24 พ.ค. เวลา 04:59 • ปรัชญา
ถนนนิมมานเหมินท์

ชาวพุทธต่างนิกายต้องไม่ยกตนข่มกัน ไม่ยกคำสอนมาเกทับกัน และควรสนับสนุนซึ่งกันและกัน

หลักการของศาสนาพุทธทุกนิกาย อาจฟังดูผิวเผินแล้วแตกต่างกันมากมาย เช่น วัชระยาน เชื่อเรื่องการโยนตัวตนให้เข้าสู่สภาพการณ์อันเร่งเร้า ที่กระตุ้นให้จิตเกิดปฏิกิริยาตอบสนองรุนแรง เช่น เพ่งพระพุทธรูปปางแปลกๆ เพ่งเทพธรรมบาลปางพิสดาร สวดภาวนามนตร์ปลุกเร้าสภาวารมณ์ เพื่อให้จิตเข้าสู่การบรรลุดวงตาเห็นธัมม์ ได้เรียนรู้ตัวตนจนปลดปลงใจ ไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมกาย หรือ นิพพาน นั่นเอง
ส่วน มหายาน จะเชื่อเรื่องการสร้างบารมีต่างๆ โดยเน้นความมีเมตตาอันยิ่งใหญ่ในการนำพาเพื่อนพ้องร่วมสังสารวัฏให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จนได้โพธิญาณไปเจริญภาวนามัยต่อ-อยู่ในแดนสุขาวดีพุทธเกษตรพิภพ เพื่อรอวันจุติไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมกาย หรือ นิพพาน นั่นเอง
ในเถรวาทนั้น จะชัดเจนด้วยหลักการที่ว่าด้วยการสั่งสมสุตะ เรียนรู้ปฏิจจะสมุปบาท เจริญอานาปานะสติจากภายในตนเอง จนเข้าถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค เพื่อดับสิ้นซึ่งกิเลส-นานัปการ สู่สภาวะจิตหลุดพ้น และสามารถบรรลุในธรรมได้ จนสามารถเสวยวิมุตติสุขได้เลยขณะยังมีชีวิต และเมื่อสิ้นชีวิตก็สามารถหลุดพ้นไปยังนิพพานได้เช่นกัน
สามทัศนะนี้คือหลักการคร่าวๆของนิกายทั้งสามในพระพุทธศาสนา (ขอไม่ลงรายละเอียดลึกเกินไปเพื่อความไม่สับสนมากของท่านผู้อ่าน หากอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธสามนิกายนี้ ให้สืบค้นได้ตามเว็บไซด์ธรรมะทั่วไป) จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสามนิกาย มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป และมีการนิยามคำจำกัดความสภาวะต่างๆ คล้ายกันบ้าง เหมือนกันบ้าง และต่างกันบ้าง แต่ก็มีเป้าหมายสูงสุดเหมือนกันเปี๊ยบคือ นิพพาน
พระพุทธศาสนาโดยองค์รวมแล้วไม่ว่าจะนิกายใด นับถือพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆอีกมากมายหลายพระองค์แค่ไหน แต่โดยสรุปแล้ว พระพุทธองค์ที่ชื่อพระศากยมุนีโคดมมหาพุทธเจ้าของเรา-ทรงสอนเฉพาะเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น และให้ความสำคัญกับธรรมชาติสูงสุดที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน ดังนั้น คำสอนของมหายาน และวัชระยาน จึงมีช่องทางที่สื่อถึงปัจจุบันธรรม หรือธรรมชาติสูงสุดที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันอยู่เสมอ
ดังเช่นในสูตรของท่านเว่ยหล่าง เจ้านิกายพุทธแบบเซ็น กล่าวว่า "ผู้ที่รู้แจ้งแทงตลอดถึงจิตเดิมแท้ของตน จัดว่าอยู่ในสถานะเดียวกับพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ส่วนผู้มีเมตตากรุณามุทิตา จัดเป็นพระอวโลกิเตศวร-กวนอิม-พระองค์หนึ่ง ส่วนผู้ที่เจริญใจในการหมั่นทำทาน จัดเป็นพระมหาสถามะปราบดาโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง และ ผู้ที่สามารถทำให้ชีวิตจิตใจมีแต่ความบริสุทธิ์ คือพระโคดมของเรา นอกจากนี้ ผู้มีความสม่ำเสมอในการแสดงธรรมอยู่ตลอดกาล ก็คือพระพุทธเจ้าที่มีสถานะเป็นเทวาธิราช เฉกเช่น องค์พระยูไล-อามิตาภะพุทธเจ้านั่นเอง"
ข้อความเบื้องต้น เป็นตัวอย่างอันเลิศในการ-ขมวด-และคลายความสงสัย-ของพุทธศาสนิกชนทุกๆนิกายได้อย่างดีเยี่ยม ทำลายวิจิกิจฉา และทำลายความปรามาสซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดพรหมวิหารธรรม และโยนิโสมนัสสิการ ไม่มีมานะธรรมทั้งเก้าประการ หมดสิ้นซึ่งการมองว่าเราด้วยกว่าเขา เราเหนือกว่าเขา มีแต่ความเท่าเทียมกันโดยปรกติธรรมดา ไม่ได้เป็นความเท่าเทียมกันโดยปรุงแต่งอุปโลกน์ขึ้นเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ความรับรู้ว่าตัวตนและวัตถุธาตุนั้นล้วนไม่มีอะไรเป็นของเรา (อนัตตา) และทุกสิ่งทุกอย่างรอวันดับ และกลับไปสู่สภาพธรรมแท้จริงที่เรียกว่า "ความไม่มี" (สุญญะตา)
ซ้าย คือ #ธยานิพุทธเจ้าห้าพระองค์ กลาง คือ #พระธรรมกาย และ ขวา คือ #อัครโพธิสัตว์ทั้งห้าพระองค์ ในศาสนาพุทธแบบวัชรยานและมหายาน
คำธัมม์ของท่านเว่ยหล่างทำให้เราสามารถเอาสัญลักษณ์ที่เป็นบุคคล มาสู่ความเข้าถึงธรรมชาติระดับสูง อย่างความเป็นปัจจุบันได้ ทำให้สาธุชนชาวพุทธได้แจ้งใจว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัว สามารถนำมาประยุกต์ปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และให้ผลสู่การดับความรุ่มร้อนใจ (ดับทุกข์) ได้จริงๆ
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสามารถมองได้หลากมิติ หลายมุม และทุกๆมุม ทุกๆมิติของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะนิกายใดก็ตาม ย่อมเหมาะกับจริตและความแตกต่างกันไปของผู้คนนานาประเภทบนโลกใบนี้ เปรียบได้กับการเดินทางไปงานคอนเสิร์ต บางคนขี่มอเตอร์ไซค์ไป บางคนนั่งรถไฟไป บางคนนั่งรถตู้ บางคนขับรถเก๋ง บางคนนั่งรถตุ๊กๆ บางคนนั่งแท๊กซี่ บางคนไปด้วยรถกระบะ บางคนไปทางเรือหางยาว แต่สุดท้ายก็ถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันคืองานคอนเสิร์ตนั่นเอง!
#อานาปานสติ #มหายาน #วัชรยาน #เถรวาท #พุทธแท้สามารถจับมือกันไปได้ #พุทธวจนะ #ศาสนาพุทธ #นิกาย
โฆษณา