24 พ.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน “สงครามพิซซ่า” แบรนด์พร้อมแค่ไหน ก่อนออกอาวุธการตลาด

บทเรียนจาก "สงครามพิซซ่า" เมื่อแบรนด์งัดอาวุธหั่นราคาแข่งกัน
เกิดสงครามการตลาดเมื่อสองยักษ์ใหญ่วงการพิซซ่างัดโปรโมชันเด็ดมาแข่งกัน เริ่มจาก "เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" กับโปรโมชัน "วันเดย์ วันดีล" เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ลดราคาพิซซ่าถาดกลางเหลือ 99 บาท จากปกติ 299 บาท ทุกสาขาทั่วประเทศไทย
โปรโมชัน "วันเดย์ วันดีล" เดอะ พิซซ่า คอมปะนี
ด้าน "พิซซ่า ฮัท" ไม่น้อยหน้า ท้าชนด้วยโปรพิซซ่าถาดกลาง 98 บาท ทันทีในวันถัดมา ไม่แค่นั้นยังเกิดการข่มกันไปข่มกันมา หลัง พิซซ่า คอมปะนี ฟาดแรง “ถึงโปรจะลอกได้.....แต่ความอร่อยลอกไม่ได้จริงๆ”
โปรโมชันจาก พิซซ่า ฮัท
เมื่อเริ่มเป็นกระแส ทำเอาบรรดาร้านต่าง ๆ มาร่วมวงแจมด้วย ทั้ง SizzlerThai, 7-Eleven Thailand, Burger King Thailand, Bar B Q Plaza Swensen's, KFC และเนื้อแท้
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การตลาดครั้งนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหลังจากที่พิซซ่าทั้งสองอัดโปรเด็ด ก็มีเสียงสะท้อนจากลูกค้าบางรายที่ให้ความเห็นเรื่องรอคิวนานบ้าง สินค้ามีไม่พอบ้าง จึงเกิดการตั้งคำถามถึงความพร้อมของแบรนด์ก่อนออกอาวุธการตลาด ซึ่งทั้งสองพิซซ่าไม่รอช้า ร่อนจดหมายน้อมรับทุกความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุง
แถลงการณ์จาก เดอะ พิซซ่า คอมปะนี
เรื่องนี้มีความเห็นจาก ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิเคราะห์กลยุทธ์การทำ sales promotion ด้วยการหั่นราคา ว่าเป็นอาวุธหนึ่งที่ช่วยเร่งพฤติกรรมการซื้อ และสร้าง awareness ได้ แต่การใช้อาวุธนี้ต้องระวัง
สิ่งที่ต้องระวังในมุมของผู้บริโภคที่พบกับประสบการณ์ไม่ดีกับกระแสในครั้งนี้ คือ ระวังลูกค้าจะผิดหวังกับแบรนด์ จากที่เคยชอบอาจจะกลายเป็นไม่ชอบไปเลย
กลยุทธ์การหั่นราคาถือเป็นสีสันทางการตลาด เป็นการคืนกำไรให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเร่งพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ใช้ราคาทำให้การตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องระวังคือการเตรียมความพร้อมของระบบหลังบ้าน เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเล่นกลยุทธ์ราคาจะต้องมีการแห่แหนของลูกค้าที่อยากเข้าไปร่วมโปรโมชัน ทำให้เกิด overfull demand การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูกค้า
แถลงการณ์จาก พิซซ่า ฮัท
ผศ.เสริมยศ ยังบอกว่า การจัดโปรโมชันครั้งนี้ ความสำเร็จที่แบรนด์ได้แน่ ๆ คือการสร้าง awareness ส่วนประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับหลังเข้าร่วมโปรโมชันมีทั้งกลุ่มคนที่สมหวังและไม่สมหวังจากการสั่งครั้งนี้ ดังนั้น กระแสที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งทางบวกและทางลบ
ฟีดแบ็กจากการงัดอาวุธเด็ดด้วยโปรโมชันหั่นราคาครั้งนี้จะคุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไปหรือไม่แบรนด์รู้ที่สุด
จากปรากฏการณ์นี้ ผศ.เสริมยศ ทิ้งท้ายว่าในเชิงการสร้างแบรนด์ไม่ควรใช้กลยุทธ์ลดราคาบ่อย ๆ เพราะจะทำให้แบรนด์เกิดภาพจำ ลูกค้าจะรอซื้อในช่วงโปรโมชัน ดังนั้นกลยุทธ์การลดราคา ทำได้ เป็นสีสันการตลาดช่วงสั้น ๆ แต่อย่าใช้บ่อย ที่สำคัญคือต้องเตรียมตั้งรับให้ดี มี scenario พร้อมทุกสถานการณ์ และต้องรู้กำลังการผลิตของตัวเอง
หากประเมินความพร้อมของตัวเองแล้วรู้ดีว่ารับ demand ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดไม่ไหว จะยอมแลกหรือไม่เพื่อสร้าง awareness อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละแบรนด์
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา