25 พ.ค. เวลา 02:17 • หนังสือ

💡 ข้อคิดจากหนังสือ “Supercommunicators” วิธีการพูดคุยในช่องทางออนไลน์ที่ช่วยลดความขัดแย้ง

“When Talking Online, Remember To…” ⚠️
ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของคุณ Charles Duhigg ผู้เขียนหนังสือเล่มดังอย่าง “The Power of Habit” ครับ หนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อว่า “Supercommunicators” แค่ชื่อหนังสือก็เท่แล้วใช่มั้ยครับ 😄
3
ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบครับ แต่อ่านไปเจอหัวข้อหนึ่งที่อยากรีบมาแชร์เพื่อน ๆ ครับ ถือเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนรีวิวแบบจัดเต็มครับ
📌 ในหนังสือเค้าได้พูดถึงเรื่องของการพูดคุยหรือสื่อสารในช่องทางออนไลน์ครับ
ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าทุกวันนี้เราพูดคุยหรือสื่อสารกันในช่องทางออนไลน์กันมากจริง ๆ สำหรับหลายคนอาจจะมากยิ่งกว่าการพูดคุยกับคนอื่นแบบเจอหน้ากันเสียอีกครับ
ทุกวันนี้การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล์ การแชทพูดคุยถามตอบกันในแอพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะการพิมพ์ตอบข้อความแชทที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นควรต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะมันทำได้รวดเร็วโดยที่เราอาจจะไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน และที่สำคัญผู้รับสารนั้นไม่เห็นสีหน้าและความรู้สึกของเราที่ต้องการสื่อสาร
💡 ย้อนหลังกลับไปมนุษย์เรานั้นเริ่มต้นการสื่อสารกันด้วยการพูดคุย ต่อมาด้วยการเขียน แต่เราเพิ่งจะเริ่มหัดสื่อสารกันทางช่องทางออนไลน์เมื่อปี 1983 นี้เอง ถ้าเทียบกับการพูดคุยนั้น การสื่อสารออนไลน์นั้นเป็นเพียงแค่เด็กทารกที่เพิ่งเริ่มหัดพูดเท่านั้นเองครับ
ทำให้ในทุกวันนี้หากเราสังเกตดี ๆ เราจะพบว่า การสื่อสารออนไลน์นั้นก่อให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดและความขัดแย้งมากจริง ๆ ครับ ลองไปดูได้ในโลกโซเชี่ยลที่แค่มีคนมาคอมเม้นท์เรื่อง ๆ หนึ่งด้วยความเห็นที่แตกต่างไป หรือ เข้ามาคอมเม้นท์ด้วยอารมณ์ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ลุกลามไปใหญ่โตได้เลยครับ
ในหนังสือ Supercommunication ก็ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจที่หลายคนน่าจะได้นำไปใช้ในการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ไว้ดังนี้ครับ
1️⃣ Overemphasize politeness
 
ให้เราสุภาพให้มากกว่าปกติไว้ก่อนเลยครับ เนื่องจากเราไม่ได้พูดคุยกันต่อหน้า การที่เราสุภาพไว้ก่อนจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งได้ ให้พูดคำว่า ขอบคุณ ทุกครั้งเท่าที่เป็นไปได้ หรือ ขอร้องอย่างสุภาพในทุกเรื่องครับ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องมีคำว่า please กับ thanks ไว้ตลอดครับ
2️⃣ Underemphasize sarcasm
 
ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เหน็บแนมหรือเสียดสีครับ ในการที่เราพูดกันต่อหน้าคนอื่นจะรู้ว่าจริง ๆ เราคิดอย่างไรได้จากสีหน้าหรือน้ำเสียงครับ แต่การพิมพ์คุยกันนั้น อีกฝั่งอาจจะไม่เข้าใจเหมือนที่เราอยากจะสื่อก็เป็นได้ครับ การสื่อสารแบบไม่ตรงไม่ตรงมาจึงมีโอกาสทำให้เข้าใจผิดได้มาก
 
3️⃣ Express more gratitude, deference, greetings, apologies and hedges
ให้แสดงออกทางภาษาให้มากกว่าที่เราคุยกันต่อหน้า (ให้เว่อร์ไว้ก่อน) ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณ ความเคารพ การทักทาย หรือ การขอโทษให้มากกว่าปกติครับ ขอโทษไว้ล่วงหน้า (เช่น คุณคงไม่ว่าจะอะไรถ้าผมจะอนุญาต...)
4️⃣ Avoid criticism in public forums
 
หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือให้ความเห็นในเชิงลบในพื้นที่ออนไลน์สาธารณะ หรือ พวกกลุ่มออนไลน์หรือบอร์ดแสดงความเห็นออนไลน์ เพราะมีผลวิจัยว่าการให้ความเห็นในเชิงลบทางออนไลน์นั้นมีข้อเสียมากกว่าการให้ความเห็นด้านลบหรือการตำหนิแบบต่อหน้าหรือส่วนตัว
 
📍การสื่อสารออนไลน์นั้นทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก เพียงแค่เราพิมพ์และกดส่งข้อความ ๆ ก็ไปหาอีกฝ่ายแล้ว โดยหลายครั้งเรายังไม่ได้อ่านทบทวนข้อความที่เราจะส่งให้ดีก่อน
การสื่อสารในรูปแบบนี้นั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ดังนั้นเราจึงควรใช้ความระมัดระวังและคิดให้ดีก่อนที่เราจะส่งข้อความใด ๆ หาใครให้ดีว่า เราต้องการสื่อสารอะไร และวัตถุประสงค์ของการส่งข้อความนี้คืออะไร
คำแนะนำ 4 ข้อข้างต้นก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถลดความผิดพลาดในการสื่อสารได้ครับ แน่นอนครับว่าคำแนะนำข้างต้นนี่ก็สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารแบบต่อหน้าได้เช่นกันครับ 🙂
……………..
 
หากใครชอบเรื่องราวตัวอย่างของหนังสือ “Supercommunicators” ของ Charles Duhigg ก็สามารถหาซื้อมาอ่านได้ตามร้านหนังสือต่างประเทศได้เลยครับ เล่มนี้น่าจะยังไม่มีแปลภาษาไทยครับเนื่องจากเป็นหนังสือที่เพิ่งออกได้ไม่นาน เมื่อผมอ่านจบหมดแล้วจะมารีวิวเนื้อหาที่เหลือให้ได้อ่านกันอีกทีครับ
#BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
 
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์น่กอ่าน
โฆษณา