24 พ.ค. 2024 เวลา 04:36 • ประวัติศาสตร์
ดานัง

เจาะลึก !!!! จุดเริ่มต้นในการใช้โดรนในสนามรบ สงครามเวียดนาม

ชวนเพื่อน ๆ ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของ นวัตรกรรมโดรน
ปัจจุบัน UAV ถูกใช้ในกองทัพจนเป็นเรื่องปกติ โดรนสามารถบินอัตโนมัติโดยการบังคับจากระยะไกล และสามารถบินต่อเนื่องได้นานเป็นสัปดาห์ หรือจะให้มันเดินทางรอบโลกยังได้ แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐริเริ่มนำโดรน(หรือชื่อเดิม RPV: Remote Piloted Vehicle) มาใช้ในการนับเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่มาก
จุดเริ่มต้นของโปรแกรมโดรนลาดตระเวน ของ ทอ.สหรัฐอย่างจริงจัง ตั้งไข่ในช่วงกลางของของสงครามเย็นเพื่อสอดแนมประเทศจีน ในการแบ่งเบาภาระ เครื่องบินลาดตระเวณระยะไกล U-2 โดยโดรนได้ทำการบินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้อมูลในการปกป้องไต้หวัน ทางฝ่ายจีนก็พยายามสกัดกั้นเช่นกัน และประสบความสำเร็จในการยิงโดรนของสหรัฐตกลำแรกใน วันที่ 15 พย. 1964
ในช่วง 1 ปี จีนประสบความสำเร็จในการทำลายโดรนไปทั้งหมด 5 ลำในกลางเดือน เมย. 1965 ทางการจีน ได้นำซากของโดรน 3 ลำไปแสดงต่อสาธารณะ มีการรายงานโดยละเอียดยกย่องว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ของจีนในการยิงเครื่องบินลาดตระเวนของจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ ตก
ต่อมากองทัพสหรัฐ ริเริ่มโปรแกรมโดรนลาดตระเวน "หิ่งห้อย(Lightning Bug)" ในสงครามเวียดนามต่อเนื่อง มาจากภารกิจโดรนลาดตระเวณในประเทศจีนในช่วงก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วย ทอ. และ ทร. ในการลาดตระเวนตรวจดูแนวรบของเวียดนามและจุดที่ตั้งของมิสไซต์ SAM ในพื้นที่ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนักบิน
Strategic Air Command (SAC) เป็นผู้รับผิดชอบการย้ายทีมกองบินลาดตระเวนโดรน ไปยังเวียดนามเหนือ โดยเริ่มตั้งศูนย์โดรนในในเวียดนามใต้ ช่วงต้นเดือนตุลาคม 1964 ผู้ควบคุมประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศ เบียนฮวา เครื่องควบคุมอยู่บน Monkey Mountain ส่วนทีมเจ้าหน้าที่สนับสนุนตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศ ดานัง (Da Nang) ทั้ง 3 จุดอยู่ในเวียดนามใต้ แต่ห่างไกลกันคนละที่ เหมือนในปัจจุบันเป๊ะ
ภารกิจครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตค. 1964 เป็นโดรนรุ่น 147B โดยในปีแรกมีเที่ยวบินโดรนลาดตระเวนทั้งหมด 20 เที่ยวบิน เมื่อทำการประเมินผลพบว่า ระบบการลาดตระเวณด้วยโดรนมีประสิทธิภาพเกินความคาดหมาย แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีนำทางที่ไม่ทันสมัยมากนักก็ตาม
ต่อมาโครงการโดรนในกองทัพสหรัฐเติบโตก้าวกระโดดจากการเพิ่มงบประมาณเนื่องจากในเดือนเมย. 1969 เครื่องบิน Lockheed EC-121 Super Constellation ถูกยิงตกในน่านฟ้าสากลโดยเครื่องบินรบ Mig-21 ของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้ลูกเรือทั้งหมด 31 คนบนเครื่องบินลำดังกล่าวเสียชีวิต เหตุการณ์นี้นำไปสู่การพิจารณาใช้
โดรนไร้คนขับเพื่อปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด
ตัว Top ของโดรนลาดตระเวณทางอากาศคือ Model 147J ที่เคลื่อนที่เร็ว ในเพดานบินต่ำ ทำให้พวกมันตกเป็นเป้าหมายที่ยากลำบากในการเล็งยิง และเพิ่มโอกาสที่จะได้กลับมาจากการทำภารกิจ จากนั้นกองทัพอากาศสหรัฐได้คิดค้นวิธีการ ช่วยเก็บโดรนคืนมาใช้งานในรอบใหม่ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky CH-3E ที่ยึดร่มชูชีพกลางอากาศแล้วดึงเข้าไป โดยเทคนิคการดึงคืนกลางอากาศนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ ในที่สุดสามารถดึงโดรนกลับมาได้สำเร็จ 2,655 ครั้งจากความพยายาม 2,745 ครั้ง
หลายครั้งโดรนเป็นหนึ่งในทางเลือกในการเก็บข้อมูลจากการลาดตระเวณ
เช่นในปฏิบัติการไอวอรีโคสต์ ภารกิจที่จะส่งหน่วยรบพิเศษไปที่ค่ายเชลยศึกใกล้เมืองเซินเตย(Son Tay)ในเวียดนามเหนือ ตามแผนการในวันที่ 21 พย. 1970 ในการบินลาดตระเวณเพื่อตรวจสอบว่าเชลยศึกอเมริกันถูกคุมขังอยู่ที่นั่นหรือไม่ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ(CIA.) มีทางเลือกระหว่างการบินด้วยโดรนเหนือค่าย หรือด้วยเครื่องบินสอดแนม Lockheed SR-71 Blackbird ในระยะที่สูงมาก ๆ และฝ่ายเสธ ฯ เลือกใช้ SR-71 เนื่องจากเห็นว่าการบินเหนือค่ายด้วยโดรนอาจทำให้ศัตรูสงสัย และย้ายเชลยออกไป
โปรแกรมโดรนลาดตระเวนในสงครามเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างสูง อย่างไรก็ตาม Program Lightning Bugs ก็ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อสงครามได้ การลาดตระเวณด้วยโดรนในหลาย ๆ ครั้งตลอดสงครามช่วยแจ้งเตือนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเวียดนามเหนือกำลังจะเข้าโจมตี แต่ในแง่ยุทธศาสตร์ ผู้นำสหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะยุติ "สงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด" นี้ และไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นความเหนือกว่าทางยุทธการได้ และเมื่อสังคมอเมริกันไม่เอาด้วย งานก็ถึงทางตัน
ในที่สุดสหรัฐฯ แทบไม่สามารถหยุดยั้ง ความพ่ายแพ้ของเวียดนามใต้ได้เลย
โปรแกรม Lightning Bug สิ้นสุดลงเมื่อเวียดนามเหนือเริ่มการรุกครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 1975 ไซง่อนล่มสลายและสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ภารกิจการบินด้วยโดรนครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ไซง่อนแตก 30 เมย. 1975 เป็นภารกิจการลาดตระเวณระดับต่ำของโดรน Model 147S AQM-34R และ ทีม Combat Dawn เพื่อเฝ้าดูการอพยพของรัฐบาลสหรัฐ เวียดนามใต้ และผู้อพยพ
ศูนย์โดรนในในเวียดนามใต้ทั้ง 3 ทีมย้ายกลับมาอยู่ที่อุบลและยังคงดำเนินงานต่อไปจนถึงเดือนมิย. 1975 จากนั้นโดรนที่รอดชีวิตส่วนใหญ่จากสงคราม ก็ถูกเก็บเข้าคลังสะสมไว้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาในขั้นที่สูงกว่า ต่อไป(น่าสงสารที่บางส่วน ถูกทาสีส้ม ๆ ไปทำภารกิจ Q-Drone หรือเป้าบินนั่นเอง)
*** Ref *** Drone War Vietnam By David Axe
Air Force UAVs the Secret History ADA526045
Lightning Bugs in combat, 1964-1965
#การพูดถึงประวัติศาสตร์แบบให้คุณค่าแก่ผู้อ่าน
โฆษณา