเราจะโดนงานเล่น หรือโดนเล่นงาน…หมูกระทะก็ไม่สามารถช่วยเราได้อีกต่อไป เพราะเราจะไม่เหลือแม้แต่วิญญาณที่จะลุกมากิน
#บทความ #NotetoSelfbyWA #วิไลรัตน์เอมเอี่ยม #เราไม่ได้ทำงานเพื่อเอาความอดทนไปแลกเงิน
โฆษณา