27 พ.ค. 2024 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

ย้อนรอย “คอนแท็กต์เลนส์” นวัตกรรมคู่สายตา ที่มีต้นกำเนิดจากไอเดียของ ดา วินชี

“คอนแท็กต์เลนส์” พลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่ทำให้คนมีปัญหาทางสายตาสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพกแว่น
แม้ว่าคอนแท็กต์เลนส์อาจดูเป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ทันสมัยเมื่อเทียบกับแว่นตา
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว แนวคิดของคอนแท็กต์เลนส์ เกิดมาแล้วนับ 500 ปี
โดยมนุษย์คนแรกที่มีไอเดียเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ ที่ใกล้เคียงกับคอนเซปต์ของคอนแท็กต์เลนส์ในปัจจุบัน ก็คือ Leonardo da Vinci ชายผู้วาดภาพ Mona Lisa นั่นเอง
แล้วเรื่องราวของคอนแท็กต์เลนส์ มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปใน ปี ค.ศ. 1508
ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทย ยุคนั้นก็คือสมัยอยุธยา
ในซีกโลกตะวันตก ได้ปรากฏภาพสเกตช์ของดา วินชี เป็นภาพคนจุ่มใบหน้าลงไปในถ้วยน้ำ ซึ่งเป็นการเสนอไอเดียว่า การมองผ่านก้นถ้วยใสที่เต็มไปด้วยน้ำจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้น
แม้จะเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้จริง แต่นั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์คอนแท็กต์เลนส์ ที่ทุกคนจะได้อ่านกันต่อไป
แต่ก่อนอื่น ต้องขอตอบคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วแว่นตามีมาตั้งแต่เมื่อไร ?
เพราะก่อนหน้าที่จะมีคอนแท็กต์เลนส์
แว่นสายตาคู่แรกบนโลก ถูกสร้างขึ้นในอิตาลี ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1268-1300
ซึ่งไม่ได้มีหน้าตาเหมือนแว่นตาที่เราใช้กันในทุกวันนี้ แต่จะเป็นเลนส์ขยายสองชิ้นที่เชื่อมกัน สำหรับวางไว้บนจมูกแบบไม่มีขาแว่นเกี่ยวที่หู
ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าในอดีตมีการใช้แว่นตาก็คือ ภาพวาดสมัยเรอแนซ็องส์ตอนต้น ที่ปรากฏภาพนักบวชสวมใส่แว่นตาแบบหนีบจมูกดังกล่าว
กลับมาต่อกันที่การเดินทางของคอนแท็กต์เลนส์
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า René Descartes ได้นำคอนเซปต์ของดา วินชี มาต่อยอด
โดยการใส่น้ำลงไปในหลอดแก้วแทนการใช้ถ้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกับการทดลองของดา วินชี
แน่นอนว่าอุปกรณ์นี้ก็ยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล เพราะผู้สวมใส่จะไม่สามารถกะพริบตาได้เลยขณะสวมใส่ อีกทั้งยังต้องใช้มือช่วยจับหลอดแก้วไว้ตลอดเวลา
แต่โชคดีที่การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะในเวลาต่อมา ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 Thomas Young นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ก็ได้นำไอเดียของ Descartes มาใช้ในการพัฒนาเลนส์
ด้วยการลดความยาวหลอดแก้วให้สั้นลง และใช้ขี้ผึ้งติดเข้ากับตาและกันน้ำไม่ให้รั่วออกมา แต่ทุกคนลองนึกภาพว่าต้องลืมตาในน้ำตลอดเวลา มันจะทุลักทุเลขนาดไหน
ตามมาด้วยนักวิทยาศาสตร์คนต่อมาที่ชื่อว่า John Herschel มีเสนอไอเดียการทำแม่พิมพ์ที่พอดีกับรูปตา พร้อมใช้เจลเป็นตัวเชื่อมระหว่างคอนแท็กต์เลนส์กับดวงตา
ซึ่งไอเดียของเขาก็ใกล้เคียงกับคอนแท็กต์เลนส์แบบที่เราใช้ในปัจจุบัน และเป็นรากฐานของการพัฒนาคอนแท็กต์เลนส์ในยุคต่อมา ที่ทำจากแก้วขึ้นมาเป็นครั้งแรก และใส่ครอบทั้งตาขาวและตาดำ
อย่างไรก็ตาม คอนแท็กต์เลนส์เวอร์ชันนี้ยังคงติดปัญหาตรงที่เมื่อใส่แล้วยังรู้สึกหนักตาและทำให้ตาแห้ง ขณะเดียวกันออกซิเจนก็ผ่านเข้ากระจกตาไม่ได้ ทำให้เป็นอันตรายกับดวงตาอีกด้วย
จนกระทั่ง เข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มเห็นแสงสว่างของการพัฒนาคอนแท็กต์เลนส์
1
โดย William Feinbloom จักษุแพทย์ชาวอเมริกันได้พัฒนาคอนแท็กต์เลนส์ที่ทำมาจากแก้วและพลาสติก ซึ่งส่วนที่เป็นแก้วจะอยู่บริเวณกระจกตา และส่วนที่เป็นพลาสติกจะอยู่ตรงตาขาว
อีกทั้งยังเป็นเลนส์ที่มีน้ำหนักเบาและออกซิเจนซึมผ่านได้มากกว่าคอนแท็กต์เลนส์ยุคก่อนหน้า รวมถึงใส่สบายกว่า เนื่องจากว่าวัสดุที่เป็นพลาสติกนั้นเป็นมิตรกับดวงตามากกว่าวัสดุแก้ว
จากนั้นก็มีผู้พัฒนาเลนส์ให้มีขนาดเล็กลงและพอดีกับกระจกตา ซึ่งทำจากพลาสติก Polymethyl Methacrylate (PMMA) ที่ให้ออกซิเจนเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้น และใส่ได้นานขึ้นโดยไม่ระคายเคืองตา
ผลจากการพัฒนาคอนแท็กต์เลนส์ที่เป็นมิตรกับดวงตามากขึ้น ก็ทำให้คอนแท็กต์เลนส์ได้รับความนิยมมากกว่าเดิม และนำไปสู่เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
จนมาถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่พลิกโฉมคอนแท็กต์เลนส์ นั่นก็คือการที่นักเคมีชาวเช็กที่ชื่อว่า Otto Wichterle ร่วมกับ Drahoslav Lím พัฒนาคอนแท็กต์เลนส์แบบนิ่มที่ทำจากวัสดุไฮโดรเจล มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้มากถึง 40% และมีความโปร่งใส สวมใส่สบายได้กว่าเดิม
ต่อมาในปี ค.ศ. 1971 บริษัท Bausch & Lomb ก็ได้ซื้อสิทธิบัตรการผลิตคอนแท็กต์เลนส์ด้วยวัสดุไฮโดรเจล แล้วนำมาวิจัยและพัฒนาต่อ เกิดเป็นคอนแท็กต์เลนส์แบบนิ่ม (SofLens) ออกจำหน่ายเจ้าแรกของโลก
ทั้งนี้ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ Bausch & Lomb ในฐานะหนึ่งในซัปพลายเออร์คอนแท็กต์เลนส์รายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งมีสินค้าเกี่ยวกับดวงตาวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในไทย
แต่รู้หรือไม่ว่า บริษัทแว่นและคอนแท็กต์เลนส์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก กลับไม่ใช่ Bausch & Lomb
แต่เป็น EssilorLuxottica บริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท Essilor ผู้ผลิตเลนส์แว่นตาชั้นนำระดับโลก และโซลูชันการแก้ไขปัญหาด้านสายตา จากประเทศฝรั่งเศส
กับบริษัท Luxottica ผู้ผลิตกรอบแว่นตาให้กับแบรนด์ดังอย่าง Ray-Ban, Oakley, Vogue, Prada, Burberry, Coach จากประเทศอิตาลี
โดยภายหลังการควบรวมกิจการในปี ค.ศ. 2018 ได้ทำให้ EssilorLuxottica มีสิทธิบัตรกว่า 11,000 ฉบับ ที่จะนำมาใช้พัฒนาสินค้าให้แตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดโลก
เพราะเป็นการรวมตัวของสองบริษัทที่เป็นสุดยอดในด้านการผลิตเลนส์ และผู้นำในด้านกรอบแว่นตา รวมถึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา “นวัตกรรมการมองเห็นที่เหนือความคาดหมาย”
จนปัจจุบัน EssilorLuxottica กลายมาเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดวงตา ที่มีมูลค่าบริษัทราว 3.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 20 เท่าของ Bausch & Lomb
ซึ่งเรื่องนี้ก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่า การจะประสบความสำเร็จไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าแรกในตลาดเสมอไป
แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าจะใช้โอกาสจากสิ่งที่มี ยกระดับให้ธุรกิจเบียดแซงคู่แข่ง จนขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้อย่างไร..
โฆษณา